หน้าหลัก ชีวประวัติ หนังสือและเทป ฐานิโยธรรม วัดป่าสาลวัน บูรพาจารย์เจดีย์ ลิงค์เวบศาสนา เกี่ยวกับเวบไซต์นี้
สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน
ถาม : การปฏิบัติสมถกรรมฐาน จะทำให้หยุดอยู่แค่นี้ ไม่ไปสู่วิปัสสนาจริงหรือ
หลวงพ่อ : ถ้าหากผู้ปฏิบัตินั้นติดอยู่ในสมถะ ติดอยู่ในสุขของความเป็นสมถกรรมฐานนั้นแล้ว ไม่พยายามทำจิตให้ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐาน คือหมายความว่า ทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ พอจิตออกจากสมาธิ ปล่อยเลย ปล่อยโอกาส ไม่ตาม เรียกว่า ไม่ได้ติดตามผลงาน อย่างจิตสงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ พอจิตออกมาแล้วปล่อยพรู๊ด ๆ ออกมา แล้วก็เลิกทันที อันนี้ จิตจะไม่มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐาน แต่ถ้าพอจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิ หรือสมถกรรมฐาน ก็เกิดความคิด ตั้งสติกำหนดตามรู้ความคิดนั้น จิตจะก้าวสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้ โดยไม่ต้องยกเอา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาพิจารณา
โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ จิตจะรู้สึกว่ากายปรากฏ ในเมื่อกายปรากฏ จิตก็ย่อมรู้กายคือรูป ในเมื่อจิตรู้กายคือรูป จิตก็ย่อมรู้เวทนา เพราะเวทนาเกิดจากรูปคือกาย และจิตก็ย่อมจะรู้กาย เพราะความทรงจำต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวาร ๖ นั้น จิตย่อมจดจำเอาไว้ แล้วก็วิญญาณ เมื่อรู้สิ่งใดขึ้นมา ก็เกิดรู้ขึ้นมา เรียกว่า วิญญาณ เมื่อรู้แล้วคิดปรุงแต่งในสิ่งนั้น ๆ มันก็กลายเป็นตัวสังขาร เพราะฉะนั้น การกำหนดดูรูป นาม ที่คำว่ารูปดับ นามเกิด หมายถึงว่า ในขณะที่เรากำหนดรู้ รูป เวทนา สังขาร สัญญา วิญญาณ อยู่ เมื่อจิตยังไม่มีสมาธิที่ละเอียดแนบแน่น เรายังรู้สึกว่า กายยังปรากฏอยู่ ลมหายใจยังมีอยู่ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิละเอียดขึ้นไปแล้ว จิตจะปล่อยวางความมีรูปคือ กาย ในเมื่อปล่อยวางความมีรูปคือกาย รูปหายไป เวทนาหายไป สัญญาหายไป รูปดับ จิตไม่ได้พัวพันกับ รูป เวทนา สัญญา อารมณ์มันน้อยลง จิตจึงเด่นขึ้นมาเรียกว่า นามเกิด
ภายในจิตอันนั้น ในขั้นนี้ยังเหลือแต่ สังขาร วิญญาณ แล้วจิตก็จดจ่อในสิ่งที่รู้ละเอียดอยู่อย่างนั้น จิตในตอนนี้อยู่ในอัปปนาสมาธิ อยู่ในฌานเหมือนกัน บางท่านอาจจะเข้าใจผิดว่า จิตอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิ จิตนี้มันจะไม่รู้อะไรเลย ย่อมจะเข้าใจอย่างนั้น แต่ความจริงแล้ว สมถะในขั้นต้นนี้เป็นแต่เพียงปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ ไม่เป็นมหาสติ จึงไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้ นอกจากจะฝึกหัดน้อมนึก ปรับปรุงปฏิปทาเอาเอง จนกว่าจิตจะสามารถเดินตามลำพังของตัวเองได้ แต่ถ้าหากจิตผ่านการพิจารณามาอย่างช่ำชองแล้ว จิตย่อมสงบไปสู่อัปปนาสมาธิ ปรากฏว่าตัวหายไปหมดแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่รู้ปรากฏขึ้นมาอยู่ สิ่งที่รู้อันนี้จะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ได้ มันมีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่เท่านั้น อันนี้เป็นความรู้ในขั้นโลกุตตระ เรียกว่า อยู่เหนือโลก ความรู้ที่มีชื่อเรียกนี้เรียกว่า ขั้นโลกีย์ ความรู้ที่ไม่มีชื่อเรียก ไม่มีสมมติบัญญัติ เป็นความรู้ที่อยู่ในขั้นโลกุตตระ ย่อมไม่มีสมมติบัญญัติ เป็นสัจจธรรม
ในเมื่อทำสมถะชำนิชำนาญแล้ว การต่อวิปัสสนากรรมฐานนี้ การต่อวิธีง่าย ๆ ในเมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ เกิดความคิดแล้ว ตามรู้ความคิดนี้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อย่างนั้น ก่อนที่จะทำความสงบให้เป็นสมถะ ให้พิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในแง่แห่งพระไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยความคิดเอา ๆ ตามที่เราจำได้มา แล้วต่อไปก็ ในขณะที่ค้นคิดพิจารณาอยู่อย่างนั้น จิตอาจจะสงบ ก็ปล่อยให้จิตสงบไป ในเมื่อจิตสงบไป ถ้าหากจิตพอมีกำลังที่จะปฏิวัติตัวไปสู่ภูมิความรู้ขั้นวิปัสสนาลงไปได้ จิตจะดำเนินความรู้ไปเอง คือมีความรู้ผุดขึ้นมา ๆ เอง อันนี้ขอให้คำตอบเพียงเท่านี้

ถาม : เดินจงกรมภาวนาว่า "พุทโธ" บางอาจารย์ว่าเป็นสมถะ
หลวงพ่อ : ไม่จำเป็น นอกจากเราจะทำเป็นพิธีการเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

ถาม : ถ้าเรานอนสมาธิก่อนจะหลับ โดยทำให้เราหลับง่ายเข้า ถือเป็นสมาธิ หรือไม่
หลวงพ่อ : ถือเป็นสมาธิเหมือนกัน อันนี้ดีที่สุด ถ้าฝึกทำสมาธิเวลานอน ถ้านอนหลับลงไปแล้ว จิตเกิดเป็นสมาธิเวลานอน สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตจะดีมากขึ้น

ถาม : ขณะนั่งสมาธิ มีภาพเหตุการณ์เกิดขึ้น จะทราบได้อย่างไร ว่าสิ่งนั้น ภาพนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือนึกคิดขึ้นเอง เช่น ครั้งหนึ่ง ขณะนั่งสมาธิ มีคนรู้จักที่ตายไปแล้วมาปรากฏ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนึกถึงเขามาก่อน อยากทราบว่า ภาพนี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้าจริง เกิดขึ้นได้อย่างไร
หลวงพ่อ : ภาพนี้เป็นทั้งจริง และไม่จริง ถ้าหากว่านิมิตนั้น ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง ก็เป็นเรื่องความจริง แต่ถ้านิมิตมันเกิดขึ้นแล้วไม่จริง ก็ไม่จริง อันนี้สุดแท้แต่จิตของเราจะปรุงเป็นมโนภาพขึ้นมา ถ้าหากว่า จิตของเรามีความมั่นคงเพียงพอ มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ นิมิตที่เกิดขึ้นนั้น มันก็เป็นความจริง แต่ส่วนมากภาพนิมิตในขั้นต้น ๆ นี้ มันจะเกิดขึ้นในระยะที่เราบริกรรมภาวนา แล้วรู้สึกว่าจิตมันเคลิ้ม ๆ เกิดสว่าง จิตมันลอยเคว้งคว้าง สติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอกแล้วก็เกิดภาพนิมิตต่าง ๆ ขึ้นมา อันนี้ให้ทำความเข้าใจว่า เป็นมโนภาพเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งสำคัญมั่นหมายว่าเป็นความจริง ถือว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง เราอาจจะกำหนดรู้ภาพนิมิตอันนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ แล้วภาพนิมิตนั้นอาจจะแสดงให้เรารู้ในแง่กรรมฐาน ได้แก่อสุภกรรมฐาน เป็นต้น ก็ได้

ถาม : การปฏิบัติที่ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ จะใช้พร้อมกับการเพ่งกสิณ เช่น สีเขียว เป็นต้น ได้หรือไม่
หลวงพ่อ : อันนี้แล้วแต่ความถนัด หรือความคล่องตัวของท่านผู้ใด การภาวนาเป็นการนึกถึงคำพูดคำหนึ่ง คือ พุทโธ แต่การมองสีเขียว เพ่งสีเขียวเป็นเรื่องของตา เป็นเรื่องของสายตา จะใช้พร้อมกันกับ พุทโธ ๆ ไปด้วยก็ได้ ไม่ขัดข้อง แต่ว่าถ้าจะภาวนาพุทโธแล้ว ลมหายใจควรจะคู่กับ
พุทโธ เป็นเหมาะที่สุด เพราะว่าเมื่อภาวนา พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออก โดยปกตินักภาวนาเมื่อจิตสงบลงไปบ้างแล้ว คำภาวนาจะหายไป เมื่อคำภาวนาหายไปแล้ว จิตจะไปยึดลมหายใจเป็นเครื่องรู้ จะได้ตามลมเข้าไปสู่ความสงบอย่างละเอียดนิ่ง จนถึงอัปปนาสมาธิ จะใช้ลมหายใจพร้อมกับนึกกำหนดอานาปานุสสติ ก็ได้ ลมปราณ คือ ลมหายใจ อานาปานุสสติ ก็คือ ลมหายใจ เป็นอันเดียวกัน

ถาม : เมื่อจิตติดอยู่ปีติ และความสุข มีอยู่บ่อย ๆ ครั้ง จนไม่อยากจะถอน ออกจากสมาธิ จะมีอุบายแก้ไข ได้อย่างไร
หลวงพ่อ : ในขั้นนี้ ยังไม่ต้องการอยากจะให้ใช้อุบายแก้ไข เพราะจิตที่มีปีติและความสุข ตามที่ท่านว่านี้ ยังไม่มั่นคงเพียงพอ ให้พยายามฝึกให้มีปีติ มีความสุข ให้มันอยู่ในขั้นที่เรียกว่า ได้ฌานสมาบัติ อันนี้เป็นความรู้สึกสัมผัสเพียงนิดหน่อย อยากจะเปลี่ยนอะไรทำนองนี้ ดำเนินให้จิตมีความสงบ มีปีติมีความสุขบ่อย ๆ เข้า มันจะได้เกิดมีความชำนาญในการเข้าออกสมาธิ แล้วถ้าจะอยากให้จิตมีสภาพเปลี่ยนแปลง ให้คอยจ้องเวลาจิตถอนออกจากสมาธิ ในเมื่อหมดปีติ หมดความสุขในสมาธิแล้ว เกิดความคิดขึ้นมา ทำสติตามรู้ความคิดนั้น หรือจะหาอะไรมาพิจารณาก็ได้ เพื่อเป็นการฝึกจิตให้รู้จักการพิจารณา

ถาม : เวลานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม จะลงสู่ความสงบแล้วมีนิมิตเสียงดังมาก เช่น ดังเปรี้ยง เหมือนฟ้าผ่า หรือเสียงก้องมา แต่ก็มีสติรู้ ไม่ตกใจ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกจะปฏิบัติอย่างไร
หลวงพ่อ : ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ขอให้ถือว่าสิ่งนั้นคือเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ จะเป็นสี แสง เสียง หรือรูปนิมิตอะไรต่าง ๆ ก็ตาม ให้ถือว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ประคองจิตทำสติไว้ให้ดี แล้วผลดีจะเกิดขึ้น อย่าไปตกใจ หรือไปแปลกใจกับสิ่งเหล่านั้น

ถาม : เวลานั่งสมาธิ ก็ใช้คำบริกรรมคือ สมถะตลอด แต่เวลาเดินจงกรมใช้ พิจารณากายที่เดิน กำหนดสติกับการเดิน ทั้งสองควบคู่กันไป จะสมควรหรือไม่
หลวงพ่อ : อันนี้สมควร แล้วแต่อุบายของท่านผู้ใด บางทีถ้าหากว่าจิตมันต้องการบริกรรมภาวนา ก็บริกรรม ถ้าต้องการจะกำหนดรู้อิริยาบถ ก็กำหนดรู้อิริยาบถ ถ้ามันจะต้องการค้นคิดพิจารณา ก็ให้มันค้นคิดพิจารณา อย่าไปขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางทีมันอาจจะสงบขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่าไปฝืน บางทีมันอาจจะเกิดความรู้ขึ้นมา โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดความรู้ ก็อย่าไปฝืน ปล่อยมันให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน หน้าที่ของเรามีแต่ทำสติกำหนดตามรู้เท่านั้น

ถาม : เมื่อทำสมาธิแล้ว จิตไม่ค่อยสงบ มักจะน้อยใจว่าตนเองว่า ไม่มีวาสนาบารมี
หลวงพ่อ : อย่าไปคิดอย่างนั้นซิ ในเมื่อจิตไม่สงบก็ทำเรื่อยไป ทำสติรู้และพิจารณาว่ามันไม่สงบเพราะอะไร ค่อยแก้ไข และพากเพียรพยายามทำให้มากๆ เข้า เดี๋ยวมันก็เกิดความสงบขึ้นมาเอง

ถาม : ทำสมาธิภาวนานั้น ที่เราภาวนา พุทโธ นั้น จะต้องเอาจิตไปกำหนดไว้ที่ไหน เช่น ไว้ที่คำว่า พุทโธ หรือทำจิตรู้ไว้ตรงหน้าเฉย ๆ หรือตามลมหายใจ
หลวงพ่อ : พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ พุทโธ แปลว่า ผู้ตื่น พุทโธ แปลว่า ผู้เบิกบาน การภาวนาพุทโธ เอา รู้ ไปไว้กับคำว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี้เป็น อารมณ์เครื่องรู้ของจิต เป็นคำพูดคำหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาตัวรู้สึกสำนึกไปไว้ที่พุทโธ แปลว่า เอาพุทโธไปไว้กับคำว่า พุทโธ ทีนี้เวลาเราภาวนาพุทโธ จะเอาจิตไปไว้ที่ไหนก็ได้ เช่น จะไม่เอาไว้ หรือจะเอาไว้ ไม่ตั้งใจเอาไว้ที่ไหน เราก็กำหนดรู้ลงที่จิต ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั้น ความรู้สึก สภาวะรู้ คือ พุทธะ ผู้รู้ แล้วจะเอา คำว่า พุทโธ ไปไว้กับสกาวะผู้รู้ พร้อมกับนึก พุทโธ ๆ ๆ คำว่า พุทโธ ไม่ใช่ผู้รู้ เป็นแต่เพียงอารมณ์ของผู้รู้ การทำสติให้รู้อยู่กับพุทโธ การทำสตินั้นคือตัวผู้รู้ แล้วเอาตัวผู้รู้มานึกถึงคำพูดว่า พุทโธ
เอาพุทโธ ไว้ที่จิต เอาจิตไว้ที่พุทโธ บางท่านก็บอกว่า เอาจิตไว้ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พุท พร้อมกับลมเข้า โธ พร้อมกับลมออก บางท่านก็สอนให้กำหนดรู้ที่ปลายจมูก ตรงที่ลมผ่านเข้า ผ่านออก แล้วก็นึก พุทโธ ๆๆ ไปเรื่อย อันนี้แล้วแต่ความเหมาะกับจริตของท่านผู้ใด ถ้าหากว่าการกำหนดบริกรรมกาวนาพุทโธ ถ้าเรากำหนด พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออก จังหวะมันยังห่างอยู่ จิตยังส่งกระแสไปทางอื่นได้ ก็ปล่อยลมหายใจเสีย แล้วนึก พุทโธ ๆ ๆ ให้มันเร็วเข้า อย่าให้มีช่องว่าง จะเอาไว้ที่ไหนก็ได้

ถาม : ขณะทำสมาธิ จะรู้ ได้อย่างไรว่า จิตจวนจะเข้าภวังค์แล้ว และจะรู้ได้อย่างไรว่า จิตกำลังอยู่ในภวังค์
หลวงพ่อ : อันนี้เราพึงสังเกตว่า ถ้าเราเกิดมีกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ กายคล่อง จิตคล่อง กายควร จิตควร พึงเข้าใจเถิดว่า จิตของเรา กำลังจะก้าวเข้าสู่ภวังค์ ทีนี้คำว่า ภวังค์ นี้ หมายถึง ช่วงว่างระหว่างที่จิตกำลังบริกรรมภาวนาอยู่ แล้วปล่อยวาง คำภาวนามีอาการวูบลงไป วูบเป็นอาการ เป็นความว่างของจิต ช่วงที่วูบนี้ ไปถึงระยะจิตนิ่ง ช่วงนี้เรียกว่า จิตตกภวังค์ ทีนี้เมื่อจิตตกภวังค์วูบลงไปนิ่งพั๊บ ถ้าไม่หลับ สมาธิเกิด ถ้าจะเกิดความหลับ ก็หลับไปอย่างไม่รู้ตัว แต่ถ้าแบบสมาธิจะเกิด พอนิ่งพั๊บ จิตเกิดสว่าง แสดงว่าจิตเข้าสู่สมาธิ ถ้านิ่งพั๊บ มืดมิดไม่รู้เรื่อง จิตนอนหลับ นี่พึงสังเกตอย่างนี้ จิตที่เข้าสมาธิต้องผ่านภวังค์ไปก่อน ภวังค์ คือ ช่วงว่างของจิตที่ปราศจากสติ เช่น อย่างเราคิดถึงสิ่งหนึ่ง เช่น คิดถึงแดง แล้วจะเปลี่ยนไปคิดถึงขาว ช่วงว่างระหว่างขาวกับแดงนี้ ตรงกลางเรียกว่า ภวังค์ สมาธิที่จิตปล่อยวางภาวนามีอาการเคลิ้ม ๆ แล้วก็วูบ ชั่ววูบเรียกว่า จิตตกภวังค์ เมื่อวูบแล้วนิ่ง มืดมิดไปเรียกว่า จิตหลับ ถ้าวูบนิ่งพั๊บเกิดกวามสว่างโพลงขึ้นมา จิตเป็นสมาธิ พึงทำความเข้าใจอย่างนี้

กลับหน้าหลัก