หน้าหลัก ชีวประวัติ หนังสือและเทป ฐานิโยธรรม วัดป่าสาลวัน บูรพาจารย์เจดีย์ ลิงค์เวบศาสนา เกี่ยวกับเวบไซต์นี้
ภาวนาและบริกรรมต่างกันอย่างไร
ถาม : คำว่า ภาวนา และ บริกรรม ต่างกันอย่างไรขอรับ คือเคยฟังพระเถระผู้ใหญ่บอกว่า การภาวนานี้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน แม้ไม่อยู่ในสมาธิ แม้ทำอะไร ก็สามารถทำได้อยู่ได้ตลอดเวลาใช่ไหมขอรับ?
หลวงพ่อ : ใช่แล้ว คำว่า ภาวนา กับ บริกรรม มีต่างกัน
ภาวนา หมายถึง การอบรมคุณงามความดีให้เกิดขึ้น เป็นสมบัติของผู้อบรม เช่น อบรมใจให้มีความเลื่อมใสในการบำเพ็ญภาวนา ก็ได้ชื่อว่า ภาวนา
แต่ บริกรรม นั้น หมายถึง จิตของผู้ปฏิบัตินึกอยู่ในคำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น พุทโธ เป็นต้น ซ้ำ ๆ อยู่ในคำเดียวเรียกว่า "บริกรรม" บริกรรมก็คือส่วนของภาวนานั่นเอง
หลวงพ่อ : เมื่อตะกี้ได้ถามอะไรอาตมาอีก
ถาม : ภาวนาทำได้ตลอดเวลาทุกสถานที่หรือไม่?
หลวงพ่อ : การภาวนานี้ทำได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทุกสถานที่ ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา
เช่นอย่างภาวนาในขั้นบริกรรมภาวนา เช่น ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอดทุกอิริยาบถ บริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ ได้
ทีนี้ถ้าหากว่าไม่นึกบริกรรมภาวนา พุทโธ การกำหนดรู้ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ทำ พูด คิด รู้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นการภาวนา
จุดมุ่งหมายของการภาวนา หรือบริกรรมภาวนา ก็อยู่ที่ความต้องการความมีสติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีแล้ว จิตก็มีสมรรถภาพในการคุ้มครองตัวเอง ให้ยืนยันอยู่ในความเป็นอิสรภาพ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอิสรภาพโดยเด็ดขาดทุกอย่างก็ตาม
ตราบใดที่จิตยังตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์กิเลสและสิ่งแวดล้อม จิตก็รู้ตัวว่ายังหย่อนสมรรถภาพ อยู่ในอำนาจของสิ่งแวดล้อม จิตก็ย่อมรู้
การบริกรรมภาวนา บางท่านเมื่อจิตไม่ตรงกับนิสัยบริกรรมภาวนาเป็นปี ๆ จิตไม่สงบ ก็มีอุบายที่จะปฏิบัติได้
คือ ต้องกำหนดรู้ดูความคิดของตนเองตลอดเวลาว่าเราคิดอะไรก็รู้ สิ่งที่คิดมันหายไปก็รู้ อันใหม่เกิดขึ้นมาก็รู้ กำหนดรู้ตามไปเรื่อย ๆ เมื่อจิตมีสติกำหนดตามรู้ความคิดกำหนดทันความคิดของจิตเมื่อใด เมื่อนั้นจิตจะสงบเป็นสมาธิได้

วิญญาณคือธาตุรู้
ถาม : คำว่า วิญญาณ หมายความว่า "ธาตุรู้" ใช่ไหมขอรับ?
หลวงพ่อ : คำว่า วิญญาณ คือ "ธาตุรู้"
วิญญาณในเบญจขันธ์หมายถึง วิญญาณรู้จากของ ๒ อย่างกระทบกัน เช่น
ตากับรูปกระทับกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณ
เสียงกับหูกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า โสตวิญญาณ
กลิ่นกับจมูกกระทบกัน เกิดภูมิรู้ เรียกว่า ฆานวิญญาณ
ลิ้นกับรสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
กายกับสิ่งสัมผัสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้นเรียกว่า กายวิญญาณ
จิตนึกคิดอารมณ์เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า มโนวิญญาณ อันเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ทีนี้วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ปฏิสมาธิวิญญาณ คือ วิญญาณรู้ผุด รู้เกิด

วิธีทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ
ถาม : พอจิตนิ่ง ลมหายใจจะหายไป และคำภาวนาก็หายไปพร้อมกัน แต่รู้สึกเช่นนี้เพียงเดี๋ยวเดียวก็หายไป ควรจะทำอย่างไรต่อไป
หลวงพ่อ : เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว จิตจะสงบละเอียดไปถึงจุดที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ลมหายใจก็ทำท่าจะหายขาดไปคำภาวนาก็หายไป พอรู้สึกว่ามีอาการเป็นอย่างนี้เกิดขึ้น ก็เกิดอาการตกใจ แล้วจิตก็ถอนจากสมาธิ
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ถ้ายังเสียดายความเป็นของจิตในขณะนั้น ให้กำหนดจิตพิจารณาใหม่ จนกว่าจิตจะสงบลงไป จนกว่าลมหายใจจะหายขาดไปคำภาวนาจะหายไป
ถ้าตอนนี้เราไม่เกิดเอะใจ หรือเปลี่ยนใจขึ้นมาก่อน จิตจะสงบนิ่งละเอียดลงไปกว่านั้น ในที่สุดจิตก็จะเข้าสู่อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นตัวก็หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตรู้สงบสว่างอยู่อย่างเดียว ร่างกายตัวตนไม่ปรากฏ
แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เมื่อลมหายใจหายไป คำภาวนาก็จะหายไป แล้วก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา เลื่อนให้จิตมาพิจารณา พิจารณาโดยเพ่งกำหนดลงที่ใดลงหนึ่ง จะบริเวณร่างกายลงที่ใดที่หนึ่ง จะบริเวณร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น กระดูก พิจารณาจนจิตเห็นกระดูก แต่ตายังไม่เห็นก่อน เช่น กระดูก พิจารณาจนจิตเห็นกระดูกแต่ตายังไม่เห็นก่อน ให้พิจารณาจนจิตสงบเห็นกระดูกชัดเจน ในทำนองนี้จะทำให้จิตเป็นสมถกรรมฐานเร็วขึ้น ซึ่งเคยมีตัวอย่างครูบาอาจารย์ให้คำแนะนำกันมา คือ
ท่านอาจารย์องค์หนึ่งภาวนาพุทโธมาถึง ๖ ปี จิตสงบลงไป แต่ทำท่าว่าลมหายใจจะหายไป คำภาวนาก็หายไป แล้วสมาธิก็ถอนออก จิตไม่ถึงความสงบสักที อาจารย์องค์นี้จึงไปถามอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งอาจารย์องค์นี้จึงไปถามอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งอาจารย์องค์นี้เป็นชีผ้าขาวไม่ได้บวชเป็นเณรว่า
"ทำอย่างไรจิตมันจะสงบดี ๆ สักที"
อาจารย์องค์นั้นก็ให้คำแนะนำว่า
"ให้เพ่งลงที่หน้าอก พิจารณาให้เห็นกระดูก โดยพิจารณาลอกหนังออก แล้วจึงจ้องจิตบริกรรมภาวนาลงไปว่า อัฐิ อัฐิ อัฐิ"
อาจารย์ที่ถามจึงนำวิธีการนี้ไปปฏิบัติ ก็เกิดจิตสงบเป็นสมาธิ ในครั้งแรกก็มองเห็นเศษกระดูกตรงนั้น จิตมันก็นิ่งจ้องอยู่ตรงนั้น และผลสุดท้ายก็มองเห็นโครงกระดูกทั่วตัวไปหมด
ในเมื่อมองเห็นโครงกระดูกอยู่ชั่วขณะหนึ่ง โครงกระดูกก็พังลงไป และสลายตัวไป สลายไปหมด ยังเหลือแต่จิตสงบนิ่ง สว่างอยู่อย่างเดียว และในอันดับต่อไปนั้น จิตจะสงบนิ่ง สว่างอยู่เฉย ๆ
ภายหลังเมื่อจิตสงบสว่างอยู่พอสมควรแล้ว ก็เกิดความรู้อันละเอียดขึ้นมาภายในจิต แต่ไม่ทราบว่าอะไร มันมีลักษณะรู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป มันเหมือนกับกลุ่มเมฆที่มันผ่านสายตาเราไปนั่นแหละ จิตก็นิ่งเฉย สงบนิ่ง สว่างอยู่ตลอดเวลา ที่มีให้รู้ให้เห็นก็ผ่านไปเรื่อย ๆ เราลองนึกภาพดูว่า ที่เกิดขึ้นเช่นนี้เรียกว่าอะไร
อาการเป็นเช่นนี้เป็นภูมิรู้ภูมิปัญญาอย่างละเอียดของจิตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความจริงที่อยู่เหนือสมมุติบัญญัติ สภาวธรรมส่วนที่เป็นสัจธรรมเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งท่านอาจารย์มั่นเรียกว่า "ฐีติภูตัง" ซึ่งมีความหมายว่า
ฐีติ คือ ความตั้งเด่นของจิต อยู่ในสภาพที่สงบนิ่งเป็นกิริยาประชุมพร้อมของอริยมรรค ยังจิตให้บรรลุถึงความสุคติภาพโดยสมบูรณ์ เมื่อจิตประชุมพร้อม ภายในจิตมีลักษณะ สงบ นิ่ง สว่าง อำนาจของอริยมรรคสามารถปฏิบัติจิตให้เกิดภูมิรู้ ภูมิธรรมอย่างละเอียด
ภูมิรู้ ภูมิธรรมซึ่งเกิดขึ้นอย่างละเอียด ไม่มีสมมุติ บัญญัติ เรียกว่า "ภูตัง" หมายถึงสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่โดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไร สงสัยต่อไปในเมื่อเราไม่สามารถจะเรียกว่าอะไร ทำอย่างไรเราจึงจะรู้สิ่งนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ แม้แต่ท่านแสดงธรรมจักกฯ ให้ภิกษุปัญวัคคีย์ฟัง เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรม เห็นธรรม ก็รู้แต่ว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา"
ถาม : การเจริญภาวนาที่ท่านอาจารย์เสาร์แนะนำไว้ คือ
๑. ให้เจริญสมาธิ
๒. พิจารณาอสุภกรรมฐาน
๓. ให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน
หลวงพ่อ : อันนี้เป็นหลักวิชา เมื่อจะพูดกันให้จบ ต้องพูดกันตามลำดับขั้นในปัญหา ๓ ข้อ คือ
๑. ให้เจริญสมาธิ
๒. ให้พิจารณาอสุภกรรมฐาน
๓. ให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน
ในข้อ ๓ ข้อนี้ใครจะเริ่มวิธีใดวิธีหนึ่งได้ ไม่ต้องไปบริกรรมพิจารณาใด ๆ ก็ได้ เช่น พอใจอยากพิจารณาอสุภกรรมฐาน ก็พิจารณาเรื่องอสุภกรรมฐานไปเลย ถ้าจะพิจารณาเรื่องธาตุก็พิจารณาเรื่องธาตุไปเลย
ทั้ง ๓ อย่างถ้าเจริญแล้ว การเจริญสมาธิด้วยบริกรรมภาวนาจะทำให้ผู้เจริญกรรมฐานนั้นได้รับผลช้า คือ บางทีเมื่อบริกรรมภาวนแล้ว จิตจะติดอยู่ในความสงบ ภายหลังจะต้องพิจารณาอสุภหรือธาตุกรรมฐานต่อไปจึงจะเกิดมีภูมิความรู้ขึ้นได้
แต่ถ้าพิจารณาอสุภกรรมฐานเลยทีเดียว หรือพิจารณาธาตุกรรมฐานเลยทีเดียว การพิจารณาก็เป็นอุบายให้จิตสงบเป็นสมาธิได้เหมือนในข้อต้น
ในเมื่อจิตสงบเป็นสมาธิเพราะการพิจารณาข้อ ๒ และข้อ ๓ เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตจะเกิดภูมิปัญญาขึ้นง่ายกว่าข้อหนึ่ง

การรวมของกระแสจิตเข้าสู่สมาธิ
ถาม : เมื่อปฏิบัติต่อไปแล้วจะรู้สึกเหมือนมีอะไรวนกลับเข้ามาในตัว สิ่งนั้นคืออะไร ?
หลวงพ่อ : อันนี้เป็นลักษณะของความหดสั้นเข้ามาของกระแสจิต เมื่อส่งกระแสออกไปไกล ๆ เมื่อเราภาวนาแล้วเมื่อจิตเริ่มสงบ จิตเริ่มหดสั้นเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงตัวแล้ว ก็ถึงจิตแห่งความสงบ
บางครั้งมันอาจเกิดความรู้สึกว่า ทุกสิ่งมันรวมเข้ามา บางครั้งอาจเกิดแสงสว่างอยู่ไกล ๆ มองสุดสายตาในจิตสมาธิ เมื่อบริกรรมภาวนามากเข้าแสงนั่นจะเข้ามาหาตัว ทุกที ๆ เมื่อจิตสงบเข้ามาจริง ๆ แล้วแสงจะวิ่งเข้ามาในตัว เกิดความสงบสว่างขึ้น อันนี้เป็นการรวมของจิตเข้าสู่สมาธิ ซึ่งจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
เมื่อต้องการจะหยุดทำสมาธิ คล้ายกับมีร่างอีกร่างหนึ่งมาซ้อนอยู่ และเหมือนกับมีจิตแยกกันอยู่ เหตุการณ์ดังที่ว่าจะเกิดขึ้นบางครั้งบางขณะ บางทีเราทำจิตสงบลงไป เราอาจจะมองเห็นตัวของเราอีกร่างหนึ่งแฝงขึ้นมา มีความรู้สึกขึ้นมา มีร่างสองร่าง มีจิตสองจิต เพราะในขณะนั้น เรารู้สึกว่า กายของเราแยกออกไปเป็นสองส่วน และจิตแยกออกเป็นสองส่วนด้วย
ในเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ควรปฏิบัติอย่างไร
อะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ จะเป็นสองร่าง สามร่าง สิบร่างก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของสมาธิ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก ถ้าไม่เห็นภาพอื่น ๆ ก็จิตสงบเข้าจริงจังแล้วจิตที่สองหรือร่างที่สองจะหายไป มารวมอยู่ที่จุด ๆ เดียว เป็นเรื่องธรรมดา เป็นทางผ่านของการทำสมาธิ
ปัญหาสำคัญ อย่าไปเอะใจหรืออย่าไปสำคัญกับเหตุการณ์เหล่านั้น ให้กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไปเอะใจกับสิ่งเหล่านั้น จิตจะถอนออกจากสมาธิ นิมิตเหล่านั้นจะหายไป

ขั้นของสมาธิ
ถาม : ขั้นของสมาธิที่เราปฏิบัติได้ จะสังเกตด้วยปรากฏการณ์ หรือระยะเวลาที่ปรากฏการณ์นั้น ?
หลวงพ่อ : ขั้นของสมาธิที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้น การเกิดขึ้นของสมาธิมี ๒ ลักษณะ
เมื่อเราบริกรรมภาวนา หรือกำหนดพิจารณาอะไรอยู่ก็ตาม เมื่อจิตสงบเคลิ้ม ๆ ลงไปเหมือนจะนอนหลับ เมื่อจิตสงบวูบลงไปตั้งมั่นเป็นสมาธิ สว่างไสวขึ้น อันนี้เป็นลักษณะความสงบอย่างหนึ่ง ความสงบอย่างนี้เรียกว่า ผู้นั้นยังไม่ชำนาญในการเดินจิต
เราจะรู้เฉพาะเวลาเราบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอารมณ์ กับเมื่อตอนที่จิตสงบนิ่งแล้ว ในช่วงระหว่างกลางนี้ เรากำหนดไม่ได้ สมาธิจึงยังไม่พร้อมด้วยองค์
สมาธิที่ถึงพร้อมด้วยองค์นั้น ผู้ภาวนาจะต้องกำหนดรู้ไปตั้งแต่ วิตก วิจาร เกิดปีติ เกิดสุข ยังเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา ซึ่งเป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิที่เดินตามแนวขององค์ฌาน เป็นสมาธิของผู้ที่ดำเนินจิตให้เป็นสมาธิได้พอสมควร
ถ้าชำนาญจริง ๆ แล้ว สามารถที่จะยับยั้งจิตของตน ให้อยู่ในองค์ฌานนั้น ๆตามต้องการได้ เว้นเสียแต่ว่าจิตลงไปถึงขั้นฌานขั้นที่ ๓ ที่ ๔ แล้วนั่นแหละ จิตจะเป็นไปโดยอัตโนมัติเราจะทำอะไรไม่ได้
ถ้าจิตอยู่ในระหว่างฌานขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ ตอนนี้เราสามารถกำหนดเอาให้อยู่ในองค์ฌานนั้น ๆ ได้ ถ้าใช้ความตั้งใจอ่อน ๆ เรานึกประคองจิตให้อยู่ในระดับของปีติ ระดับของสุข ระดับของความสงบก็ได้ แต่เมื่อจิตสงบถึงฌานขั้นที่ ๓ ที่ ๔ แล้ว จิตจะดำเนินไปเองโดยอัตโนมัติ

สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนา
ถาม : สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนาทำอย่างไร ?
หลวงพ่อ : สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนา คำว่า วิปัสสนานี่มีอยู่ ๒ ขั้นตอน
ขั้นต้น คือ วิปัสสนาที่ใช้สติปัญญากำหนดพิจารณาเอาเองด้วยความตั้งใจ เช่น เราจะพิจารณาร่างกายให้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช้ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียนรู้มานั้นมานึกเอา เรียกว่า การเจริญวิปัสสนาแบบใช้สติปัญญาแบบธรรมดา ๆ โดยการพิจารณาเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
โดยความรู้สึก นึกคิดเอาเองนี่แหละ เป็นการตกแต่ง ปฏิปทาเพื่อให้จิตสงบลงเป็นสมาธิแล้ว จะเกิดวิปัสสนาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ จะปฏิวัติไปสู่ภูมิรู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จงทำความเข้าใจว่า ถ้าสมาธิหรือสมถะไม่เกิดขึ้น ท่านจะเจริญวิปัสสนาอย่างไรท่านจะไม่ได้วิปัสสนา เพราะวิปัสสนามีมูลฐานเกิดมาจากสมถะ คือ สมาธิ ถ้าสมถะคือ สมาธิไม่เกิดขึ้น ท่านจะได้แต่วิปัสสนาแบบนึกคิดเอาเอง เป็นวิปัสสนาภาคปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง
ถาม : คำภาวนา พุทโธ เป็นสมาธิ จะทำวิปัสสนาต่อไปจะทำอย่างไร
หลวงพ่อ : คำภาวนา พุทโธ ทำจิตให้เป็นสมาธิ พูดได้ว่า ภาวนาพุทโธ ทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิเพียงแค่ขั้นอุปจารสมาธิ
ถ้าต้องการทำจิตให้เป็นวิปัสสนาสืบเนื่องมาจากการภาวนาพุทโธ เมื่อทำจิตให้สงบลงไป รู้สึกว่าสงบสว่างขึ้นมาแล้ว น้อมจิตไปพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเป็นพระไตรลักษณ์
หรือมิฉะนั้นก็กำหนดรู้ที่จิตของตนเอง เมื่ออารมณ์อันใดเกิดขึ้นในความคิด ก็กำหนดตามความคิดนั้นเรื่อยไป เมื่อความคิดอันใดเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เราเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ควบคุมความคิดว่า ความคิดนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เจริญวิปัสสนา ในสมาธิอ่อน ๆ
บางครั้งเมื่อเจริญสมาธิแล้ว จิตจะถอน ออกมาสู่จิตปกติธรรมดา ก็อย่าเลิกการพิจารณาเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในที่สุด จิตจะสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ และเกิดวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
การบริกรรมภาวนานี้ บางทีบางท่านเพียงแต่บริกรรมภาวนา พอจิตสงบลงเป็นอุปจารสมาธิ จิตท่านผู้นั้นจะปฏิวัติไปสู่ภูมิวิปัสสนาโดยไม่ได้ตั้งใจ อันนี้แสดงว่าผู้นั้นได้เคยเจริญวิปัสสนาแล้วตั้งแต่ชาติก่อน
เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว วิปัสสนาก็ไม่เกิด เห็นแต่เพียงสงบนิ่ง สว่างอยู่เฉย ๆ หากเป็นทำนองนี้ ต้องค้นคิด ฝึกหัด วิปัสสนากรรมฐาน ยกเอาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมาพิจารณาจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาริ วิญญาณ ก็ได้ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกว่าจะเกิดสมาธิขึ้นมาแล้วจึงจะรู้ภูมิแท้แห่งวิปัสสนาไปเอง

ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
ถาม : ที่กล่าวว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทราบว่า เหตุใดจึงเกิดเป็นคน
หลวงพ่อ : การรู้ว่าเหตุใดจึงเกิดเป็นคน อันนี้ไม่เฉพาะแต่พระพุทธเจ้า พวกฤาษีในสมัยโบราณก็รู้ว่าเหตุใดจึงเกิดเป็นคน เช่น พวกฤาษีชีไพร ที่บำเพ็ญตบะอยู่ในภูเขา เมื่อเขาทำ สมาธิจนได้ฌาน ก็สามารถรู้ได้เหมือนกันว่า ชาติก่อนท่านเกิดเป็นอะไร แต่ท่านเหล่านั้นมิได้บำเพ็ญมาเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถทำลายกิเลสได้
อันนี้เป็นการระลึกชาติภพหลังได้ ไมใช่แต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว แต่ในฐานะที่เราเรียนแต่ศาสนาของพระพุทธเจ้า เราจึงมักจะพูดว่า พระพุทธเจ้า องค์เดียวเท่านั้นที่รู้ว่าเหตุใด คนจึงเกิดมาเป็นคนได้
ที่จริงฤาษีเขารู้ก่อนพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นความรู้พิเศษ ไม่จำเป็นแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวจะรู้ ผู้ใดทำสมาธิถึงขั้นสมถะ หรือสำเร็จฌาน สามารถรู้ยิ่งเห็นจริงว่าชาติก่อน เราเกิดมาเป็นอะไรมาแล้ว สามารถที่จะรู้ได้

บุญอยู่ที่เจตนา
ถาม : เวลานำของไปถวายพระ แต่พระไม่ได้ฉันอาหารนั้นผู้ถวายจะได้บุญเต็มที่ไหม ?
หลวงพ่อ : ผู้ถวายจะได้บุญเต็มที่หรือไม่นั้น อยู่ที่ความตั้งใจอันบริสุทธิ์ของเรา แม้แต่ว่า ถ้าเรานำของไปถวายพระแล้ว ยังระแวงสงสัยในพระว่า พระองค์นั้นจะบริสุทธิ์หรือไม่ บุญที่เราทำลงไปก็ไม่ได้อย่างเต็มที่
การจะทำบุญจะได้บุญมากหรือน้อยก็อยู่ที่เจตนา ของเราบริสุทธิ์สะอาด ถ้าเราให้แต่คนยากจน มุ่งเพื่อความสงเคราะห์ ให้ผู้ทรงศีลทรงธรรม มุ่งเพื่อความบูชาให้แก่พระสงฆ์ มุ่งเพื่อให้ผู้ที่ทำกิจเพื่อพระศาสนา
เจตนาของเราบริสุทธิ์ เมื่อทำบุญลงไปแล้ว ถึงแม้ว่า พระไม่ได้ฉัน ท่านเพียงแต่รับ เราก็ได้บุญอย่างเต็มที่แล้ว

พิจารณาภูมิจิต
ถาม : รูปขันธ์เมื่อแยกออกจากขันธ์ทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้ว ตัวรูปขันธ์ จะเคลื่อนไหวได้หรือไม่?
หลวงพ่อ : อันตัวรูปขันธ์จะเคลื่อนไหวได้หรือไม่นั้น จิตของผู้ภาวนาถ้ารู้สึกว่ารูปมันหายไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่ารูปมันเคลื่อนไหวหรือไม่ประการใด
ลักษณะของการพิจารณารูปขันธ์ หรือพิจารณาขันธ์ ๕ นี้ ในเมื่อเราจะกำหนดลงไปว่า เราจะพิจารณารูป เราก็พิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร ไปพร้อมกัน
ในเมื่อเราพิจารณารูปในแง่อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ยกกาย ขึ้นมาพิจารณาเป็นกายคตาสติกรรมฐาน ในเมื่อจิตสงบละเอียดลงไปแล้ว มันอาจจะเกิดนิมิตเห็นอสุภกรรมฐานหรือเห็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือเห็นอาการของร่างกายมันตายไป เน่าเปื่อยผุพังสลายไป จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ ก็แสดงว่า รูปมันหายไป
ในเมื่อรูปมันหายไปแล้ว เวทนา สัญญา มันก็หายไปด้วย เวทนา สัญญา นี้ มันอาศัยรูปเป็นที่พึ่ง ถ้าหากรูปหายไปแล้ว เวทนา สัญญา จะไม่ปรากฏ คือ เวทนา สุข ทุกข์ ไม่มี มีแต่อุเบกขา เวทนา สัญญา ความทรงจำต่าง ๆ ก็ไม่มีในเมื่อรูปหายไปแล้ว จิตเกิดความรู้อะไรขึ้นมาไม่ได้อาศัยสัญญา แต่หากภูมิรู้จะเกิดขึ้นมาในส่วนละเอียด
ส่วนละเอียดที่จิตมีภูมิรู้ขึ้นมานั้น คือ ตัวสังขาร เมื่อรูป เวทนา สัญญา หายไปแล้ว ผู้ภาวนาจะมีความรู้สึกว่า สังขารยังเหลืออยู่ วิญญาณก็ยังเหลืออยู่
แต่วิญญาณที่ยังเหลืออยู่ในลักษณะรู้ยิ่งเห็นจริงนั้น เป็นในลักษณะวิญญาณเหลืออยู่เฉพาะตัวผู้รู้ แต่ตัวกระทบไม่มี ถ้าหากในขณะนั้นจะมีสิ่งใดมากระทบให้จิตรู้ จิตก็ไม่มีอาการรู้ทางวิญญาณ เป็นแต่เพียงว่าตัวผู้รู้สามารถที่จะแกว่งกระแสไปรู้สิ่งที่ผ่านเข้ามา
สิ่งที่ผ่านเข้ามาให้รู้ เปรียบเหมือนกับว่าอยู่เอกเทศส่วนหนึ่ง จิตตัวผู้รู้ก็อยู่ในลักษณะเอกเทศส่วนหนึ่ง คล้าย ๆ กับมันแยกออกไปคนละส่วน ไม่มีความสัมพันธ์กัน
ทำไมมันจึงเป็นเข่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า ความรู้หรือสิ่งที่รู้ที่ปรากฏการณ์ขึ้นมานั้น คือ เป็นตัวสังขารจิต หรือเรียกว่า สังขารธรรม เป็นการปรุงของจิตส่วนละเอียด เป็นการปรุงขึ้นมาด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น
คือ รู้สึกเสมือนหนึ่งว่าสิ่งที่ตัวปรุงขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องของตนเอง เป็นเรื่องอื่นมาปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็นอันนี้เป็นลักษณะของภูมิจิตพิเศษ เป็นภูมิรู้อย่างละเอียด เป็นสิ่งที่มีอยู่เหมือนกับที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น คือ "ฐีติภูตัง" ของท่านอาจารย์มั่นนั่นเอง
อันนี้ คำถามว่าตัวรูปขันธ์นั้นจะเคลื่อนไหวได้ไหมขอให้พิจารณาดูภูมิจิตของตนเอง แล้วจะรู้จริงเห็นจริงไปเอง

สู่ภูมิแห่งปรมัตถธรรม
ถาม : จิตตอนที่รู้สมมติบัญญัติเข้าปรมัตถ์นี้มีสภาพเป็นอย่างไร
หลวงพ่อ : ลักษณะของจิตที่จะเกิดภูมิรู้ ที่มันจะเข้าไปสู่ภูมิแห่งปรมัตถ์ เราพึงสังเกตอย่างนี้
เช่น เราทำสมาธิด้วยการพิจารณาอะไรก็ตาม ในขณะที่เราน้อมนึกโดยเจตนา โดยความตั้งใจ โดยอาศัยภูมิความรู้ที่ได้จากตำรับตำรา หรือได้เรียน เช่น เราอาจนึกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แล้วนำเป็นอุบายนำจิตสงบลงไปสู่สมาธิขั้นอุปจารสมาธิ
ในเมื่อจิตสงบลงไปสู่ภูมิขั้นนี้ อำนาจจิตจะปฏิวัติเป็นภูมิรู้ขึ้นมา รู้ในเรื่องที่เราได้พิจารณามาแต่เบื้องต้นว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความรู้อันนี้เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ
เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จิตกับความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น จิตรู้รูปก็อยู่ที่รูป จิตรู้เวทนาก็อยู่ที่เวทนา ความรู้อันนี้ยังอยู่ในสมมติบัญญัติ คือ รู้อะไรก็เรียกว่าอันนั้น เช่น รู้รูปเห็นรูปก็เรียกว่า รูป รู้เวทนาเห็นเวทนาก็เรียกว่า เวทนา เห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็รู้อยู่เรื่อย ๆ ไปอย่างนี้
ในเมื่อจิตตามรู้ ความรู้ที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจิต จนกว่าจิตจะรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปแล้ว ยอมรับสภาพความเป็นจริง
เมื่อจิตยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว จิตจะตัดกระแสแห่งความรู้อันเป็นสมมติบัญญัตินั้นให้ขาดตอนลงไปสู่ความว่าง
เมื่อจิตเกิดความว่างขึ้นมาแล้ว ในอันดับต่อไป จิตจะก้าวหน้าไปสู่ภูมิปรมัตถธรรม เมื่อภูมิความรู้อันใด เกิดขึ้นมาในขณะนี้ เกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เกิดขึ้นมาแล้ว จะไม่มีสมมติบัญญัติ
ถ้ามองเห็นด้วยสมมติว่าอาจจะเห็นนิมิตเกิดขึ้นมา เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเห็นร่างกายนอนตาย เน่าเปื่อยผุพัง จิตจะอยู่เฉย ๆ ไม่มีสมมติบัญญัติว่าอะไร
เมื่อเห็นรูปของตังเอง จิตก็ไม่ว่ารูปของตัวเอง เมื่อรูปเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปในที่สุด จิตก็จะไม่มีสมมติบัญญัติ เรียกอาการที่เป็นไปตามขั้นตอน เห็นเนื้อไม่ว่าเนื้อ เห็นหนังไม่ว่าหนัง เห็นกระดูกไม่ว่ากระดูก เห็นการสลายเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าการสลายเปลี่ยนแปลง จิตจะเห็นอยู่เฉย ๆ ไม่มีสมมติบัญญัติใด ๆ ทั้งสิ้น
อันนี้คืออาการที่จิตเดินเข้าสู่ภูมิแห่งปรมัตถธรรมโดยไม่มีสมมติบัญญัติ ไม่มีตัวตน ไม่มีตัว ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีจิต ไม่มีสภาวธรรมอะไรทั้งนั้น
แต่ว่าจิตผู้รู้ปรากฏเด่นชัด สิ่งที่รู้ก็ปรากฏให้รู้ให้เห็น อยู่ตลอดเวลา อันนี้คือลักษณะของจิตที่ก้าวขึ้นไปสู่ภูมิปรมัตถ์

ปัญญาในมรรค ๘
ถาม : ทำไม มรรค ๘ จึงมีปัญญาอยู่ ๒ อย่าง ?
หลวงพ่อ : มรรค ๘ เห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ จิตตั้งมั่นชอบ
ในเมื่อภูมิจิตของผู้ดำเนินนั้นยังไม่ประชุมพร้อมลงไปเป็นหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างจะปรากฏที่อาการ เช่น สัมมาทิฏฐิ ( เห็นชอบ) ก็มีอยู่ สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ก็มีอยู่ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องของปัญญา
ปัญญาในมรรค ๘ ยังไม่มาประชุมพร้อมลงเป็นหนึ่ง ที่ดวงจิต ยังมีสอง ในขณะที่มรรค ๘ ยังไม่ประชุมพร้อมลงเป็นหนึ่งที่ดวงจิต ยังมีอาการอยู่ ๘ นั้น เป็นอาการของมรรคเมื่อประชุมพร้อมเป็นหนึ่ง คือ สมาธิ
ความประชุมพร้อมเป็นหนึ่งนั้นอยู่ที่สมาธิ ในเมื่อสัมมาสมาธิ เป็นหนึ่งแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเกิดขึ้น
ทีนี้อาการเกิดขึ้นของมรรค ๘ ในเมื่อประชุมพร้อมลงแล้ว เราจะนับอาการไม่ถูก เพราะถ้าหากมรรค ๘ ยังแยกกันอยู่ตราบใด เราไม่สามารถปฏิบัติจิตไปสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม ได้เลย เพียงแต่ว่าเราทำให้จิตสงบเพียงนิดหน่อยเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ผู้บำเพ็ญมักจะหนักใจว่า ทั้ง ๘ ข้อนี้จะทำอย่างไร กว่าจะรวมลงมาเป็นหนึ่ง มิต้องเสียเวลามากมายหรือ ?
การรวมธรรมะคือมรรค ๘ นี้ เราจะต้องเริ่มด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์เป็นประการแรกก่อน
ประการที่สอง พยายามทำใจ ฝึกหัดใจให้เป็นสมาธิ
ประการที่สาม ทำสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบในการปฏิบัติว่าเพื่ออะไร
เมื่อมุ่งผลแห่งความสงบ รู้ยิ่งเห็นจริงตามสภาวธรรม ตามความเป็นจริง ในเมื่อศีลก็บริสุทธิ์ เป็นอุบายที่ทำให้จิตสงบลงเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สมาธิจิต
สมาธิ เมื่อจิตสงบลงเป็นหนึ่ง คือจิตไปนิ่งอยู่เฉย ๆ อันนี้เป็นแต่เพียงมีสมาธิองค์เดียวเท่านั้น
ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่มีกำลังเพียงพอ ศรัทธาพละ ยังไม่เก่ง วิริยะพละยังไม่มี สติพละยังไม่พร้อม สมาธิพละยังไม่เข้มแข็ง ปัญญาพละยังไม่มีกำลังที่จะรอบรู้ถึงที่สุด จิตก็ยังไม่ประชุมพร้อมอริยมรรครวมเป็นหนึ่งได้ ต้องพยายามที่จะฝึกหัดสมาธิให้ยิ่งขึ้น
ในเมื่อทั้งมรรค ๘ รวมกันเป็นหนึ่งแล้ว มีแต่หนึ่งไม่มีสอง ในเมื่อยังไม่ประชุมพร้อม มันก็ยังมีแยกกันเป็นสองคำถามที่ว่าทำไมปัญญาในมรรค ๘ จึงมี ๒ ก็เพราะเราไปพูดตามอาการ
ในเมื่อเราทำจิตเป็นสมาธิ ประชุมพร้อมด้วยอริยมรรคแล้ว สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะรวมเป็นหนึ่ง สัมมาอันอื่น ๆ ก็จะรวมเข้ามา จนรวมเป็นหนึ่งเท่านั้น เมื่ออริยมรรครวมกันเป็นหนึ่งแล้ว ก็สามารถปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิรู้ภูมิธรรมได้

กลับหน้าหลัก