สายกลางของการปฏิบัติ
แสดงธรรมโดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

พระพุทธเจ้าไม่ให้ประกอบตนติดสุขจนเกินประมาณ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด ๒ อย่างอันนักบวชไม่พึงส้องเสพ ส่วนสุด ๒ อย่างนั้นคืออะไร คือการประกอบตนให้พัวพันอยู่ในความสุข คือเรื่องเห็นแก่ความสุข เรื่องเห็นแก่ปากแก่ท้อง เรื่องความเห็นแก่หลับแก่นอน เรื่องยินดีในอารมณ์เป็นที่น่าใคร่น่าชอบใจ ทำให้เกิดราคะตัณหา อันนี้เรียกว่าส่วนสุดอันหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายกามสุขัลลิกานุโยค"

กามะ แปลว่า ความใคร่ สุขัลลิกานุโยค คือ ผูกรัดผู้คนให้ติดอยู่ในความสุขจนเกินประมาณ คนเรานี่สุขหลายก็ไม่ดีต้องให้สุขแต่น้อย พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ให้สาธุชนพึงสละความสุขเพียงเล็กน้อย เพื่อแลกเอาสุขอันยิ่งใหญ่คือพระนิพพาน

เวลานี้เรามาสวดมนต์ มาฟังเทศน์ บางที โอ๊ย! นั่งนานๆ ปวดแข้งปวดขาเกือบตาย อันนี้แหละคือความทุกข์ ทีนี้ถ้าหากว่าใจเราไม่มั่นคง ไม่เข้มแข็ง ไปยอมแพ้ต่อทุกขเวทนานั้น แล้วสละการฟังธรรม สละการประกอบคุณงามความดี สละการนั่งสมาธิ ก็แสดงว่าจิตของเราตกอยู่ในอำนาจของกามสุขัลลิกานุโยค เรื่องของการยอมแพ้เอาง่ายๆ นี่ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ พระองค์ไม่เห็นดีด้วย

เพราะฉะนั้น ในเมื่อฟังธรรมก็ดี ปฏิบัติธรรมก็ดี ถ้าหากว่าทุกขเวทนามันเกิดขึ้นมา ถ้าเราจะเอาชนะมัน ให้บริกรรมภาวนาว่าอย่างนี้ “มึงบ่ตาย กูตาย มึงไม่ตาย กูตาย มึงไม่ตาย กูตาย” แล้วก็รวมลงที่คำว่า “ตายๆๆๆๆ…ตาย” คำเดียว เสร็จแล้วจิตจะสงบ กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ นี่ตอนนี้ผ่านพ้นความเห็นแก่สุขเล็กน้อยแล้วนะนี่

พอกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ถ้าแถมเกิดมีปีติขึ้นมาเหมือนตัวจะลอยอยู่บนอากาศ นี่เป็นสุขใหญ่ เป็นสุขเกิดจากปีติ

เพราะฉะนั้น กามสุขัลลิกานุโยค ประกอบตนให้ติดความสุขจนเกินประมาณซึ่งเรียกว่าไม่พอดี มันทำให้คนเราหย่อนสมรรถภาพ เกิดความอ่อนแอ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ประกอบคือไม่ให้ประพฤตินั่นเอง

พระพุทธเจ้าให้เว้นการทรมานตนโดยเปล่าประโยชน์

ข้อที่ ๒ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบตนคือการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก โดยเปล่า ปราศจากประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์อย่างนี้ การไม่นั่ง ก็ไม่ยังบุคคลผู้ยังมีกิเลสอยู่ให้หมดกิเลสได้ การไม่นอน ก็ไม่ยังผู้ยังมีกิเลสให้หมดกิเลสได้ การไม่กิน การไม่ดื่ม การทรมานตนบนกองไฟกองเพลิงเพื่อย่างกิเลส ก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ยังมีกิเลสอยู่หมดกิเลสไปได้ อันนี้คือ การทรมานตนแล้วไม่ได้รับประโยชน์อะไรนอกจากความเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นอัตตกิลมถานุโยค พระองค์ให้เว้น

พระพุทธเจ้าสอนให้เว้นจากส่วนสุด ๒ อย่าง : กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค

ทีนี้เมื่อสรุปลงไปในจิตในใจของเราจริงๆ นี่ ความยินดีจนเกินประมาณเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ความยินร้ายจนเกินประมาณเป็นอัตตกิลมถานุโยค

ความยินดี มักทำให้เพลิดเพลินยินดีในวัตถุสมบัติ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สนุกเพลิดเพลินไปตามสิ่งที่เราชอบใจ อันนั้นเรียกว่า ความยินดีแบบกามสุขัลลิกานุโยค ยินดีในสิ่งที่ยั่วยุให้เกิดกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จัดเป็นกามสุขัลลิกานุโยคทั้งนั้น

ส่วนความไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ เช่น ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความเบื่อความหน่ายในการที่จะปฏิบัติคุณงามความดี หรือความไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ในเมื่อไม่พอใจมันก็เกิดปฏิฆะ หงุดหงิดใจ ปฏิฆะแสดงฤทธิ์ออกมาเป็นทุสะ ประทุษร้ายใจอันเป็นปกติ เมื่อทุสะคือโทสะทวีกำลัง ทวีกำลังรุนแรงขึ้นมา สีหน้าก็แดง ปากก็เบี้ยว ตาก็แดง หน้าก็บูดบึ้ง อันนี้มันแสดงฤทธิ์มันออกมาแล้ว ทีนี้ในเมื่อมันมีฤทธิ์ขึ้นมาอย่างนี้ ความทุกข์ใจก็บังเกิดขึ้น ทุกข์เพราะความโกรธ ในเมื่อทุกข์มันหนักเข้าก็เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค การประกอบตนให้พัวพันในสิ่งที่ทรมานจิตใจให้ได้รับความลำบาก

นี่แหละ ทั้งสองอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนเบญจวัคคีย์อย่าไปประพฤติเช่นนั้น ถ้าขืนไปประพฤติแล้วมันจะติดข้องอยู่ในโลก นั่งโต่งโหม่งอยู่ในโลกนี่แหละ ไปไส (ไหน) ก็ไม่ไป เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสอนให้เว้นเสีย

อริยมรรค ๘ เป็นไปเพื่อการตรัสรู้

ทีนี้พระองค์ก็ทรงสอนให้ดำเนินตามหลัก คือ อริยมรรค ๘ ประการ

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค เสยยะถีทัง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิ อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา

อริยมรรค ๘ ประการนี้เอง ที่ตถาคตดำเนินมาแล้ว เป็นไปเพื่อการรู้พร้อม เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์สะอาดของจิต จนกระทั่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

อริยมรรค ๘ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา พูดวาจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาสะติ ระลึกชอบ สัมมาสะมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ ท่านเรียกว่า อริยมรรค ๘ เมื่อรวมลงไปแล้วก็คือ ไตรสิกขา นั่นเอง ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา อ่านต่อ...