ธรรมปฏิบัติเพื่อความสุขใจ ตอน 2

เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล รักษาศีล มั่นใจว่าเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ต่อไปก็มีโอกาสนั่งสมาธิภาวนาได้

การสมาทานศีล ๕ แต่ไม่มีพระให้ศีล ๕ จะทำอย่างไร ไม่ต้องคำนึงถึงพระก็ได้ เราอาจจะสวดมนต์ไหว้พระอยู่ที่บ้าน เพียงนึกว่าเราจะยึดศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติเช่น ญาติโยมนั่งอยู่เฉยๆ กายอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ทำอะไร กายก็ปกติ วาจาอยู่นิ่งๆ ไม่ได้พูดอะไร วาจาก็ปกติ ใจก็อยู่นิ่งๆ กำหนดคอยฟังธรรม ไม่ได้คิดอะไร ใจก็ปกติ เมื่อกาย วาจา ใจ ปกติ ศีลก็เกิดมีขึ้นแล้ว เพราะศีลแปลว่าปกติ

ทีนี้เรามาปฏิบัติธรรม ศีลก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ยึดเป็นหลักปฏิบัติแล้ว สมาธิเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติแล้ว เวลานี้ท่านก็กำลังทำสมาธิ กำหนดจิตฟังธรรม ขณะที่พระกำลังแสดงธรรม ทำจิตรู้ไว้ที่จิต หรือบางท่านอาจนึกบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆ ไว้ในใจ บางท่านอาจกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือนึกบริกรรมภาวนาว่าสัมมาอรหัง หรือบางท่านกำหนดยุบหนอพองหนอเป็นอารมณ์จิต กำลังตั้งใจสำรวมจิต สำรวมใจ เพื่อจะทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ นั่นคือวิธีการปฏิบัติสมาธิ ใครจะยึดแบบไหนเป็นหลักปฏิบัติได้ทั้งนั้น อย่าไปข้องใจ

สมมุติว่าขณะนี้ท่านกำลังนั่งสมาธิ กำลังบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆ เป็นต้น ในขณะที่ท่านนึกพุทโธๆๆ อยู่ท่านพยายามเอาจิตไว้กับพุทโธ เอาพุทโธไว้กับจิตและกำหนดรู้อยู่ที่จิต และพุทโธเพียงอย่างเดียว นี่เป็นแบบภาวนาพุทโธ

บางทีท่านภาวนาพุทโธๆๆ ไป มีอาการเคลิ้มๆเหมือนง่วงนอน ไม่ต้องตกใจ ง่วงก็ง่วง ภาวนาเรื่อยไป จะหลับก็ปล่อยให้หลับ ไม่ต้องไปฝืน พุทโธๆๆ เรื่อยไป เมื่อพุทโธๆๆ ไป จิตเกิดสว่างขึ้นมา ไม่ต้องตกใจ ถ้าตัวสั่น ตัวโยก ตัวเบาเหมือนจะลอย ก็ไม่ต้องตกใจ กำหนดรู้จิต ภาวนาพุทโธเรื่อยไป ถ้าขนหัวลุกขนหัวพองเกิดขึ้น เฉยอยู่ ไม่ต้องตกใจ ภาวนาพุทโธๆๆ

เมื่อพุทโธหายไป จิตไปนิ่ง ว่าง สว่างเฉยๆ ทำอย่างไร รู้เฉยอยู่ อย่าไปแตะต้อง ถ้าว่างก็ปล่อยให้ว่าง เฉยก็ปล่อยให้เฉยอยู่อย่างนั้น อย่าไปสร้างความคิดใดๆขึ้นมา ประคองจิตให้รู้อยู่ที่ว่าง ถ้าจิตคิดขึ้นมาในขณะนั้นปล่อยให้คิดไป แต่ต้องทำสติตามรู้ ถ้าหยุดก็รู้อยู่เฉยๆ ถ้าคิดก็กำหนดรู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปนึกคิดอะไร ไปเอะใจอะไร ขณะภาวนาอยู่ อะไรเกิดขึ้นให้รู้เฉยอยู่ อย่าไปตกใจอะไรทั้งสิ้น

ถ้าลมหายใจรู้สึกว่าแรงขึ้น รู้เฉยอยู่ ถ้าลมหายใจแผ่วๆ จะหายขาดไป ให้กำหนดรู้เฉยอยู่เท่านั้น ถ้าลมหายใจขาดไปจริงๆ ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้เฉยอยู่ ถ้าลมหายใจขาดหายไปแสดงว่าจิตเข้าสู่ความสงบ เมื่อจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว กายก็หายไป ลมหายใจก็หายไป จิตก็จะได้แต่นิ่ง ว่าง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน จิตรู้อยู่ที่จิตมีแต่จิตดวงเดียวเท่านั้น แสดงว่าจิตสงบเข้าสู่สมาธิ

จิตที่ภาวนาแล้วเป็น อุปจารสมาธิ มีความสงบสว่าง มีปีติ มีความสุข และรู้สึกว่ากายยังมีอยู่ แต่ถ้าจิตสงบละเอียดลงไปถึงตัวหาย กายไม่มี มีแต่จิตรู้ ตื่นเบิกบาน สว่าง ลอยเด่น เหลือแต่จิตดวงเดียว เรียกว่าจิตเข้าสู่ อัปปนาสมาธิ ได้แต่รู้ตื่น เบิกบาน กายหายไปหมดแล้ว

ใครยังทำไม่ได้ถึงขนาดนี้ก็ไม่ต้องตกใจ ก็พยายามฝึกหัดให้จิตมีสติรู้อยู่กับอารมณ์ในปัจจุบัน ทั้งอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็น อารมณ์จิต ให้สติรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ทุกลมหายใจ ในขณะที่เรานั่งบริกรรมภาวนา ก็ให้ปฏิบัติตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิ ก็ให้มีสติอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เพราะเป็นอุบายวิธีที่จะน้อมเอาธรรมมะมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้

ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะนำเอาธรรมมะมาให้เป็นประโยชน์สุขแก่จิตใจได้ คำตอบ คือ

๑.ให้มีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
๒.ฝึกสมาธิ ให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่ อันเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน
๓.สร้างสติสัมปชัญญะให้รู้พร้อมในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ

ในขณะที่มีโอกาสนั่งสมาธิ ก็ให้ภาวนาพุทโธบ้าง สัมมาอรหังบ้าง ยุบหนอพองหนอบ้าง ตามที่ตนถนัด เพื่อให้จิตมีสมาธิ มีปีติ มีความสุข อุบายวิธีก็อยู่ตรงนี้ คือ

๑.ให้มีศีล ให้รักษาศีลให้ได้อย่างต่ำศีล ๕
๒.ให้มีสมาธิ ความมั่นใจในการที่จะสร้างความดีให้เกิดขึ้น
๓.ให้เจริญสติ รู้อยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน รับ ประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
เป็นอุบายวิธีให้เกิดปัญญา แล้วเราจะได้มีปัญญา แก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

ศีลที่เรารักษาให้บริสุทธิ์แล้ว ความมั่นใจที่เราสร้างขึ้นให้สมบูรณ์ในจิตของเราแล้ว ปัญญาคือตัวสติสัมปชัญญะ ให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่อบรมแล้ว ฝึกฝนแล้ว ทั้ง ๓ อย่างนี้จะรวมพลังเป็นหนึ่ง เรียก เอกายโนมัคโค ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นหนึ่ง เรียก เอกายนมรรค เป็นหนทางที่ปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมได้เองโดยอัตโนมัติ ศีลบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น ปัญญา ความเห็นบริสุทธิ์ คือ สัมมาทิฏฐิ เมื่อเราอบรมแล้ว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นตัวปุญญาภิสังขาร คอยปรุงแต่งจิตของเราให้ปฏิวัติมีแนวโน้มไปทางบุญทางกุศล ทางความดีความงาม ซึ่งเป็นการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ได้แก่

สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี
อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง
ญายะปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริง
สามีจิปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง
นี่คือข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดคุณธรรม พุทโธ พระพุทธเจ้า คือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เมื่อฝึกฝนอบรมแล้วมีพลังแก่กล้า วิ่งสู่จิตใจไปประดิษฐานตั้งมั่นอยู่ในจิต กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เกิดขึ้นในจิต จิตถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งอย่างแน่นอน ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้

พุทโธ พระพุทธเจ้า คือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เมื่อฝึกฝนอบรมแล้วมีพลังแก่กล้า วิ่งสู่จิตใจไปประดิษฐานตั้งมั่นอยู่ในจิต กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เกิดขึ้นในจิต จิตถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งอย่างแน่นอน ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้