เรียนกรรมฐานเพื่ออะไร ตอน 3

เวลาปกติ ไม่เจ็บป่วยก็ทราบว่าธาตุขันธ์เป็นปกติเวลาแสดงความแปรปรวนขึ้นมาในลักษณะต่างๆก็ทราบว่าธาตุขันธ์แปรปรวน แต่ใจอย่าให้แปรปรวนไปตาม เพราะใจไม่มีโรคชนิดนั้น อย่าหาเรื่องโรค คืออารมณ์ที่เกี่ยวกับร่างกายแปรปรวนนั้นเข้ามาแทรกสิงใจหรือเสียดแทงใจให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา เป็นโรคภายในใจอีกต่อหนึ่ง ซึ่งสำคัญและหนักมากกว่าโรคทางกาย

นี่คือวิธีการเรียนเรื่องของตัว ปฎิบัติต่อตัวเอง ปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องตามหลักธรรมจะไม่เดือดร้อนวุ่นวายมีความสงบสุขอยู่ภายใน แม้โรคจะเกิดขึ้นในกายมากน้อยใจก็ไม่เป็นทุกข์ไปด้วย เพราะเรื่องความตายนั้นมอบให้ธาตุขันธ์ไปเสีย เรื่องความเป็นอยู่ของขันธ์ ก็มอบให้เป็นอยู่ธรรมดาของเขา ไม่ขัดขืนปีนเกลียวคติธรรมดาจะฝืนธรรม แม้ขันธ์เป็นอยู่ ก็เป็นอยู่เพื่อจะไป เพราะมีความแปรสภาพตามหลักธรรมชาติของเขาอยู่ตลอดเวลานาที ไม่มีพักกลางวัน กลางคืน ยืนเดิน นั่ง นอนแปรอยู่อย่างนั้น เมื่อแปรไปมากก็แสดงอาการวิกลขึ้นมาให้เราทราบ ทุกระยะ เช่น เจ็บท้อง ปวดศีรษะ จับไข้ได้พยาธิต่างๆ การกำหนดรู้ขันธ์และอาการของขันธ์ ที่แสดงออกหรือไม่แสดงออก เรียกว่า “เรียนกรรมฐาน”

“กรรม” แปลว่าการกระทำ “ฐาน” คือที่ตั้งแห่งงาน คือ ทำงานภายในกายในใจนี้ งานนี้เป็นงานใหญ่โตมาก การรื้อภพ รื้อชาติ รื้อกิเลสตัณหา อาสวะ ที่เป็นข้าศึกแห่งใจและเป็นเครื่องส่งเสริม “วัฏฎะ” ให้ยืดยาวจะต้องรื้อที่กายและจิตนี้ จะต้องรื้อด้วยงานนี้ คือ การทำกรรมฐาน ดังท่านว่า “เกสา โลมา นขา ทันตาตะโจ” เป็นต้น จิตมันยืดถือสิ่งเหล่านี้เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นชีวิตจิตใจจริงๆ แต่เริ่มเกิดเป็นภพเป็นชาติมา เส้นดำๆ ยาวๆ มันก็ว่า “ตน” เสีย อะไรอยู่ในนี้ถือว่าเป็นตนเสียสิ้น ผมก็ว่าเป็นตน ขน เล็บ ฟัน ก็ว่าเป็นตน ทุกสิ่งทุกอย่างที่สกปรกโสมมขนาดไหน ซึ่งมีอยู่ในกายนี้ ก็ว่าเป็นตน เป็นตนไปเสียหมด เพราะฉะนั้นตัวคนๆ หนึ่งจึงเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสมม เมื่อสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวของเราอย่างแน่นหนาแล้ว เราจะหาความสะอาดในจิตใจได้อย่างไร เพราะเต็มไปด้วยความสกปรกแห่งการยึดการถือ?

เพื่อความสะอาดภายในใจ จำต้องอาศัยสิ่งสกปรกโสมมเหล่านี้เป็น “ปุ๋ย” เป็นอาหารหล่อเลี้ยงธรรม คือ พิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญา ให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนไปโดยลำดับว่า “นี่กองทุกขัง นี่กองอนิจจัง นี่กองอนัตตา” ต่างหาก มิใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใครทั้งสิ้นเป็นแต่เพียงอาศัยกันชั่วระยะกาลเท่านั้น พอถึงกาลผ่านไปของเขา

นี่เรียกว่า เรียนเพื่อรู้ เพื่อละ เพื่อเอาชนะกิเลสหรือเอาชนะตัวเอง เนื่องจากใจเคยถือกิเลสเป็นตัวเป็นเรา เป็นของเรามานาน

การพิจารณาร่างกายส่วนต่างๆ โดยสม่ำเสมอจิตก็มีหลักยึดและเป็นวิหารธรรมแก่ตัวเอง คือมีความร่มเย็น มีความสงบสบาย ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่เห่อเหิมไม่เดือดร้อนวุ่นวายไปตามกระแสโลก ที่พัดผันอยู่ตลอดเวลา

เวลากุลบุตรจะบวชพระ ทำไมอุปัชฌาย์ทั้งหลายจึงสอน “กรรมฐานห้า” ให้ทุกรายไป? แม้พระอุปัชฌาย์นั้นๆ จะไม่สนใจกับกรรมฐาน แต่กฎข้อบังคับซึ่ง เป็นหลักตายตัวของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ ในขณะที่กุลบุตรทั้งหลายบวชพระบวชเณรต้องสอนกรรมฐาน ๕ ให้ละเว้นกรรมฐานเสียมิได้ ถึงระยะที่จะต้องสอนกรรมฐานก็ต้องสอน “เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นขา โลมา เกสา” สอนอนุโลมให้พิจารณาแบบอนุโลมและพิจารณาแบบปฏิโลม ถอยไปถอยมา เพื่อให้เกิดความชำนิชำนาญให้เกิดความเข้าใจอันถูกต้อง ละเอียดลออไปโดยลำดับๆ

อุปัชฌาย์ทั้งหลาย เวลาบวชกุลบุตรต้องสอนกรรมฐานนี่ให้เพราะ นี่เป็นเครื่องมือ ที่ถือเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญในการถอดถอน กิเลส ตัณหา อาสวะ อุปาทานทั้งหลายออกได้ ท่านว่า “ตจ ปัญจกกรรมฐาน” กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า ท่านจึงครอบว่าเป็นที่ห้า เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ ตลอดอาการ ๓๒ มีหนังหุ้มห่อไว้ ตะโจคือ หนัง จึงเป็นที่รวมกรรมฐานทั้งหลาย

เมื่อบอกกรรมฐานทั้ง ๕ แล้ว ท่านก็อธิบายที่เกิดที่อยู่ ตลอดความแปรสภาพของกรรมฐานนั้นโดยละเอียด เพื่อผู้เริ่มบวชใหม่จะได้เข้าใจในกรรมฐานบทนั้น แล้วไปปฏิบัติตามจนรู้แจ้งเห็นจริงตามนั้นโดยลำดับแห่งการพิจารณาโดยสม่ำเสมอ ใจย่อมไม่ตื่นเต้น ไม่เห่อเหิมเพราะรู้ตามความจริงทั้งข้างนอก ข้างใน เนื่องจากเป็นสภาพเหมือนๆ กัน

การพิจารณากรรมฐานดังกล่าว ย่อมกำจัดสิ่งเป็นภัยได้หลายอย่าง อย่างน้อยก็ระงับภัยให้เบาลง เช่น เคยกลัวผี กลัวเปรต กลัวเสือ กลัวช้าง กลัวงู ไม่มีขอบเขตเหตุผลก็ พยายามบังคับจิตใจ ให้ตะล่อมเข้าวงเหตุผลได้ ดังคนเคยกลัวผีเป็นต้น ก็ซักถามผู้ กำลังกลัวผีว่า “ผีที่ไหนมี นอกจากความคิดความปรุงแต่งของจิตคิดหลอกตัวเองต่างหากผีก็ผีซิ นี่คือป่าช้าอยู่แล้วในตัวเรานี้ร่างกายของเราก็ถูกบรรจุอะไรเข้าไว้ ไม่รู้กี่ซากกี่ศพสัตว์กี่ประเภทที่บรรจุเข้าไว้ในป่าช้าผีดิบอันนี้รู้อย่างนี้แล้ว จะไปตื่นเต้นหลงใหลกับป่าช้าที่ไหนอีก? ออกจากนี่ก็เดินเข้าไปเตาไฟ เตาไฟในครัว มันเป็นที่เผาอะไรบ้าง? ดูเอาในครัว ซึ่งเป็นที่ปรุงอาหารชนิดต่างๆ เราไม่เห็นกลัว แต่ซากผีภายนอกแล้ว ส่วนซากเป็ด ซากไก่ซากปู ซากปลาและซากสัตว์ชนิดต่างๆ คณนาไม่จบที่นำเข้าไปเผา ไปต้มแกง อยู่ในครัวไฟ ไม่เห็นกลัวกัน ทั้งนี้เพราะความเข้าใจมันไขว้เขวไปต่างๆ ที่ให้เกิดเป็นภัยแก่ตัวเอง เช่น ความกลัวผีเป็นต้น อ่านต่อ...