ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ ตอน 3

ทีนี้พูดถึงเรื่องภาวนา การภาวนา มีสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ส่วนใหญ่เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องภาวนา อาตมามาเทศน์ที่นี่ดูเหมือนหลายครั้งแล้ว และส่วนใหญ่ก็พูดถึงเรื่องศีลเรื่องการภาวนา อันนี้ก็จะต้องพูดถึงเรื่องการภาวนาอีก เพราะว่ามีหลายๆ ท่านมาถามถึงเรื่องการภาวนา การภาวนานั้นหมายถึงการอบรมบ่มนิสัย ถ้าพูดถึงการอบรมบ่มนิสัยแล้ว แม้แต่การให้ทาน ก็คือการภาวนาอบรมใจให้เกิดศรัทธาในการให้ทาน รักษาศีล ก็คือการภาวนาอบรมใจให้เกิดศรัทธาในการรักษาศีล ทีนี้ทำสมาธิก็คือภาวนา เป็นการอบรมจิตใจให้คุ้นต่อการภาวนา เพราะฉะนั้น ภาวนานี่จึงมีความหมายกว้าง หมายถึงอบรมบ่มนิสัยให้คุ้นเคยต่อความดีจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญ อบรมนิสัยให้เกิดมีศรัทธาในการให้ทาน ให้เกิดมีศรัทธาในการรักษาศีล ให้เกิดมีศรัทธาในการทำสมาธิ อยู่ในกฎเกณฑ์แห่งการภาวนา

มาพูดถึงเรื่องการทำสมาธิ สมาธิคือการฝึกใจให้เกิดความมั่นคง มั่นคงต่อสิ่งที่เราเป็นอยู่ มั่นคงต่อความเป็นมนุษย์ มั่นคงต่อความเป็นผู้มีหน้าที่ มั่นคงต่อความเป็นของตนเอง ความมั่นคงอื่นๆ จะไม่พูดถึง จะพูดถึงเฉพาะความมั่นคงของพุทธบริษัท พุทธบริษัทมีหน้าที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อันนี้เป็นหน้าที่โดยตรง อีกสายหนึ่ง พุทธบริษัทมีหน้าที่เรียนรู้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็มีหน้าที่ละความชั่ว ประพฤติความดี และทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด อันนี้คือหน้าที่ของเรา เรามาฟัง มาเรียนธรรม เพื่อให้เกิดสติปัญญา ความมั่นคงต่อการทำความดีดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น

หลักของการทำความดีเฉพาะในเรื่องการทำสมาธิ มีอยู่ ๒ อย่าง สองอย่างนี้แหละเถียงกันอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน เดี๋ยวก็อันนี้วิปัสสนา อันนั้นสมถะ ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้ฟังว่า คำว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นชื่อของวิธีการ ที่เราเคยพูดกันมาแล้ว ในการมาภาวนาหรือการทำสมาธิ ถ้าเราท่องมนต์ พุทโธ พุทโธ สัมมา-อะระหัง ยุบหนอ-พองหนอ สมาธิอันใดที่เรานั่งท่องมนต์เหมือนกับอึ่งหรือคางคกมันทำคางมันวับ ๆ ๆ ๆ ว่ามันท่องมนต์ เมื่อเรามาท่องมนต์ พุทโธ พุทโธ ยุบหนอ-พองหนอ สัมมาอะระหัง อยู่นั่น อันนี้ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามแบบสมถวิธี เรียกว่าสมถกรรมฐาน เอากันย่อ ๆ อย่างนี้ กรรมฐานที่นั่งท่องมนต์บริกรรมอยู่นั่น พุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นสมถกรรมฐาน ส่วนกรรมฐานที่นั่งคิด ต้องใช้ความคิด คิดเรื่องธรรมะ ว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร ธรรมะคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร คิดไปๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบขึ้นมาได้ อันนี้ชื่อว่าปฏิบัติแบบวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าหากว่าใครมีความคิดมากๆ ฝึกหัดจิตให้มีสติตามรู้อารมณ์จิตของตัวเองเรื่อยไป มันจะคิดไปไหน ขึ้นเหนือล่องใต้ เอ้า! ปล่อยให้คิดไป แล้วตามรู้ๆๆๆ ไป อันนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติตามวิธีของวิปัสสนา พอนั่งสมาธิจิตสว่างลงไปแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นภูตผีปีศาจ เห็นวิญญาณ เห็นรูปภาพต่าง ๆ แล้วไปสำคัญมั่นหมายว่าเจ้ากรรมนายเวรมาทวงบุญทวงคุณอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าหากมีสติตามรู้สิ่งเหล่านี้ไม่หลงติด กำหนดหมายสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ภาพนิมิตนั้นก็เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เมื่อจิตจะสงบลงไป มันก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน การใช้สติตามรู้ความคิด เมื่อจิตจะสงบก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ต่างแต่วิธีการเท่านั้น ในเมื่อสมาธิเกิดแล้วมันเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง เพราะฉะนั้น อย่ามัวไปเถียงกัน เพียงแค่วิธีการเท่านั้น สมาธิเป็นสัจธรรมของจริง ใครจะไปรู้ไปเห็นแตกต่างกันไม่ได้ ถ้าหากรู้เห็นแตกต่างกันก็เรียกว่ารู้ไม่จริง เป็นแต่เพียงนึกเดาเอาเอง ถ้าเราภาวนายุบหนอ-พองหนอ จิตสงบ ก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ สัมมาอะระหัง สงบแล้วก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ พุทโธก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ

สมาธิต้องประกอบด้วยองค์ คือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกก็คือความคิดถึงอารมณ์ จิตคิดเอง เช่นอย่างมันรู้ มันรู้ขึ้นมาเอง อย่างตอนแรกภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่ พอจิตสงบลงไปหน่อย แม้ไม่ได้ตั้งใจจะว่าพุทโธ จิตจะท่องพุทโธเอง อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้บางทีมันทิ้งพุทโธแล้ว มันไปว่างอยู่นิดหนึ่ง แล้วความคิดเกิดฟุ้งๆ ขึ้นมา อันนี้เรียกว่าตัววิตกเกิดขึ้น สติรู้พร้อมอยู่ที่ความคิด ความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะจิตปัจจุบันเรียกว่าวิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจารก็ได้องค์ฌานที่หนึ่งกับองค์ฌานที่สอง ความรู้ก็เกิดขึ้น สติก็ไล่ดู ๆ ดูกันตลอดเวลา แล้วในเมื่อจิตรู้ซึ้งเห็นจริงไปบ้างตามสมควร ก็เกิดปีติ ขนหัวลุก ขนหัวพอง ซึมซาบ แล้วก็มีความสุข มีความสงบ นี่ มันจะประกอบด้วยองค์ของมันอย่างนี้ ฉะนั้น ใครจะปฏิบัติอย่างไหนแบบใดก็ตาม เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิจริงๆ แล้ว จะต้องประกอบด้วยองค์ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ด้วยกันทั้งนั้นไม่มีแตกต่าง

เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายอย่าไปสงสัย ธรรมะอันใดที่เกิดขึ้นในใจของเรานี่ มันแก้ปัญหาหัวใจได้ นั่นแหละมันถูกต้อง ถ้าภาวนาพุทโธๆ ทำให้ใจสงบเยือกเย็น หายโลภ หายโกรธ หายหลง มีสติสัมปชัญญะมั่นคงพอสมควร มีความหมั่นความขยัน รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานและครอบครัวไม่เบื่อหน่าย ทำให้สวัสดิภาพของครอบครัวดีขึ้น การงานของเราดีขึ้น อะไรทำนองนี้ก็แปลว่าสมาธิของเราแก้ปัญหาหัวใจได้ อุบายวิธีอันใดที่แก้หัวใจของเราให้มีแนวโน้มไปในทางที่ให้เกิดมีความสุขได้ เราอย่าไปเชื่อใครที่ไหน ก็เชื่อตัวเองซิ อะไรที่เราปฏิบัติแล้วมันได้ผล แม้ถ้าใครมาบอกว่าปฏิบัติอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง ถูกไม่ถูกไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ว่า ในเมื่อข้าพเจ้าทำได้แล้ว มันทำให้ใจของข้าพเจ้ามีความสุข มีความสงบ ครอบครัวก็สงบราบรื่นไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนอย่างแต่ก่อน ความเห็นก็ลงรอยกัน ว่าอะไรว่าตามกัน นั่งสมาธิก็นั่งด้วยกัน ไปวัดไปด้วยกัน รักษาศีลก็รักษาด้วยกัน สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องภายในครอบครัวและในใจตัวเองได้ นั่นแหละเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

ตำราจะเขียนไว้อย่างไรก็ช่างตำรา จะให้เทศน์ว่าอย่างไรก็ช่างใคร ถ้าอุบายวิธีอันไหนสามารถจะแก้ไขปัญหาจิตใจได้ เป็นการถูกต้องทั้งนั้น ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า อันใดที่เราทำลงไป แล้วไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง นั่นแหละ ศีลตัวนั้นแหละเป็นเครื่องวัดภาวนาอย่างนี้มันผิดหรือมันถูก ถ้าภาวนาแล้วใจนึกอยากจะไปด่า ไปฆ่า ไปตีคนอยู่ นั่นไม่ถูก แต่ถ้าภาวนาแล้วใจเลิกฆ่า เลิกด่า เลิกตีได้ นั่นถูกต้อง นี่ว่ากันเอาอย่างนี้ ไม่ต้องไปยกตำราที่ไหนมาว่ากัน อ่านต่อ...