ปัญหาของชาวพุทธ ตอน ๒

ไม่ทิ้งวิธีการ แต่ไม่ควรยึดติด

ทีนี้เวลาที่เราทำสมาธิเป็นวิธีการ แต่วิธีการเป็นสิ่งที่เราไม่ควรทอดทิ้ง เพราะเป็นการปลูกฝังและแสดงความเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่เราก็ไม่ควรจะไปยึดวิธีการมากเกินไป วิธีการที่เราจะทำ เช่น ไหว้พระสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ นอนกำหนดจิตสีหไสยาสน์ อันนั้นเป็นวิธีการ เป็นส่วนประกอบ แต่ที่แน่ๆ ที่สุดก็คือว่า สมาธิคือกิริยาของจิต เป็นเรื่องของจิตโดยตรง หลังจากที่เราไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตาเสร็จ นั่งหลับตา ขัดสมาธิตามแบบ อันนี้เป็นการแสดงความเคารพต่อวิธีการ แต่เราไม่ได้ยึดคือไม่ได้หมายความว่าการทำสมาธิต้องนั่งขัดสมาธิ หลับตาตามวิธีการนั้น ๆ เสมอไป

สมาธิในวิธีการและสภาวจิตในสมาธิ

เมื่อเราจำเป็นจะต้องทำตามวิธีการ เพื่อแสดงความเคารพต่อระเบียบการของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเลียนแบบของท่าน เรากำหนดรู้ลงที่จิต แล้วให้นึกถึงคำบริกรรมภาวนา เช่น เราจะเอาคำบริกรรมภาวนา พุทโธ เป็นต้น หรือคำอื่นๆ ก็ได้ ให้นึกว่าบริกรรมภาวนานั้นคือมนตราที่เราจะท่องไว้ในจิต แล้วก็นั่งหลับตาท่องมนต์นั้นอยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่เราท่องมนต์นั้น ถ้าจิตมีอาการสงบ ข้อสังเกตก็คือกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ กายสงบหมายถึงสงบจากทุกขเวทนาปวดเมื่อยต่างๆ จิตสงบหมายถึงสงบจากความฟุ้งซ่านรำคาญอื่นๆ แล้วก็มีปีติ มีความสุข แล้วก็มีอาการสงบลงไป จนกระทั่งปล่อยวาง วิตก วิจาร ปีติ สุข จนถึงเอกัคคตา ยังเหลือจิตสงบ นิ่ง ว่าง สว่าง อยู่อย่างเดียว มีความวางเฉยเป็นลักษณะ แล้วก็รู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว ก็ปล่อยให้จิตเป็นไปจนถึงขั้นสุดของเขา

เมื่อจิตไปสงบยังยั้งอยู่ในความสงบนิ่งเพียงชั่วขณะ หรือนานก็ตาม เวลาจิตถอนออกจากสมาธิ มาสัมผัสรู้ว่ามีกาย จิตย่อมเกิดความคิด

เมื่อจิตเกิดความคิด อย่าพึ่งด่วนออกจากที่นั่งสมาธิ ให้นั่งกำหนดจิตทำสติตามรู้ความคิดไปอีก จิตคิดอะไรขึ้นมาก็ทำสติรู้ สักแต่ว่ารู้ว่าเรามีความคิดอย่างเดียว อย่าไปตั้งใจช่วยคิด ปล่อยให้จิตเขาคิดไปเอง หน้าที่ของเรามีแต่ตามรู้อย่างเดียว อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง

การตามรู้ความคิดทำให้รู้ความเป็นจริงของจิต

แต่ถ้าหากว่าในขณะที่เราท่องมนต์ คือ พุทโธๆๆ อยู่ ถ้าเผลอ จิตไปคิดถึงสิ่งอื่นก็อย่าไปห้าม และไม่ต้องเอากลับไปหาพุทโธอีก ปล่อยให้เขาคิดไป หน้าที่ของเรา ทำสติตามรู้ไปเช่นเดิมเพราะการบริกรรมภาวนาพุทโธก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ

เมื่อเราตั้งใจภาวนาพุทโธ เราต้องทำหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือ หนึ่ง หาเครื่องรู้มาให้จิต หาเครื่องระลึกมาให้สติ คือ พุทโธ ในเมื่อได้พุทโธมาแล้ว เรายังต้องตั้งอกตั้งใจควบคุมจิตของเราให้นึกพุทโธ เป็นอันว่าเราทำหน้าที่ถึง ๒ อย่าง

แต่ถ้าจิตปล่อยวางพุทโธแล้วเขาไปคิดอะไรขึ้นมาเอง ถ้าเราทำสติตามรู้ความคิดนั้น เราก็มีหน้าที่ทำเพียงอย่างเดียว คือมีหน้าที่ทำสติตามรู้ความคิดไปเรื่อยๆ เพราะความคิดอันนั้นก็เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ คนเราเมื่อมีความคิด แต่เราทำสติตามรู้ความคิดตลอดเวลา โอกาสที่จิตมันจะสงบเป็นสมาธิย่อมมีได้

ถ้าหากว่าเราตามความคิดไป ถ้าปรากฏว่า กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ก็ส่อแสดงให้เห็นว่าจิตของเรากำลังเริ่มสงบแล้ว ถ้าหากว่าจิตไปนิ่งว่างอยู่เฉยๆ ไม่มีความคิด ผู้ปฏิบัติควรจะได้ประคองจิตให้นิ่งอยู่เฉยๆ อย่าไปสร้างความคิดขึ้นมาอีก เป็นแต่เพียงตั้งใจจดจ้องคอยดูเท่านั้น เมื่อความคิดเกิดขึ้นมาอีก เราก็ทำสติตามรู้ไปอีก ถ้าหากว่าจิตมีความสงบ ก็จะเกิดปีติ เกิดความสุข และเป็นเอกัคคตา ในที่สุดจิตจะสงบนิ่งลงไปเป็นสมาธิขั้นละเอียดถึงอัปปนาสมาธิดังที่กล่าวแล้ว

เมื่อจิตสงบลงไปเป็นอัปปนาสมาธิ จิตจะยับยั้งอยู่ในสมาธิขั้นนี้ จะเพียงชั่วครู่ก็ตาม หรือเป็นเวลานานก็ตาม ถ้าจิตถอนออกจากสมาธิแล้วมาสัมผัสรู้ว่ามีกาย ความคิดย่อมเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็ไม่ควรจะออกจากสมาธิทันที จงทำสติตามรู้ความคิดไปอีก เพราะความคิดอันนั้นเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ ในเมื่อจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ความสงบก็ย่อมเกิดขึ้นมาอีก ถึงแม้ว่าความสงบจะไม่เกิดขึ้น แต่ผู้ภาวนาจะได้รู้ข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นภายในจิต เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้เกิดกิเลสและอารมณ์ เมื่อจิตคิดถึงอะไร ถ้าเกิดความยินดีก็เป็นเรื่องของกิเลส ความยินร้ายก็เป็นเรื่องของกิเลส อ่านต่อ...