วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร

โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ต่อไปนี้ ตั้งใจอธิษฐานทำสมาธิภาวนา อุกาสะ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา เพื่อปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เพื่อให้จิตของข้าพเจ้าเป็นสมาธิ สติ ภวังค์ รู้ธรรม เห็นธรรม ตามความเป็นจริงในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการเทอญ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆ ๆ แล้วสำรวมเอาคำว่า พุทโธ เพียงคำเดียว พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออก หรือถ้าการกำหนดลมมันลำบาก ก็นึก พุทโธ ๆ ๆ ๆ เพียงคำเดียว ทำจิตให้แน่วแน่ว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในจิตของเรา เราจะกำหนดเอาจิตของเรากับพุทโธให้อยู่ด้วยกัน ไม่พรากจากกัน ในชั้นต้นๆ ให้พยายามบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ ๆ นึกพุทโธด้วยความรู้สึกเบาๆ อย่าไปข่มจิต อย่าไปบังคับจิต แต่ว่านึกพุทโธไม่หยุด ผู้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก พร้อมกับพุทโธ พุท ลมเข้า โธ ลมออก กำหนดรู้พร้อมกันอยู่อย่างนี้ แล้วไม่ต้องนึกว่า เมื่อไรจิตจะสงบ เมื่อไรจิตจะสว่าง เมื่อไรจะรู้โน่นเห็นนี่ ไม่ต้องไปนึกทั้งนั้น หน้าที่เพียงแค่นึกบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ ๆๆ อยู่ในจิตอย่างเดียว จิตจะสงบให้เป็นเรื่องของจิตเอง จิตจะไม่สงบก็ให้เป็นเรื่องของจิตเอง ถ้าหากในขณะใดจิตยังนึกพุทโธ ๆ ๆ ๆ อยู่ ก็ปล่อยให้นึกอยู่อย่างนั้น ถ้าขณะใดนึกพุทโธไป จิตหยุดพุทโธไป นิ่ง ว่างอยู่เฉยๆ แต่รู้สึกกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ คือสงบจากทุกขเวทนา หายปวด หายเมื่อย หายมึน แม้จิตจะนิ่งไปอยู่เฉยๆ ก็ปล่อยให้นิ่งอยู่อย่างนั้น หลังจากนั้น ถ้าหากว่าจิตหยุดนิ่งไปนึกถึงสิ่งใด ปล่อยให้จิตคิดไป แต่ให้มีสติตามรู้เรื่อยไป ธรรมชาติของจิต ถ้ามีความคิด ถ้าเราตั้งใจกำหนดรู้เขาจะหยุดคิด แล้วเกิดความว่างขึ้นมา ให้กำหนดรู้ที่ความว่าง ถ้าคิดรู้อยู่ที่ความคิดสลับกันไปอย่างนี้ อันนี้เป็นการภาวนาในขั้นต้น

เข้าใจว่านักปฏิบัติของเรายังไม่ได้สมาธิที่แน่นอน เท่าที่พิจารณาดูความเป็นของนักปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ผู้ที่ทำจิตให้เป็นสมาธิได้จริงๆ นี่มีน้อย สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะนักปฏิบัติทั้งหลายไปชิ่งสุกก่อนห่าม หรือรู้ตามสัญญามากกว่าความเป็นจริง ไปสำคัญว่าเรามีความรู้เรามีความเห็น แต่มันเป็นความคิดรู้เอาโดยสัญญา เป็นแต่เพียงสติปัญญาธรรมดา แต่ยังไม่ใช่ปัญญาในสมาธิ ปัญญาในสมาธิหมายถึงความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตมีความสงบ มันเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาเองด้วยพลังของจิตที่มีสมาธิ มีสติ และมีปัญญา โดยธรรมชาติของการประชุมพร้อมแห่งอริยมรรค ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมลงที่จิตเป็นหนึ่ง หนึ่งคือตัวปกติที่รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ภายในจิตของนักภาวนานั่นเอง สมาธิที่เป็นเองโดยธรรมชาติของจิตที่มีพลังงานพอที่จะเป็นสมาธิได้ เราจะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม สมาธิเกิดขึ้นได้ทุกขณะ บางครั้งมีเสียงอันเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม มากระทบวิ่งเข้าไปสู่จิต แทนที่จิตจะเข้าไปวุ่นวายทำความดีใจเสียใจกับสิ่งที่มากระทบ แต่จิตจะวิ่งเข้าไปกำหนดรู้ที่จิต แล้วพิจารณาเหตุผลแห่งอารมณ์นั้น ๆ แล้วก็ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบ นิ่ง ว่าง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน นี่ถ้าสมาธิมีอยู่โดยปกติแล้วจะเป็นอย่างนี้

ผู้ที่ทำสมาธิภาวนาได้สมาธิ ได้สติ แม้แต่เพียงได้อุปจารสมาธิ หรือมีสติกำหนดรู้ เตรียมพร้อมอยู่ที่จิตตลอดเวลา เมื่อมีอารมณ์อันใดผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สติสัมปชัญญะตัวนี้จะทำหน้าที่ของเขาทันที แล้วสติตัวนี้จะคอยระมัดระวังอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ถ้าเวลาอยู่นิ่ง ๆ คนเดียว จิตจะวิ่งเข้าไปสู่สมาธิ ค้นคว้าพิจารณาอยู่ภายในกาย ในจิต แต่ถ้ามีสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ผ่านเข้ามาในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตจะมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อก้าวลงบันไดไปสู่สังคมของโลก สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การก้าวเดิน เวลาหยุดเดิน ยืน สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การยืน เวลานั่งลง สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การนั่ง เวลานอน สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การนอน เวลารับประทาน สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การรับประทาน เวลาดื่ม สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การดื่ม เวลาทำอะไร สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การทำ เวลาพูด สติสัมปชัญญะจะกำหนดรู้อยู่ที่การพูด เวลาคิด สติสัมปชัญญะจะตามรู้ความคิดตลอดเวลา เมื่อสติกำหนดตามรู้สิ่งเหล่านี้อยู่ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ มีปัญหาข้องใจอะไรเกิดขึ้น จิตจะมีสติกำหนดพิจารณาสิ่งนั้น ตั้งแต่ต้นจนปลาย จนรู้เหตุรู้ผล รู้ผลได้ผลเสียแห่งสิ่งนั้นๆ ถ้าสิ่งใดที่ทำลงไป พูดลงไป คิดลงไป มันจะมีแต่ผลเสีย สติสัมปชัญญะจะคอยกระตุ้นเตือนบอกกับตัวเองว่า อย่าๆ ๆ ถ้าสิ่งใดจะเป็นคุณเป็นประโยชน์เป็นทางเพิ่มคุณธรรมที่จะปฏิวัติจิตให้ไปสู่มรรคผลนิพพาน สติสัมปชัญญะจะกระตุ้นเตือนให้รีบเร่งหมั่นขยัน นี่พึงสังเกตความเป็นไปของจิตของตนอย่างนี้

เมื่อเรามีการเกี่ยวข้องกับคนอื่น เรามีความหวังดีต่อคนอื่น อยากจะให้เขาประพฤติดีปฏิบัติชอบ เมื่อเราให้คำแนะนำตักเตือนเขา ถ้าเขายอมรับ จิตของเราจะทำหน้าที่ให้การอบรมตักเตือนสั่งสอนเรื่อยไป ด้วยความเมตตาปรานี ด้วยความหวังดี ที่จะช่วยพยุงการประพฤติกาย วาจา และใจให้มีระดับสูงขึ้น เป็นการสงเคราะห์กันด้วยธรรม เป็นการแสดงความเมตตากันโดยธรรม แต่ผู้ใดไม่ยอมรับฟังโอวาทคำสั่งสอน จิตของผู้รู้พิจารณาแล้วว่าทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากจะทำให้เกิดมีการร้าวรานแตกความสามัคคีซึ่งกันและกัน ก็จะหยุดเสีย ผู้ที่มีสมาธิมีสติปัญญาจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนี่ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของผู้ปฏิบัติเอง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยกล่าวอ้างว่า “ฉันจะหยิบยื่นมรรคผลนิพพานให้เธอ เธอจงรับเอาด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง” ไม่เคยมีคำกล่าวไว้ที่ไหน แต่พระองค์จะกล่าวว่า “ตถาคตา” พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก บอกทางบุญ ทางกุศล ทางบุญ ทางบาป ทำสิ่งนี้เป็นบาป ทำสิ่งนี้เป็นบุญ กำหนดทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก จิตย่อมได้สมาธิ ได้สติปัญญา รู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริง แต่สิ่งเหล่านั้น เราตถาคตหยิบยื่นให้เธอไม่ได้ เธอต้องสละกำลังกายกำลังใจประพฤติปฏิบัติแบบวีรบุรุษ กล้าสละชีวิตเข้าสู่ณรงค์สงครามโดยไม่ย่อท้อ และไม่มีความหวาดเกรงศาสตราอภินิหารของข้าศึกแม้แต่ประการใด อ่านต่อ...