หน้าหลัก ชีวประวัติ หนังสือและเทป ฐานิโยธรรม วัดป่าสาลวัน บูรพาจารย์เจดีย์ ลิงค์เวบศาสนา เกี่ยวกับเวบไซต์นี้
ความสำคัญของพุทธศาสนา
เราจะทำความเข้าใจว่าศาสนาของเรานั้นเจริญหรือไม่เจริญนั้น ศาสนามันเจริญอยู่ที่ไหน ศาสนามันให้ผลอะไรแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ ศาสนานั้นจะให้อะไรแก่ผู้ที่นับถือ ความหมายของศาสนาเจริญหรือเสื่อมนั้น ศาสนานั้นคือคำสอน มันเป็นธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่เรียกว่าสัจธรรมคือเป็นของจริง แต่ทีนี้ที่ท่านว่าศาสนาเจริญหรือไม่เจริญ มันเจริญอยู่ที่บุคคลหมายความว่าผู้ใดปฏิบัติ ศาสนาก็เจริญอยู่ที่ผู้นั้น ผู้ใดไม่ปฏิบัติศาสนาก็ไม่เจริญกับผู้นั้น จิตใจกายวาจาใจของใครประพฤติปฏิบัติตามคำสอน กายวาจาของผู้นั้นก็อยู่ก็เจริญก็มีความสุข แล้วก็ศาสนาก็เจริญอยู่กับบุคคลนั้น ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องความเสื่อมความเจริญในส่วนภายนอกอย่างเช่น ผลไม้บางอย่างมันก็เสื่อมไปก็มี เช่น มะม่วงบางพันธุ์มันไม่หวาน เขาไม่ปลูกต่อ ในที่สุดพันธุ์นี้มันก็เสื่อมไป หรือแม้แต่สัตว์อย่างเช่นปลายังงี้ พันธุ์นี้มันเสื่อมไป มันอยู่ไม่ได้ ไม่มีคนเลี้ยง ปลานั้นมันก็สูญพันธุ์ไป เสื่อมไป ทีนี้ศาสนามันก็เหมือนกัน ที่ว่าศาสนาเสื่อม ไม่ใช่ว่าศาสนาเสื่อม หมายถึง คนเสื่อมจากการนับถือศาสนา เสื่อมจากการประพฤติปฏิบัติตามศาสนา อันนี้คือความสำคัญว่าศาสนาเจริญหรือเสื่อม เดี๋ยวจะไปตำหนิว่าคำสอนนั้นเสื่อม หรือสัจธรรมเสื่อม ความจริงสัจธรรมนั้นมันมีอยู่ประจำโลก ผู้รู้คือพระพุทธเจ้าหรือนักปราชญ์ท่านนำความจริงเหล่านั้นมาชี้นำมาประพฤติปฏิบัติ มาชี้ว่าอันนั้นผิด อันนี้ถูก อันนั้นสมควร อันนี้ไม่สมควร
อันนั้นนักปราชญ์ท่านมีปัญญา ท่านมาชี้แจงให้เราฟัง แต่ความจริงสัจธรรมมันมีอยู่ประจำ ทีนี้จะเจริญหรือไม่เจริญมันอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ถ้าหากว่าใครปฏิบัติ ความสุขก็อยู่กับคนนั้น ความเจริญก็อยู่ที่คนนั้น สติก็อยู่ที่คนนั้น ปัญญาก็อยู่ที่คนนั้น ที่ธรรมะท่านว่าปัจจัตตัง ปัจจัตตังนี่หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นเฉพาะของบุคคลผู้ปฏิบัตินั้น หรืออีกอันหนึ่งท่านใช้คำว่า ผู้ปฏิบัตินั้นเรียกว่า สันทิฏฐิโก หมายถึงว่า อันผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นจะพึงรู้เองเห็นเอง นี่ ศาสนามันจะยืนยงอยู่ตรงนั้น คำว่ารู้เองเห็นเองหมายความว่า ถ้าสมมติว่าผลไม้ชนิดนี้ เขาว่าหวานอร่อย ผู้ที่รับประทานเท่านั้นถึงจะรู้ว่าหวานจริงหรืออร่อยจริงอย่างไรแค่ไหน ผู้ที่ไม่รับประทานก็ไม่รู้ ศาสนาที่จะเจริญหรือไม่เจริญก็อยู่ที่คนผู้ปฏิบัตินั้น อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญของศาสนาพุทธที่ท่านกล่าวไว้ เพราะศาสนาพุทธนั้นท้าทายด้วยการปฏิบัติ ที่ท่านบอกว่า สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเองนี้ก็หมายความว่าใครไม่ปฏิบัติ ก็ไม่รู้ ใครปฏิบัติคนนั้นก็รู้นี่เรียกว่าความสำคัญของคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นเป็นเพียงแต่บอกแต่กล่าว แต่ว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าให้ต้องมาปฏิบัติเอง คือท่านบอกว่าความสุข ท่านก็บอกได้ว่าเป็นความสุข แต่ความสุขจะมีหรือไม่มีนั้น ผู้นั้นต้องมาปฏิบัติถึงจะรู้ ถึงจะได้ แต่พระพุทธเจ้าไม่มีให้ใคร ความสุขไม่มีให้ สติไม่มีให้ใคร ปัญญาไม่มีให้ใคร แต่ท่านก็บอกว่าใครมาปฏิบัติก็จะมีเองสติปัญญา ใครมาปฏิบัติก็จะมีคุณธรรม ใครมาปฏิบัติก็จะรู้จะเห็น คือความสำคัญของศาสนาเป็นอย่างนั้น
ถ้าเราต้องการให้ความสุขเกิดกับชีวิตของเรา มันจะต้องมีเรื่องของศาสนาเข้ามาผูกพันด้วย ถ้าเราไม่มีศาสนาบ้างเลย มันเหมือนกับว่ารสชาติแห่งชีวิตจะไม่สมบูรณ์หรือว่าความปรารถนาความสมหวังในโลกอันนี้มันจะลดน้อยถอยลง สมมติว่าหวังไว้ 10 อย่าง มันจะได้ไม่ถึง 10 อย่าง มันจะได้แค่ 1 อย่าง 2 อย่าง แต่ถ้ามีความดีคือศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันจะมีความสมหวังเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นคำว่าศาสนาคือคำสอนจึงมีความสำคัญ อยากจะให้ท่านผู้ชมได้ข้อคิดว่าความจำเป็นของศาสนานั้นจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา เรานำศาสนาจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของศาสนามาประพฤติปฏิบัติ มาสร้างความดีให้เกิดขึ้นแก่ตนให้มากที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ ขอจบเพียงแค่นี้ก่อน

เทศน์ออกรายการวิทยุ "เสียงชุมชน"

พระครูชัยเขตคณานุรักษ์
รองเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน
กลับหน้าหลัก