ธรรมะอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าว่าโดยหลักการกันจริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากการมีสรณะที่พึ่งภายในจิต
สรณะที่พึ่งที่ระลึกนั้นคือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ และเหตุใดจึงต้องมีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
ก็เพราะพระพุทธเจ้ามีความดีหลายอย่างที่เราต้องเอาตัวอย่างของท่านมาประพฤติ จะว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลตัวอย่างก็ได้
พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลตัวอย่างแห่งการศึกษาดี ตามประวัติ ท่านศึกษาตามหลักสูตรแห่งการศึกษาในสมัยนั้น เรียกว่าจบบริบูรณ์ หมายถึง วิชาการปกครอง วิชาเกษตรกรรม
วิชาเกษตรกรรมนี้ปรากฏในพุทธประวัติ คนในตระกูลของพระพุทธเจ้าทุกองค์มีคำว่า "โอทนะ" ลงท้ายกัน โอทนะ แปลว่า ข้าวสุก เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ โธโตทนะ อมิโตทนะ เป็นต้น
มีแต่คำว่า ข้าวสุก ต่อท้ายพระนามของท่านเหล่านั้น จึงแสดงว่าตระกูลของพระพุทธเจ้าเป็นตระกูลชาวนา เป็นกษัตริย์ แต่ว่าสนใจในเรื่องเกษตรกรรมคือการเพาะปลูก
เพราะอาศัยข้าวเป็นปัจจัยสำคัญแห่งชีวิตความเป็นอยู่จึงได้ยึดเอาข้าวเป็นหลักและตั้งชื่อลูกหลานมีคำว่า โอทนะ ต่อท้าย พระพุทธเจ้าได้ศึกษาสำเร็จวิชาการปกครอง การเกษตร ศีลธรรม และวัฒนธรรม
เรียกว่ามีความรู้เพียงพอที่จะเป็นกษัตริย์ครองแผ่นดินได้ อันนี้คือตัวอย่างแห่งบุคคลผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับสูง
อีกตัวอย่างหนึ่ง พระองค์เป็นตัวอย่างของบุคคลผู้เสียสละ พระองค์เสียสละความสุขส่วนพระองค์เสด็จออกบวชเพื่อแสวงหาทางสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า แม้ว่าความเป็นอยู่ของพระองค์จะเทียบเท่ากับความเป็นอยู่ของเทวดาบนสรวงสวรรค์
แต่พระองค์ไม่อาลัยใยดี ยอมสละทรัพย์สมบัติและความสุขเหล่านั้น แล้วออกบวชเพื่อบำเพ็ญกรณียกิจความเป็นพระพุทธเจ้าจนสำเร็จ อันนี้เป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้เสียสละและเป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้มีความรู้ชั้นสูงจนได้เป็นศาสดาเอกของปวงชน
|
|
|
|
อีกตัวอย่างหนึ่งนั้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้เฉลียวฉลาด สามารถรู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า นี้เป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้มีปัญญาเหนือโลก
และเมื่อพระองค์สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์บริสุทธิ์สะอาดด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ กายของพระองค์ไม่มีการฆ่าและไม่มีการเบียดเบียน การทำร้ายด้วยประการทั้งปวง วาจาของพระองค์ก็รับสั่งด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
แสดงธรรมแก่ปวงชน ปรากฏความงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด งามในเบื้องต้นคือความงามแห่งผู้มีศีล งามในท่ามกลางคือเป็นผู้มีความมั่นใจในธรรม งามในเบื้องปลายคือความงามในผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด จิตรู้เท่าทันสภาวธรรม อันนี้ก็คือตัวอย่างอันหนึ่ง
|
เมื่อพระองค์สำเร็จความปรารถนาของพระองค์ คือสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ถ้าพระองค์จะถือสิทธิในความสำเร็จของพระองค์ เพียงเสวยสุขส่วนพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ก็ไม่มีใครมีอำนาจเอาพระองค์ไปลงโทษหรือไปทรมานใดๆ ได้ทั้งสิ้น
ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังสละความสุขส่วนพระองค์ไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์
ทรงชี้แจงประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในสัมปรายภพ และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน เป็นต้น
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมตามอุปนิสัยวาสนาบารมีของผู้ฟังธรรม ผู้ที่มีความสามารถสถิตอยู่ในโลก ยังปลดเปลื้องความสุขทางโลกออกไม่ได้ พระองค์ก็สอนให้มีความหมั่นความขยันหมั่นเพียรในการประกอบการทำมาหากินเลี้ยงชีพ
แสวงหาผลประโยชน์ทางทรัพย์สินสมบัติ ตั้งหลักฐานให้มั่นคง เมื่อแสวงหาสมบัติ สร้างหลักฐานได้มั่นคงดีแล้ว พระองค์ก็ยังสอนให้รู้จักรักษาทรัพย์ที่ได้มามิให้เสื่อมสูญ
จึงบอกให้คบแต่มิตรที่ดี ลักษณะของมิตรที่ดีนั้น แม้แต่คิดก็คิดดี พูดก็พูดดี กระทำก็ทำดี รวมความว่า กาย วาจา ใจ บำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลที่เป็นมิตร
การกระทำด้วยกายก็เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้คบหาสมาคม พูดก็ชักจูงแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ช่วยคิดอ่านแก้ไขปัญหาให้ตกไปด้วยดี อันนี้คือลักษณะของมิตรที่ดี (กัลยาณมิตร) เป็นอุบายที่จะรักษาทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ให้ยืนยงคงทนต่อไป
ประการสุดท้าย พระองค์สอนให้รู้จักจับจ่ายใช้สอยให้มีความสุขตามสมควรแก่ฐานะ ไม่มากและไม่น้อยนัก คือรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอยในทรัพย์สมบัติที่มีอยู่
อันนี้คือหลักการของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนสาธุชนผู้ดำรงชีวิต อันเป็นหลักใหญ่ๆ |
เมื่อสาธุชนมีความสมบูรณ์พูนสุขดี มีหลักฐานมั่นคงดีแล้ว ตั้งใจทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ประโยชน์ในสัมปรายภพ หรือทำประโยชน์ในปัจจุบันเพื่อไปสู่สวรรค์นั้นเป็นของไม่ยาก
เพราะเมื่อเรามีพร้อมก็พร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อทุกสิ่งทุกอย่างต่อไปได้ แต่ถ้าเราขาดตกบกพร่องก็ไม่มีโอกาสจะทำได้อย่างเต็มที่ แม้แต่การประพฤติปฏิบัติธรรมก็อาศัยปัจจัย ๔ คือ ความสมบูรณ์พูนสุขของเราด้วย
ธรรมะคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรืออะไรก็ตามที่เราถือว่าเป็นของดีนั้น ย่อมตั้งอยู่บนรากฐานความมั่นคงของโลก เพราะโลกที่มีความมั่นคง ศีลธรรมและวัฒนธรรมก็ดำรงอยู่ได้ตลอดกาล
แต่ถ้าโลกนี้ขาดความมั่นคง โลกนี้ก็อยู่ในฐานะไม่ดี ไม่มีสุข
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนหลักประโยชน์ทั้งสองดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เข้าถึงประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในสัมปรายภพย่อมมี ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลผู้ใฝ่ธรรมะมีความคิดถึงประโยชน์ของฐานะความสูงของจิตใจขึ้นไปโดยลำดับ
และพระองค์ก็ทรงสอนให้บำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อจะได้สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานและทำจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงในหลักแห่งความเจริญของสภาวธรรม หรือให้รู้จักหลักความจริงของคดีโลกและคดีธรรม
ผู้อยู่ในคดีโลกหรือทางโลกควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร ผู้ที่อยู่ในกระแสแห่งธรรมควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร ท่านได้วางหลักการไว้ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หวังประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานนั้น จะหนีหลักศีล หลักสมาธิ หลักปัญญาไม่ได้
|
|
|
|
ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในชีวิตประจำวัน หลักแห่งการปรับปรุงความประพฤติปฏิบัติของตนให้มีความสุขในชีวิตประจำวัน คือ
๑. ยึดสรณะที่พึ่ง คือ พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์
๒. พยายามตัดกรรมตัดเวร ด้วยการประพฤติตามหลักของศีล ๕ ประการที่ได้สมาทานมาแล้ว อันเป็นหลักปรับปรุงความเป็นอยู่ของชีวิตประจำวันให้เกิดความสุข ไม่ฝักใฝ่ในเรื่องการฆ่า การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การเบียดเบียนก็ไม่เกิดขึ้น
การก่อกรรมก่อบาปทั้งหลายที่มีผลในภพนี้และภพหน้าก็ไม่เกิด ความสุขในชีวิตประจำวันจึงอยู่ในหลักแห่งศีล ๕ นี่เอง หากเรายังงดเว้นไม่ได้โดยเด็ดขาด เราก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อเวร เมื่อเราก่อเวร ผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนก็เป็นผู้ก่อเวรต่อ
ฉะนั้น ในท้ายบทแห่งสิกขา ๕ ข้อ จึงลงท้ายด้วย เวรมณี เวรมณี แปลว่า เว้น คือการงดเว้นจากเวร ๕ ประการ หากใครงดเว้นได้โดยเด็ดขาดก็เป็นการตัดชนวนแห่งการเกิดขึ้นของเวรได้อย่างเด็ดขาด
เพราะฉะนั้น หลักปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์แห่งชีวิตประจำวันคือการประพฤติปฏิบัติตามหลักของศีล ๕ นั่นเอง
ในบางครั้งท่านอาจจะคิดว่า ศีล ๕ บางข้อเราอาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะสังคมเขายังนิยมกันอยู่อย่างนั้น อันนี้ถ้าพิจารณาดูให้ละเอียดแล้ว
คำพูดคำนี้ไม่มีคุณค่าไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น แม้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าเราจะไม่กระทำผิดศีล เราก็สามารถที่จะเข้าสังคมได้ และเราจะเข้าสังคมได้ดีที่สุดและเข้าสังคมได้โดยไม่มีเรื่องมีราวเบียดเบียนผู้อื่น
เราควรปฏิบัติศีล ๕ เพื่อความสุข ความสบายแห่งชีวิตประจำวัน ศีล ๕ ข้อนี้บัญญัติไว้เพื่อป้องกันมนุษย์ฆ่ากันโดยตรง ถ้าใครรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้อย่างแท้จริงแล้ว การฆ่ากันจะไม่เกิดขึ้น
แต่หากเรายังไม่งดเว้นได้โดยเด็ดขาด ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อเวร ในเมื่อเราเป็นผู้ก่อเวร ผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนเขาก็ก่อเวรต่อ
|
ดังนั้น หลักแห่งการทำความดี ไม่มีอะไรดีเกินไปกว่าการมีศีล ๕ ผู้มีศีล ๕ ประจำตัว ผู้นั้นได้ชื่อว่าตัดผลเพิ่มของกรรม
นับตั้งแต่เราเจตนาอย่างแน่วแน่ว่าเราจะปฏิบัติตามศีล ๕ อย่างบริบูรณ์ ผลกรรมที่จะเพิ่มขึ้นหรือสะสมไว้และสนองในชาติหน้าภพหน้าเป็นอันว่าสิ้นสุดแห่งเวรกรรมทันทีเมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว
สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีสุขในชีวิตประจำวัน คือประโยชน์ ๔ เป็นประโยชน์ปัจจุบัน
๑. ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
๒. ถึงพร้อมด้วยความรักษาผลงานที่เราทำ
๓. ถึงพร้อมด้วยการคบมิตรที่ดี
๔. ถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตพอเหมาะพอสมควรแก่ประโยชน์และรายได้ที่เรามีอยู่
|
|