หน้าหลัก ชีวประวัติ หนังสือและเทป ฐานิโยธรรม วัดป่าสาลวัน บูรพาจารย์เจดีย์ ลิงค์เวบศาสนา เกี่ยวกับเวบไซต์นี้
อิสิทาสีภิกษุณี ตอนที่ ๔
ชาตินี้ขอสะสางกรรม
แนะแม่โพธิผู้แสวงหาสัจจะ สนิมที่เกิดจากเหล็กย่อมกัดเหล็กนั่นแหละให้กร่อนไป ใจที่ไม่ดีนั่นแหละย่อมกระทำใจให้เสียหาย ข้าพเจ้าก็ย้อนคิดถึงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้ากระตุ้นเตือนอยู่เสมอว่า
คนที่ไร้ยางอายกล้าเหมือนดั่งกา ชอบทำลายคนอื่นลับหลัง ชอบเอาหน้าอวดดี และมีพฤติกรรมสกปรกมักมีชีวิตอยู่อย่างสบาย ส่วนคนที่มีความละอายแก่ใจ ใฝ่ความบริสุทธิ์เป็นนิตย์ ไม่เกียจคร้าน อ่อนน้อมถ่อมตน มีอาชีพบริสุทธิ์ และมีปัญญา มักมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก
บุคคลผู้อาศัยความสะดวกสบายเป็นทางดำเนินของชีวิต มักจะประสบทุกข์ ส่วนบุคคลผู้อาศัยความทุกข์ยากลำบากเป็นทางดำเนินของชีวิต ก็มักจะประสบสุข
การอยู่คนเดียวประเสริฐกว่า ความเป็นเพื่อนที่แท้จริงไม่มีในหมู่คนพาล พึงอยู่คนเดียวไม่พึงทำความชั่ว และไม่พึงกังวลใจ ควรทำตัวเป็นประดุจช้างโทนอยู่ในป่าเพียงตัวเดียวฉะนั้น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้พอชโลมจิตใจของข้าพเจ้าให้คลายทุกข์คลายโศกลงไปได้บ้าง
วันหนึ่งข้าพเจ้านั่งอยู่หน้าบ้านด้วยความเหม่อลอย มองไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย มองไปเห็นภิกษุณีมีผ้าสีเหลืองหม่นคลุมกาย ผิวขาวละเอียดอ่อนลักษณะแสดงว่ามาจากวรรณะสูง นามว่า "พระแม่เจ้าชินทัตตาเถรี" ท่านเป็นภิกษุณีผู้ทรงวินัย เป็นพหูสูตรสมบูรณ์ด้วยศีล โคจรมาเพื่อเที่ยวบิณฑบาต เข้ามายังบ้านตระกูลของบิดา ข้าพเจ้าเห็นท่านแล้วจึงเข้าไปจัดอาสนะถวาย ผิวพรรณของท่านผ่องใสยิ่งนัก มีอินทรีย์สงบ ท่านมีจักษุทอดลงต่ำ จะเหลียวซ้ายแลขวาก็มีแต่ความสำรวมระวัง
"อา… ผ้ากาสาวพัสตร์ สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์" ข้าพเจ้าน้อมนึกภายในใจด้วยความทราบซึ้ง พระบรมศาสดาตรัสว่า "ผู้ใดคลายกิเลสที่เหนียวแน่นอันเป็นประดุจน้ำฝาดได้แล้ว มั่นคงในศีลประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์และมีสัจจะ ผู้นั้นสมควรห่มผ้ากาสายะ" พระดำรัสนี้เราเคยได้ฟังเมื่อคราวพระพุทธองค์เสด็จผ่านนครแห่งดอกไม้นามว่า ปาฏลีนี้เอง
เมื่อข้าพเจ้าจัดขาทนียโภชนียาหารแก่พระแม่เจ้าชินทัตตาเถรีแล้ว จึงคลานเข้าไปใกล้ ๆ แล้วกราบเรียนท่านว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า ลูกมีทุกข์มีโศกเบื่อโลกเหลือเกิน เห็นภัยในการเกิดแก่เจ็บตาย และไม่ประสงค์จะเกิดอีก อยากจะบวชมากเจ้าข้าฯ"
อิสิทาสี! พระแม่เจ้าชินทัตตาเถรีกล่าวขึ้นด้วยความเมตตา พระศาสดาของเราตรัสว่า "ผู้ใดไม่เศร้าโศกถึงอดีต ไม่กังวลหวังอย่างเร่าร้อนถึงอนาคต มีชีวิตอยู่ด้วยปัจจุบันธรรม แม้จะบริโภคอาหารมื้อเดียวต่อวัน ประพฤติพรหมจรรย์สงบนิ่งอยู่ในป่า ผิวพรรณของผู้นั้นย่อมผ่องใส ส่วนผู้ที่มัวเมาเศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว กังวลหวังอย่างเร่าร้อนถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ย่อมซูบซีดเศร้าหมอง เหมือนไม้สดที่ถูกตัดแล้วย่อมเหี่ยวเฉาไปฉะนั้น"
อิสิทาสีเอย! ร่มเงาของต้นไม้ย่อมอำนวยความสุขให้ได้บ้าง ร่มเงาแห่งญาติย่อมอำนวยความสุขให้ได้ยิ่งกว่าร่มเงาแห่งต้นไม้นั้น ร่มเงาแห่งบิดามารดาย่อมอำนวยความสุขให้ยิ่งกว่าร่มเงาแห่งญาติ ร่มเงาแห่งอาจารย์ย่อมอำนวยความสุขให้ยิ่งกว่าร่มเงาแห่งบิดามารดา ร่มเงาแห่งพระราชาย่อมอำนวยความสุขให้ยิ่งกว่าร่มเงาแห่งอาจารย์ แต่ร่มเงาแห่งคำสอนของพระบรมศาสดา ย่อมอำนวยความสุขให้ยิ่งกว่าร่มเงาทั้งมวล
แนะอิสิทาสีผู้มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา นกทั้งหลายย่อมละทิ้งต้นไม้ที่มีผลวายแล้ว นกกินปลาแล้วย่อมละทิ้งสระน้ำที่แห้งขอด ชายรักสนุกทั้งหลายย่อมละทิ้งหญิงที่แสนดี อำมาตย์ราชมนตรีย่อมละทิ้งพระราชาราชินีที่หมดอำนาจ ผึ้งทั้งหลายย่อมละทิ้งดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา สัตว์ทั้งหลายย่อมละทิ้งป่าที่ถูกไฟเผาผลาญ คนโดยส่วนมากย่อมรักกันเพราะเห็นแก่ประโยชน์ทั้งนั้น อิสิทาสีเอย! ก็ใครเล่าจะพึงเป็นที่รักของใครจริง ๆ
อิสิทาสีเอย มิใช่แต่เพียงบุรุษเท่านั้นที่จะพึงเป็นบัณฑิตได้ แม้สตรีที่มีสติปัญญาเห็นประจักษ์คิดความได้ฉับพลัน ก็พึงเป็นบัณฑิตได้เหมือนกัน พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย! สังสารวัฏฏ์คือการเทียวเกิดเทียวตายนี้ มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายที่เราไม่สามารถจะตามไปรู้ได้ สังสารวัฏฏ์นี้มีเงื่อนต้นไม่ปรากฏ สำหรับเหล่าสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นฝ้าบังปัญญา มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ซึ่งโลดแล่นท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ ภิกษุทั้งหลาย! น้ำตาที่ไหลพรากอาบแก้มของเหล่าสัตว์ผู้ครวญคร่ำร่ำไห้ เพราะประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ หรือเพราะพรัดพรากจากอารมณ์ที่น่าพอใจ โลดแล่นท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏฏ์ด้วยกาลอันยาวนานนี้ น้ำในมหาสมุทรทั้ง 4นี้มิอาจเทียมเท่าได้ ภิกษุทั้งหลาย! กองกระดูกของบุคคลหนึ่ง ๆ ที่เทียวเกิดเทียวตายนั้นใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาเวปุลบรรพต อันภูเขาเวปุลบรรพตนั้นใหญ่กว่าภูเขาคิชฌกูฏเสียอีก
แนะอิสิทาสี อันคนเรานี้ถ้าไม่รู้จักสำรวจใจของตนเองบ้างแล้ว แม้จะอยู่มีอายุยืนเป็นหมื่นปีก็จะไม่ประเสริฐอะไร สู้ทารกน้อยที่เกิดเพียงหนึ่งราตรีก็ไม่ได้ อันคนเรานี้ถึงจะมี 1000 ลิ้น 1000 ปาก และอายุ 1000 ปี แต่ถ้าคนเหล่านี้มามัวแต่สาธยายชั่วดีของบุคคลอื่น โดยไม่มองดูจิตใจของตนเองบ้างแล้ว 1000 ลิ้น 1000 ปาก และอายุ 1000 ปีนี้ คงไม่เพียงพอต่อการสาธยายหรอก แต่ถ้าเขามองดูใจของเขาเองด้วยความมีสติ นั่นแหละจะมีที่ยุติและจบลงได้ อันเรื่องคนชั่วสัตว์ชั่วนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างนี้ว่า "อันสัตว์มีเขาตัวดุร้ายพึงหลีกให้ห่างสัก 5 ศอก อันม้าตัวดุร้ายพึงหลีกให้ห่างสัก 100 ศอก อันช้างตัวตกมันพึงหลีกให้ห่างสัก 1000 ศอก แต่สำหรับคนชั่วนั้นพึงหลีกให้ห่าง โดยยอมทิ้งถิ่นฐานหนีไปเลยทีเดียว"
"อิสิทาสีเอย!" พระชินทัตตาเถรีกล่าวต่อไปด้วยความเมตตา "เธอได้ทำหน้าที่ในการครองเรือนสมบูรณ์แล้ว อันน้ำที่อยู่ใต้ดินนั้นนับว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ส่วนภรรยาที่ซื่อสัตย์ต่อสามีพระพุทธองค์ตรัสว่า "เป็นภรรยาที่บริสุทธิ์" เธอเป็นภรรยาที่บริสุทธิ์และซื่อจนเกินไป เธอซื่อเสียจนเซ่อ จงดูป่าไม้นั้นเป็นตัวอย่างเถิด ต้นไม้ที่มีลำต้นตรง ๆ เท่านั้นที่ถูกตัด ส่วนต้นที่คด ๆ งอ ๆ บิด ๆ เบี้ยว ๆ จะคงอยู่และไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก"
อิสิทาสี! มนุษย์ในโลกนี้โดยส่วนมากมักติดอยู่ในบ่วง คือ บุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติ และกามคุณอันเป็นเครื่องล่อลวง ส่วนบ่วงคือภพชาตินั้นเป็นบ่วงที่เราทั้งหลายละได้โดยยากยิ่ง เราจะนำคำภาษิตที่เคยสดับต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาเล่าให้เธอฟังบ้าง พระพุทธองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! เนื้อป่าที่ติดบ่วงแล้ว นอนทับบ่วงอยู่ ย่อมถึงความเสื่อมความพินาศ หนีไปไม่ได้ตามปรารถนา ถูกพรานเนื้อกระทำเอาได้ตามความต้องการฉันใด สมณะพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งที่ยังหลงใหลใฝ่ฝันติดพันมัวเมา เข้าไปเกี่ยวข้องกับกามคุณ 5 โดยไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดตนออก สมณะพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกมารผู้มีใจบาปกระทำเอาได้ตามความต้องการฉันนั้น"
ส่วนสมณะพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่หลงใหลใฝ่ฝันไม่ติดพันมัวเมา ไม่เอาใจเข้าไปข้องเกี่ยวกับกามคุณ 5 เพราะพิจารณาเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดตนออก สมณะพราหมณ์พวกนั้น ย่อมไม่เข้าถึงความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกมารผู้มีใจบาปกระทำเอาได้ตามความต้องการเหมือนเนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง แม้จะนอนทับบ่วงอยู่ย่อมไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ เมื่อนายพรานเดินเข้ามา ก็หนีไปได้ดังปรารถนาตามความต้องการฉันนั้นเหมือนกัน"
"แนะแม่โพธิผู้มีอินทรีย์ผ่องใส!" อิสิทาสีภิกษุณีกล่าวขึ้น "เมื่อพระแม่เจ้าชินทัตตาเถรีแสดงพระธรรมเทศนาจบลง ข้าพเจ้ามีปีติซาบซ่านเป็นที่ยิ่ง เสมือนพระธรรมของพระศาสดาสว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประทีปภายในจิตใจ และแยกแยะพระธรรมเทศนานั้นเป็นเอนกปริยาย พิจารณาเห็นสัตว์โลกผู้ยังติดอยู่ในความหลง ต้องตกอยู่ในความมืด มีน้อยคนนักที่จะรู้เห็นตามความเป็นจริง ยิ่งพิจารณาเห็นว่า มีน้อยคนนักที่จะไปสู่สวรรค์ พรหมโลกและพระนิพพาน เหมือนนกที่ติดตาข่ายของนายพรานแล้ว มีน้อยตัวนักที่จะรอดพ้นไปได้"
ข้าพเจ้าขอบิดาบวช ท่านบิดาจึงพูดขึ้นว่า "ลูกเอ๊ย! จงประพฤติธรรมอยู่ในเรือนก็แล้วกันจงทำบุญใส่บาตรเลี้ยงดูสมณะพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำไปเถิด" ข้าพเจ้าร้องไห้พร้อม ๆ กับประคองมือประนมพูดว่า "ท่านพ่อคะ ความจริงลูกก็ทำบาปมามากแล้วลูกจักชำระบาปให้สิ้นไปเสียที ชาตินี้มีกรรมอะไรนัก จักชำระสะสางให้สิ้นสุด ด้วยพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นดวงตาของโลก"
ท่านบิดาจึงพูดขึ้นว่า "ลูกรักผู้เป็นดั่งดวงตาของพ่อเอย ขอลูกจงบรรลุโพธิญาณอันเป็นธรรมที่เลิศ และขอให้ได้พระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดแห่งสัตว์สองเท้า ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว พ่อขออวยพร"
"แนะแม่โพธิผู้เป็นเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์" อิสิทาสีภิกษุณีกล่าวขึ้นพร้อมกันกับสะบัดสไบน้อยผืนบางขึ้นบนบ่า "ข้าพเจ้ากราบลาบิดามารดาและหมู่ญาติออกบวช บวชได้ 7 วันก็บรรลุวิชชา 3 ได้ครองบรมธรรมไม่มีความอาลัยกับสิ่งใด ๆ เพิกถอนกิเลสทั้งมวลด้วยอรหัตมรรค และระลึกชาติได้ 7 ชาติ"
"แม่อิสิทาสีภิกษุณีผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น" โพธิภิกษุณีกล่าวขึ้นด้วยความอยากรู้ "ขอท่านจงเล่าวิบากกรรมให้ข้าพเจ้าฟังด้วย คงจะเป็นบุญแก่โสตของข้าพเจ้าหาน้อยไม่"
อิสิทาสีภิกษุณี ตอนจบ
กลับหน้าหลัก