หน้าหลัก ชีวประวัติ หนังสือและเทป ฐานิโยธรรม วัดป่าสาลวัน บูรพาจารย์เจดีย์ ลิงค์เวบศาสนา เกี่ยวกับเวบไซต์นี้
วัดป่าสาลวันในอดีต-ปัจจุบัน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๗๔ หลวงชาญนิคมพร้อมด้วยบุตรภรรยา ได้สร้างวัดให้เป็นสำนักสงฆ์วัดหนึ่งท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี(ติสสเถระ) เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ให้นามว่า "วัดป่าสาลวัน" เพราะบริเวณสร้างวัดนี้โดยมากเป็นป่าไม้เต็งรัง และที่อันนี้เป็นที่ดินสวนของหลวงชาญนิคม พื้นดินเป็นทราย ภูมิฐานสูงกลาง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓๐-๔๐ เส้น ห่างสถานีรถไฟโคราช ๓๐ เส้นเศษ
ทิศตะวันออก จดหนองแก้ช้าง
ทิศตะวันตก จดทางหลวง
ทิศเหนือ ติดทางเกวียน
ทิศใต้ จดนาหนองรี
เมื่อสมัยย้อนหลังไปประมาณ ๓๐ กว่าปี วัดป่ายังเป็นป่าอยู่ ส่วนมากป่าไม้ไผ่ก็มากแต่เดี๋ยวนี้มีน้อยมาก บริเวณรอบวัด ภายนอกกำแพงเป็นทางเกวียนรอบวัด ทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด)เมื่อก่อนเป็นป่าช้าทั้งหมด ทางด้านอนามัย(ทิศใต้ของวัด)เป็นทุ่งนา ซึ่งชาวบ้านเขาเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นอิฐมอญเผาขายกัน เดี๋ยวนี้ เป็นหมู่บ้านโฮมแลน ส่วนด้านข้างเมรุหรือเมรุเผาศพ(ทุบทิ้งแล้ว) ปัจจุบันเป็นหนองน้ำเมื่อก่อนเขาเรียกหนองน้ำนี้ว่าหนองแก้ช้าง เดี๋ยวนี้ยังเป็นหนองอยู่ เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นป่าไผ่มากและเป็นหนองน้ำ อยู่ตรงกลางเป็นหนองเล็กๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันเป็นหนองใหญ่อยู่นอกกำแพงข้างเมรุ เมื่อก่อนจะมีกองเกวียนผ่านบริเวณแห่งนี้และควาญช้างนำช้างผ่านมาทางนี้เป็นประจำ จะมาพักอยู่บริเวณหนองน้ำนี้ ชาวบ้านจึงเรียกหนองนี้ว่าหนองแก้ช้างอยู่ทุกวันนี้ และรอบวัดก็จะผ่านเป็นประจำเหมือนกัน เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นป่าเปลี่ยวมาก
โบสถ์น้ำ (สิมน้ำ) ปัจจุบันเป็นบริเวณหนองแก้ช้าง หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ผู้ก่อตั้งวัดป่าสาลวัน
เมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนมาทำบุญมากเหมือนปัจจุบัน พระก็ไม่มากเท่าไหร่ และประมาณ ๓ โมงเย็นก็ไม่มีใครกล้าเข้าวัดกันแล้ว รอบบริเวณวัดก็ไม่มีคนผ่าน รถก็ไม่ค่อยมี สิ่งที่เหลือภายในวัดตอนนี้ ศาลาไม้ หลังเก่าคือศาลาที่ใช้ทำวัตรเช้าเย็นเป็นประจำ หอระฆังเก่าและกุฏิอยู่ข้างหอระฆังเหลือประมาณ ๖ หลังด้วยกัน ส่วนศาลาเล็กนั้นลื้อไปหมดแล้วเหลือบันไดปูนและแท็งก์น้ำปูนเก่าข้างกุฏิห้าแสนหลังใหม่ ส่วนกุฏิหลวงปู่อ่อนหลังเก่าก็ลื้อไปหมดแล้วเหลือแต่หลังใหม่อยู่ ส่วนเสาธงเมื่อก่อนยังมีเสาและธงแต่ตอนนี้เหลืออยู่แต่ฐานเท่านั้น และที่เผาศพของหลวงปู่สิงห์ยังเหลืออยู่ข้างวิหารใหม่
ปัจจุบันวัดป่าสาลวันมีเนื้อที่ ๔๓ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา มีกุฏิ ๘๔ หลัง มีศาลาการเปรียญ วิหาร อุโบสถ สำนักงานสงฆ์ พระตำหนัก โรงครัว โรงไฟ ห้องเก็บพัสดุ วัดป่ามีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศตะวันออก จดทางสาธารณประโยชน์หนองแก้ช้าง
ทิศตะวันตก จดทางสาธารณประโยชน์ที่ดินการรถไฟ
ทิศเหนือ จดทางสาธารณประโยชน์ที่ดินการรถไฟ
ทิศใต้ จดที่มีการครอบครองหนองแก้ช้าง
จำนวนพระภิกษุ สามเณรจำพรรษาที่วัดป่าสาลวันในแต่ละปี มีดังนี้
ปี ๒๕๓๘ พระภิกษุ ๗๘ รูป สามเณร ๖ รูป
ปี ๒๕๓๙ พระภิกษุ ๙๐ รูป สามเณร ๕ รูป
ปี ๒๕๔๐ พระภิกษุ ๕๐ รูป สามเณร ๒ รูป
ปี ๒๕๔๑ พระภิกษุ ๘๕ รูป สามเณร - รูป
ปี ๒๕๔๒ พระภิกษุ ๗๕ รูป สามเณร - รูป
ปี ๒๕๔๓ พระภิกษุ ๗๒ รูป สามเณร - รูป
ปี ๒๕๔๔ พระภิกษุ ๖๕ รูป สามเณร ๒ รูป
ลำดับเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน
๑. พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)
๒. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
๓. พระสุธรรมคณาจารย์ (แดง ธมฺมรกฺขิโต)
๔. พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
๕. พระมงคลวัฒนคุณ (หลวงพ่อเพิ่ม) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ภาพถ่ายทางอากาศ วัดป่าสาลวันในปัจจุบัน

พระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของหลวงปู่เสาร์, หลวงปู่มั่นและหลวงปู่สิงห์ ญาติโยมสามารถมากราบได้ที่วัดป่าสาลวัน

ข้อวัตรปฏิบัติ
วัดป่าสาลวันมีข้อวัตรปฏิบัติอันถือเป็นส่วนหนึ่งของกติกาสงฆ์ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
ภาคเช้าก่อนรุ่งอรุณ
๐๓.๐๐ น. พระภิกษุสามเณรตื่นขึ้นทำกิจของตน นุ่งห่มให้เรียบร้อยและเริ่มปฏิบัติทำความเพียรภาวนา คือเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ
๐๓.๔๕ น. ระฆังสัญญาณ พระภิกษุ สามเณรและผู้ถือศีลภาวนาทั้งหมด พร้อมกันที่ศาลาเพื่อรอทำวัตรเช้า
๐๔.๐๐ น. พระเถระเป็นผู้จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยแล้วเริ่มสวดมนต์ทำวัตรเช้า
๐๔.๓๐ น. นั่งสมาธิ
๐๕.๐๐ น. ช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูศาลา จัดอาสนะฉัน เตรียมบาตร ผ้าปู ขาบาตร ช้อน กระติกน้ำดื่ม ขึ้นมาบนศาลาก่อน ๖ โมง
ภาคเช้าหลังรุ่งอรุณ
๐๖.๐๐ น. ระฆังสัญญาณ (เวลาอาจเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล) พระภิกษุ สามเณรทุกรูป พร้อมกันที่ศาลาเพื่อกราบพระประธาน แล้วแยกออกบิณฑบาตตามสายที่กำหนด(หน้าวัดและหลังวัดเป็นหลัก)เมื่อกลับจากบิณฑบาต ให้แต่ละสายกราบพระประธานอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงช่วยกันจัดอาหาร โดยแบ่งข้าว ไว้พอฉันอิ่ม จัดอาหารที่บิณฑบาตใส่ภาชนะให้เรียบร้อย
๐๗.๐๐ น. อุบาสก อุบาสิกาและญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดเริ่มประเคนอาหารแบ่งลงใส่บาตรให้ทั่วถึงกันแล้ว พระภิกษุผู้เป็นประธาน จะอนุโมทนาก่อนฉันภัตตาหารหลังจากนั้นไวยาวัจกรดูแลเลี้ยงอาหารผู้มาทำบุญ บางโอกาสจะมีพระธรรมเทศนา
อนึ่ง พระภิกษุวัดป่าสาลวันถือธุดงควัตร ในวันหนึ่ง ๆ ฉันเฉพาะหนเดียว และฉันในบาตรและเมื่อพระภิกษุทุกรูปฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วกราบพระประธานพร้อมกันแล้วจึงนำ บาตร แก้วน้ำ กระโถน ไปล้างเอง ณ ที่จัดไว้ให้ ช่วยกันทำความสะอาดศาลาให้เรียบร้อยแล้วจึงกลับกุฏิ
๐๙.๐๐-๑๓.๐๐ น. ปฏิบัติทำความเพียรภาวนา ศึกษาตำราตามหลักสูตรพระวินัย หรือท่องสวดมนต์ พระปาฏิโมกข์เป็นต้น
ภาคบ่าย
๑๓.๔๕ น. ระฆังสัญญาณพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชี พร้อมกันที่วิหารเพื่อนั่งสมาธิ
๑๕.๐๐-๑๗.๓๐ น. ปัดกวาดทำความสะอาดกุฏิ รอบบริเวณกุฏิที่อาศัย บริเวณวัดทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วมส่วนรวมที่ใช้ร่วมกันให้สะอาด สามเณร ตาปะขาวรดน้ำต้นไม้บริเวณวัดเวลาที่เหลือ สรงน้ำเตรียมตัวทำวัตรเย็น
ภาคค่ำ
๑๗.๔๕ น. ระฆังสัญญาณพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชี พร้อมกันที่ศาลา เมื่อผู้เป็นประธานจุด ธูปเทียนแล้ว เริ่มสวดมนต์ทำวัตรเย็น
๑๘.๓๐ น. นั่งสมาธิภาวนา พระเถระเทศน์อบรมให้การปฏิบัติธรรมจนถึงเวลาอันสมควร
๒๒.๐๐ น. จำวัด
หมายเหตุ
ก.วันพระขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ มีอุบาสก อุบาสิกามาถือศีลภาวนาและค้างคืนอยู่ที่วัด การทำวัตรเช้าเย็นจึงต้องเปลี่ยนแปลงเวลาดังนี้
๐๘.๔๕ น. ระฆังสัญญาณทำวัตรเช้า
๐๙.๐๐ น. พร้อมกันที่วิหาร ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิภาวนาพระเถระเทศน์อบรมธรรมจนถึงเวลาอันสมควร
๑๓.๔๕ น. ระฆังสัญญาณพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชี พร้อมกันที่วิหาร นั่งสมาธิภาวนา
๑๙.๐๐ น. พร้อมกันที่วิหาร ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิภาวนา พระเถระเทศน์อบรมธรรมจนถึงเวลาอันสมควร
ข.วันพระขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ (กึ่งเดือน) ในวันนี้มีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุ ต้องเข้าฟังปาฏิโมกข์หากพระภิกษุรูปใดละเลยไม่ปฏิบัติตามสิกขาให้ปรับอาบัติทุกกฏ เสร็จแล้วประธานสงฆ์อบรม
แผนที่ไปวัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
กลับหน้าหลัก