ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ ตอน 2

เราพูดถึงเรื่องการตัดกรรมตัดเวร บางทีมีพิธีกรรมบางอย่างแทรกเข้ามาในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว แต่ในบางครั้งเราก็เห็นแทรกเข้ามาในพระพุทธศาสนา คือการตัดกรรมตัดเวร ท่านทั้งหลายอาจจะข้องใจว่ากรรมที่ทำแล้ว ทำพิธีตัดกรรมตัดเวร มันจะหมดกรรมหมดเวรหรือไม่ กรรมที่เราทำแล้ว ผลซึ่งเกิดจากการกระทำ เราจะตัดอย่างไรมันก็ไม่เป็น คือพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ทำกรรมใดย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทีนี้ใครทำชั่วลงไปแล้วจะมาทำพิธีตัดกรรม มันตัดไม่ได้ ถ้าหากเราต้องการจะตัดกรรมให้หมดสิ้นไป ก็เพียงแต่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นกรรมหนัก เป็นบาป เราก็งดเว้นจากการทำกรรมนั้นเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นี่ได้ชื่อว่าตัดกรรม เช่นว่า ปาณาติบาต อทินนาทาน การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราได้ทำมาแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ วันนี้เรามารู้สึกสำนึกตัวว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมันบาป มันเป็นกรรมเป็นเวร พอรู้แล้วเราก็เจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป อันนี้เราตัดกรรมคือตัดการกระทำยุติ ในเมื่อเรามีการยุติการกระทำ มันก็เป็นการยุติผลเพิ่มของบาปกรรม ส่วนที่มีอยู่ก็มีไป ส่วนใหม่นี่เราไม่ต้องหาเพิ่มเข้า มันก็เป็นอันยุติเพียงแค่นี้

ในเมื่อเราละเว้น คือตัดกรรม ตัดการกระทำกรรม คืองดเว้นการกระทำกรรมชั่วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายปี มีแต่ทำดีเรื่อยๆ ไป ความชั่วไม่ทำ ในเมื่อทำดีๆ เรื่อยไป ความดีก็เป็นพลังสะสมไว้ในจิต จิตก็เก็บเอาความดี เมื่อจิตของเราปราโมทย์ บันเทิงในความดีก็เรียกว่าทำดีแล้วได้บุญ ได้บุญเป็นที่อุ่นใจ เมื่อจิตเราปราโมทย์บันเทิงกับบุญ กับความดีที่มีอยู่ในใจนั้น จิตก็ไม่นึกถึงการทำบาปอีก ก็เป็นอันว่าตัดกรรมให้หมดสิ้นไป แต่กรรมเก่านั้นใครจะไปตัด ตัดแล้วมันก็ไม่หมด ถ้าอยากจะตัดกรรมก็หยุดการทำกรรมชั่วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทีนี้การตัดเวร เวรหมายถึงกิริยาที่ผูกพยาบาท อาฆาตจองเวร แล้วก็ตามแก้แค้น จองล้างจองผลาญกันตลอดไปไม่รู้จักจบสิ้น อันนี้เรียกว่าเวร เวรนี้ตัดได้ เมื่อเรารู้ว่าใครเป็นคู่กรณีของเรา เราทำผิดต่อกัน เราขอโทษกัน แล้วก็อโหสิกรรมให้กัน มันก็หมดกรรมหมดเวร

ถ้าผู้ใดสงสัยว่าเราอาจจะมีเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน ถ้าเราจะตัดเวร เราก็ต้องพยายามทำบุญกุศล สวดมนต์ภาวนา แผ่เมตตา ให้ส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่เราคิดว่าอาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา เช่นอย่างญาติโยมทำบุญทำกุศลแล้วกรวดน้ำอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น อันนั้นเป็นวิธีตัดเวร ทำบุญอุทิศให้กันและกันก็เป็นวิธีตัดเวร หรืออย่างที่หลวงพ่ออยู่ที่วัด ญาติโยมไปหาคนที่นั่งทางในรู้แล้วว่าเป็นกรรมเป็นเวรอย่างนั้น แล้วก็ให้ไปตัดกรรมตัดเวร ไปทำสังฆทานที่วัด ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่เป็นเจ้ากรรมนายเวร ทีนี้ถ้าผู้ไปทำบุญอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร แล้วกรวดน้ำอุทิศให้เขา ถ้าหากว่าเจ้ากรรมนายเวรของเราได้รับส่วนบุญส่วนกุศลจากเรา ที่เราส่งอุทิศไปให้ หากเขาได้รับความสุขความสบายตามสมควร เขานึกถึงบุญถึงคุณของเราที่มีความหวังดีต่อเขา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเขา เขาอาจจะหายโกรธ แล้วยกโทษให้แก่เรา ไม่จองล้างจองผลาญเราอีกต่อไป ก็เป็นอันว่าเวรก็หมดสิ้นลงไปเพราะการไม่จองเวร อันนี้เป็นวิธีตัดกรรมตัดเวร

แต่ถ้าหากใครจะสงสัยว่า บาปที่ฆ่าสัตว์แล้วไปทำพิธีตัดกรรมนี่มันจะสำเร็จไหม อันนี้ไม่มีทางสำเร็จ เพราะฆ่าสัตว์มันบาป วิญญาณสัตว์นั้นอาจจะจองกรรมจองเวรกับเรา แต่หากเรารู้ว่าวิญญาณสัตว์นั้นจองกรรมจองเวรกับเรา เราทำบุญอุทิศ แผ่เมตตาขออโหสิกรรมกับเขา ถ้าหากว่าเขาอโหสิกรรมให้เรา มันก็หมดการพยาบาทอาฆาตกัน อันนี้เป็นไปได้ แต่ผลของการกระทำคือกรรมนั้นมันตัดไม่ได้ ต้องได้รับผลของกรรมนั้นตลอดไป

ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม กมฺมทายาทา จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน อันนี้ให้ไว้เพื่อให้เราเชื่อกรรมและผลของกรรมและไม่ให้เราประมาทในการที่จะเผลอไปทำความชั่ว อันนี้เป็นเรื่องการตัดกรรมตัดเวร ถ้าจะว่ากันตรงๆ แล้ว ใครจะทำการตัดกรรมตัดเวร ก็รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น ไม่ต้องไปหาอาจารย์ที่ไหนมาทำพิธีตัด เพราะมันตัดไม่ได้จริง ๆ อ่านต่อ...