หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ลอยกระทง “วัดสุวรรณาราม” - ชมขันลงหิน “บ้านบุ”

พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม

ประเพณีลอยกระทงกำลังจะเวียนมาถึงในวันเสาร์สุดสัปดาห์นี้พร้อมๆ กับลมหนาวที่กำลังพัดผ่านกรุงเทพฯ คิดเหมือนฉันไหมว่าเทศกาลนี้มันช่างเหมาะกับหน้าหนาวเสียจริง เพราะนอกจากน้ำจะนองเต็มตลิ่งแล้ว การได้มองเห็นแสงไฟในกระทงของเราลอยวิบๆ วับๆ อยู่ในแม่น้ำท่ามกลางอากาศหนาวๆ นั้นมันช่างโรแมนติกดีแท้

หลวงพ่อศาสดา พระประธาน

และถ้าปีนี้มีคนกำลังมองหาที่ลอยกระทงใหม่ๆ เหมาะๆ กันอยู่ ฉันเองก็มีสถานที่หนึ่งอยากจะแนะนำ นั่นก็คือที่บริเวณท่าน้ำวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรีนี่เอง เพราะที่นี่เขามีประเพณีลอยกระทงที่เรียกว่า “เวียนกระทง” ซึ่งเป็นประเพณีที่น่าสนใจไม่น้อย

หากใครตั้งใจจะมาลอยกระทงที่นี่ ฉันขอแนะนำให้มาแต่หัววัน เพื่อใช้เวลาระหว่างรอให้ถึงช่วงพลบค่ำซึ่งเป็นเวลาเหมาะที่จะลอยกระทงลงน้ำนั้นเข้าไปเยี่ยมชมภายใน “วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” หรือชื่อเดิมว่า “วัดทอง”ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ความเก่าแก่ของวัดทองนี้นับอายุไปได้ถึงปลายสมัยอยุธยา และต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ได้ทรงใช้บริเวณวัดแห่งนี้เป็นลานประหารชีวิตเชลยพม่า แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นสมัยที่วัดทองได้เปลี่ยนรูปโฉมไปมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่แทบทั้งหมด และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดสุวรรณาราม”

แล้วอย่าลืมเข้าไปด้านในพระอุโบสถเพื่อไปกราบสักการะ “หลวงพ่อศาสดา” พระพุทธรูปหล่อสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย พระประธานของพระอุโบสถที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธากันมาก โดยมักมีคนมากราบไหว้ขอพร หรือบนบานศาลกล่าว โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทหาร ซึ่งการบนนั้นก็นิยมแก้บนด้วยการวิ่งม้า แต่ไม่ได้ใช้ม้าจริงๆ เพียงแค่ใช้คนวิ่งและมีผ้าขาวม้าเป็นสัญลักษณ์แทนม้าเท่านั้น โดยประเพณีนี้ก็ยังคงมีสืบทอดมาจนปัจจุบัน

ชมงานจิตรกรรมชั้นครูได้ภายในพระอุโบสถ


ภายในพระอุโบสถของวัดสุวรรณารามยังมีสิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่จะพูดข้ามไปไม่ได้เลย นั่นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านใน ที่ถือว่าโดดเด่นและสมบูรณ์ที่สุดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์วัด ก็โปรดเกล้าฯ ให้ช่างมาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถด้วย โดยช่างที่มาเขียนภาพนั้นก็เป็นสองสุดยอดช่างในสมัยนั้น ซึ่งก็คือหลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) เขียนประชันกับหลวงเสนีย์บริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ)

ภาพจิตรกรรมของทั้งสองท่านนั้นก็มีเอกลักษณ์ต่างกันไป ภาพเขียนเรื่องทศชาติตอนเนมีราชชาดกของครูทองอยู่จะเป็นแบบไทยๆ มีการตัดเส้น แต่ภาพเขียนทศชาติตอนมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะจะเน้นรายละเอียดของผู้คน ทั้งคนไทย จีน ฝรั่ง และใช้สีสดใสในภาพ

ตลาดวัดทอง ตลาดเก่าแก่คู่ชุมชนบ้านบุ


นอกจากนั้นภายในวัดก็ยังมีพระวิหารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งช่อฟ้าใบระกาประดับด้วยกระจก และหน้าบันจำหลักลายรูปเทพนม อีกทั้งยังมีหมู่กุฏิสงฆ์ที่เป็นเรือนไม้ฝาปะกนเก่าแก่และงดงามมาก

ไหนๆ ก็มาไหว้พระและชมวัดสุวรรณารามกันไปแล้ว ฉันก็ไม่อยากให้เสียเที่ยว อยากจะแนะนำให้ไปเดินชม “ชุมชนบ้านบุ ”ชุมชนเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อยที่มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลือบรรยากาศในอดีตตกค้างมาให้คนปัจจุบันได้สัมผัสกัน โดยชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ก็คือกลุ่มช่างฝีมือที่อพยพหนีภัยสงครามมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งชาวบ้านที่อพยพมานั้นก็ได้นำเอาวิชาการทำเครื่องทองลงหินติดตัวมาด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนบ้านบุ เพราะคำว่า “บุ” นั้นก็หมายถึงขึ้นรูปชิ้นโลหะด้วยการตี และบีบอัดเนื้อโลหะให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการเป็นภาชนะต่างๆ

ประเพณีเวียนกระทงของชาวบ้านบุ


ชุมชนบ้านบุจึงเป็นชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะยังคงมีการสืบทอดการทำขันลงหินมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในตอนนี้ก็ยังมีผู้ที่สืบทอดอาชีพนี้ต่อมาอยู่สองเจ้าด้วยกันคือบ้านขันลงหิน (เจียม แสงสัจจา) กับบ้านบุคอลเลคชั่นของบ้านขันธ์หิรัญ ซึ่งหากใครผ่านมาผ่านไปก็จะได้เห็นชาวบ้านกำลังทำขันลงหินกันอยู่ แถมใครสนใจอยากจะได้ขันลงหินไปใช้ ก็ยังสามารถเลือกซื้อขันลงหินจากแหล่งผลิตกันได้ด้วย

และหากอยากจะชมบรรยากาศของตลาดเก่า ที่ชุมชนบ้านบุก็มี “ตลาดวัดสุวรรณาราม” หรือ “ตลาดวัดทอง” ตลาดเก่าแก่กว่าร้อยปีที่ชาวบ้านบุยังคงมาจับจ่ายซื้อสินค้ากันอยู่ในปัจจุบัน ก่อนนี้ตลาดวัดทองคึกคักมากทีเดียวเพราะมีชาวบ้านชาวสวนจากละแวกปากคลองบางกอกน้อยจนถึงคลองมหาสวัสดิ์มาหาซื้อของที่นี่ ในด้านความเก่าแก่ของตลาดวัดทองยังคงมีร่องรอยให้มองเห็นอยู่ตรงที่รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีหลังคาโค้งขนาดใหญ่ทำด้วยไม้โดยไร้คานรองรับ ถือว่าเป็นตลาดที่มีเอกลักษณ์หาดูได้ยากในปัจจุบัน

ขันลงหินบ้านบุ งดงามน่าใช้


ถัดจากตลาดวัดทองเลยไปด้านหลังไม่ไกลนัก ก็จะมีร้านขายยาเก่าแก่ที่ชื่อว่า “สงวนโอสถ” เป็นร้านขายยาโบราณอายุกว่า 75 ปีที่ก่อตั้งโดย “หมอหงวน” หรือนายสงวน เหล่าตระกูล ที่มีความเชี่ยวชาญในการปรุงยา และคิดค้นตำรายาเองเพื่อใช้รักษาคนไข้ในย่านบ้านบุ ซึ่งปัจจุบันนี้ร้านสงวนโอสถก็ยังคงมีลูกหลานสืบทอดกิจการกันต่อมาจนปัจจุบัน ภายในร้านนอกจากจะมีตู้ไม้เก็บยาหน้าตาโบราณแล้วก็ยังมีเครื่องบดยาที่ใช้กันในสมัยก่อนอีกด้วย และหากใครอยากจะลองใช้ยาแผนโบราณของร้านสงวนโอสถก็สามารถหาซื้อกันได้ โดยยาที่ขึ้นชื่อก็เช่น ยาหอมอินทรจักร ยานิลโอสถ ยาหอมสมมิตรกุมาร ฯลฯ

ในบริเวณชุมชนบ้านบุใกล้วัดสุวรรณารามนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านกระบี่กระบองที่สืบทอดกันมาจากทหารของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าเก่าแก่กว่าร้อยปี โรงรถจักรธนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บและซ่อมบำรุงรถจักรไอน้ำ อีกทั้งบริเวณนี้ยังมีความทรงจำเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพสัมพันธมิตรทิ้งลูกระเบิดลงที่บริเวณนี้จนเกิดความสูญเสียและเสียหายไปทั่วบริเวณ

ร้านขายยาสงวนโอสถในบรรยากาศเก่าๆ


และในเทศกาลลอยกระทงอย่างนี้ ชาวบ้านบุเขาก็ยังมีประเพณีดีงามอย่าง “ประเพณีเวียนกระทง” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านบุปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยในวันลอยกระทง ชาวบ้านจะนำกระทงมาที่วัดสุวรรณารามเพื่อทำพิธีสวดมนต์บูชา โดยจะมีพระมานำสวดที่โบสถ์ ก่อนจะเดินถือกระทงเวียนรอบโบสถ์สามรอบเพื่อเป็นการบูชาพระจุฬามณี และในขบวนเวียนกระทงนั้นก็จะมีการควงกระบองไฟเดินนำขบวน มีขบวนกลองยาวและมีชาวบ้านมาร่ายรำในขบวนเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน เมื่อเวียนครบสามรอบแล้วจึงนำกระทงไปลอยในคลอง

ในปีนี้วัดสุวรรณารามและชาวบ้านบุเขาก็จะเวียนกระทงกันในคืนวันที่ 23 พฤศจิกายน ก่อนวันลอยกระทงหนึ่งวัน โดยในเวลาห้าโมงเย็นก็จะมีการสวดพุทธชัยมงคลคาถาและเวียนกระทงกัน หากใครอยากจะสัมผัสกับประเพณีเวียนกระทงของชาวบ้านบุ และอยากมาสนุกสนานกับงานลอยกระทงของทางวัดสุวรรณาราม ก็มาเจอกันกับฉันในงานลอยกระทงวันเสาร์นี้ได้เลย

* * * * * * * * * * * * * *

"วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ที่ 33 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2434-7790 ถึง 1 ส่วนชุมชนบ้านบุตั้งอยู่ในซอยข้างสำนักงานเขตบางกอกน้อย ใกล้กับวัดสุวรรณาราม มีรถประจำทางสาย 42, 68, 79, 83, 103, 108, 146 ผ่านหน้าปากซอยจรัญฯ 32 แล้วจึงเดินเข้ามาในซอยอีกประมาณ 700 เมตร ถึงวัดสุวรรณาราม หรือจะเดินมาทางด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช ผ่านเข้าชุมชนบ้านบุเลยก็ได้เช่นกัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เรื่องอาถรรพ์ที่วัดสุวรรณาราม

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" โดย คุณหนุ่มลูกทุ่ง


ไปข้างบน
แลกเปลี่ยนความรู้ - แสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่นี่
ความเห็นท้ายข่าว: 
โดยคุณ: 

เชื่อมต่อฐานข้อมูลไม่ได้