จับตากระแส "การฟื้นฟูวัฒนธรรมความเชื่อ" มังกรจริงใจหรือจิงโจ้? 
การบูชาขงจื่อในจีน
“ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม จารีตแต่โบราณถูกทำลายจนแทบไม่เหลือ การทำลายดังกล่าว เป็นการทำลายไปถึงขั้นของจิตวิญญาณ ทำหลายหลักความสัมพันธ์ 5 สถานดั้งเดิมที่ถูกหล่อหลอมมาจากลัทธิขงจื่อ” วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ผู้จัดการออนไลน์ – เป็นที่ทราบกันดีว่า ในห้วงกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานนับ 5,000 ปีของแผ่นดินมังกร ได้ถูกร้อยเรียงถักสานด้วยวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนามาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการสะดุด หรือล้มลุกคลุกคลานไปบ้างในบางช่วง อาทิการเผาตำราฝังบัณฑิตในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ การต่อต้านพุทธศาสนาจนถึงเผาวัดวาอาราม จับภิกษุและภิกษุณีสึกในรัชสมัยของถังอู่จงฮ่องเต้ ทว่าวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิมจีนก็ยังสามารถอยู่รอดมาโดยตลอด
กระทั่ง.. หลังปีค.ศ. 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966- ค.ศ.1976)เหมาเจ๋อตงและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการให้ประชาชนถืออุดมการณ์มาร์กซ-เลนิน ต่อต้านแนวคิดแบบศักดินา ทุนนิยม ขงจื่อ และศาสนาอย่างรุนแรง ทำให้มีการเผาทำลายวัด โบสถ์ ของพุทธ คริสต์ เต๋า และอิสลามเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบังคับไม่ให้มีการกราบไหว้ จัดตั้งศาลบรรพชน ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนถูกทำลายลงอย่างรุนแรง
แต่แล้วเมื่อวันเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน นาวามังกรภายใต้การนำของประธานาธิบดีหูจิ่นเทากลับประกาศฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิม คืนชีพแนวคำสอนของขงจื่อ ด้วยการริเริ่มให้โรงเรียนต่างๆเปิดสอนคัมภีร์จตุรปกรณ์อันเป็นคำสอนของขงจื่อให้กับเด็กๆ อีกทั้งสนับสนุนกิจกรรมต่างๆในศาสนามากขึ้น อย่างเช่นการอนุญาตให้มีการจัดพิธีบูชาขงจื่อ หรือบรรพกษัตริย์โบราณอย่างหวงตี้ - ต้าอี่ว์อย่างเอิกเกริก การทำให้ทั่วโลกต่างตั้งข้อสงสัยว่า นโยบายดังกล่าวนั้น เป็นไปเพราะจีนต้องการให้เสรีภาพกับประชาชนจริงหรือมีเบื้องหลังอื่นใดแอบแฝง?
ในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “จีนเหลียวหลังมังกรเดินหน้า : การพลิกฟื้นมรดกความเชื่อของจีนปัจจุบัน”ที่จัดโดยโครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ศิริไกร กีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เท้าความปัญหาดังกล่าวว่า “ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ผู้นำจีนต้องการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนแบบเก่าให้กลายเป็นวัฒนธรรมแบบสังคมนิยมอย่างรวดเร็ว จึงทำการต่อต้านการนับถือศาสนาอย่างรุนแรง นอกจากเผาทำลายวัดและโบสถ์ ยึดที่ดินวัดมาเพาะปลูกเป็นจำนวนมากแล้ว ยังไม่อนุญาตให้นักบวชพุทธ เต๋า คริสต์ แต่งกายแบบนักบวชไปยังที่สาธารณะ ส่งเสริมให้นักบวชแต่งงาน รับประทานเนื้อสัตว์ บังคับให้ชาวมุสลิมเลี้ยงหมู ทำให้วัดเต๋าและพุทธลดลงจากกว่า 60,000 แห่งในปี 1950 เหลือเพียง 8,000 แห่ง”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร สิกขโกศล ได้เปิดเผยว่า “ในสมัยนั้น พรรคคอมมิสต์ได้มีความพยายามให้ทุกคนตัดขาดจากญาติมิตร ซึ่งแม้ไม่ได้ออกประกาศเป็นทางการ แต่ก็ผลักดันด้วยพฤตินัย เช่นกับนักศึกษาที่กำลังจะจบ ก็มีการเจรจาด้วยวาจาว่าหากจะรับราชการ จะต้องยอมตัดญาติแล้วไปทำงานในที่ไกลๆ จึงจะได้รับการบรรจุ”
“สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าขงจื่อกล่าวถูกต้อง ในสังคมนั้นบุพการีจะต้องมาก่อน การตัดพ่อตัดแม่ในอดีต ได้ทำให้คนจีนกลายเป็นคนไร้น้ำใจ ไร้สัมมาคารวะ”
ความคิดนี้ ได้สอดรับกับความเห็นของอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบลจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ระบุว่า “ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม จารีตแต่โบราณถูกทำลายจนแทบไม่เหลือ การทำลายดังกล่าว เป็นการทำลายไปถึงขั้นของจิตวิญญาณ ทำหลายหลักความสัมพันธ์ 5 สถานดั้งเดิมที่ถูกหล่อหลอมมาจากลัทธิขงจื่อ อันได้แก่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน บุพการีกับลูก พี่กับน้อง สามีกับภรรยา และเพื่อนกับเพื่อน ให้หันมาถืออุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นหลัก”
“มีนักการทูตต่างชาติจำนวนไม่น้อย ที่มักตั้งคำถามกับผมว่าเหตุใดปัจจุบัน นักการทูตจีนได้วางตัวเป็น business like มากขึ้น จากที่ในอดีตนักการทูตจีนมักจะเข้ามาโอภาปราศรัย พูดคุยระลึกถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน แต่ปัจจุบันกลับเหลือแต่เรื่องของผลประโยชน์?” อาจารย์วรศักดิ์กล่าว
ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบัน จีนจำเป็นต้องทบทวนท่าทีและแนวทางนโยบายเก่าๆในด้านวัฒนธรรมและศาสนาของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะในความเป็นจริง จีนได้พบว่านโยบายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสุญญกาศทางความคิด เกิดความเสื่อมทางค่านิยมสังคม ทำให้ผู้คนเห็นแก่ตัวไร้น้ำใจ การไร้สัมมาคารวะ เกิดการคอรัปชั่นในทุกระดับชั้นอย่างมหาศาล ซึ่งสิ่งนี้ แม้ว่าในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง ที่เริ่มปรับเปลี่ยนท่าที ด้วยการให้เสรีภาพแบบยืดหยุ่นต่อศาสนา และผลักดันลัทธิบริโภคนิยม ที่มุ่งให้คนหันความสนใจไปที่ความรุ่มรวยมั่งคั่งก็ไม่สามารถทดแทนได้
นอกจากนั้นการปิดกั้นศาสนาเก่าๆ ทำให้ผู้คนยิ่งเกิดความโหยหาทางจิตวิญญาณ จนหันไปหาศาสนาใหม่ๆอาทิลัทธิฝ่าหลุนกงเป็นต้น ทำให้ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน และหูจิ่นเทาจำต้องปรับปรุงนโยบายด้านศาสนาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยการใช้รูปแบบวัฒนธรรมต้านวัฒนธรรม ด้วยการสร้างหลักจริยธรรมจีนขึ้นมาใหม่ ใช้การรื้อฟื้นหลักคำสอนเก่าของลัทธิเต๋า ขงจื่อ ที่สอดคล้องกับอุดมคติสังคมนิยม และอนุญาตให้ประชาชนนับถือหลักคำสอนของศาสนาดั้งเดิมอาทิ พุทธ เต๋า ขงจื่อ มุสลิม และคริสต์ ดีกว่าที่จะปล่อยให้ประชาชนหันไปหาลัทธิฝ่าหลุนกง
อย่างไรก็ตาม จากการที่รูปแบบดังกล่าว ดูจะขัดแย้งกับอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ที่มองว่าวัฒนธรรมโบราณเป็นเรื่องของชนชั้นศักดินา มองว่าศาสนาเป็นสิ่งงมงายและทำให้ประเทศชาติถอยหลัง จนถึงขั้นเคยมีการปราบปราบ โฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆอย่างร้อนแรง ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อกังขาว่า ความพยายามของมังกรในปัจจุบันนี้ มีเบื้องหลังอะไรอื่นแอบแฝงอยู่อีกหรือไม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชื่อว่า การรื้อฟื้นมรดกทางวัฒนธรรมและความเชื่อของจีนในครั้งนี้เป็นการเอาจริง ทว่าอาจมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงอาทิการใช้การฟื้นฟูมรดกดั้งเดิมเพื่อการสร้างประโยชน์โภคผลจากอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบสินค้าหรือการท่องเที่ยว
นอกจากสมมติฐานดังกล่าวแล้ว จีนยังอาจอาศัยสิ่งนี้เพื่อการเตรียมสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองชุดใหม่ เพราะคงเป็นการยากที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ดั้งเดิมจะสามารถคงอยู่ได้ท่ามกลางสังคมที่อาศัยกลไกตลาดเป็นตัวชี้นำอย่างเช่นในปัจจุบัน
ด้านอาจารย์วรศักดิ์ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ผมไม่มั่นใจว่า การฟื้นฟูมรดกทางความเชื่อของจีน ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะการรื้อฟื้นความเชื่อดั้งเดิมนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งหลายอย่างเช่น สำนักชนชั้นกรรมมาชีพที่ถูกปลูกฝังมานาน หรือสำนึกของวัฒนธรรมตะวันตกที่แทรกเข้ามาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะไม่แน่ใจว่าการรื้นฟื้นดังกล่าวจะสามารถอธิบายสัมพันธภาพ 5 สถาน หรือสามารถสะท้อนคุณค่าทางจริยธรรมในอดีตได้หรือไม่”
ในขณะที่ศาสตราจารย์ฟู่เจิงโหย่ว ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า “ในอนาคต รัฐบาลจีนมีความจำเป็นจะต้องฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงามในอดีต และเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมเหล่านี้อย่างเข้มข้นขึ้น และจะส่งผลให้มีคนหันมานับถือลัทธิเต๋ากับขงจื่อมากขึ้นตามลำดับ”
|