หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

เปิดประตู สู่...“ภูฏาน” (2) ตอน : ขึ้นสวรรค์เมืองปาโร

วัดทักซัง - Taktshang Goemba หรือ "รังเสือ - Tiger Nest" อันเป็นที่เคารพสักการะยิ่งของชาวพุทธในภูฏาน ตั้งอยู่บนหน้าผาสูง 900 เมตรชายเขตเมืองปาโร



วัดทักซัง ที่ชาวภูฏานเชื่อว่าถ้าได้ขึ้นวัดนี้เปรียบได้กับการขึ้นสวรรค์

ทุกเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่ประเทศ "ภูฏาน" จะต้องไปลงจอดยังสนามบินปาโร สนามบินแห่งเดียวในดินแดนมังกรสายฟ้าที่ตั้งอยู่ใน "เมืองปาโร" (Paro) เมืองที่มีที่ราบพอจะสร้างสนามบินและเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงทิมพูมากที่สุด(นำเสนอเรื่องราวของเมืองทิมพูไปในตอนที่แล้ว)

ใครที่ลงเหยียบดินแดนมังกรสายฟ้าที่เมืองปาโรอาจจะรู้สึกผิดคาด เพราะเมืองนี้แม้จะเป็นศูนย์กลางทางการบินระหว่างประเทศหนึ่งเดียวของภูฏาน แต่ว่ากลับไม่มีบรรยากาศของความอึกทึกพลุกพล่านให้เห็นดังเช่นศูนย์กลางทางการบินของเมืองใหญ่ๆทั่วไป

ตรงกันข้ามปาโรกลับเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสงบงาม แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ และอากาศอันบริสุทธิ์ ที่เพียงแค่นั่งรถออกจากสนามบินเราก็จะได้เห็นถนนที่ไต่ลัดเลาะไปตามขุนเขาอันสลับซับซ้อนแล้ว บางช่วงจะเป็นหมู่บ้านชาวนาที่ปลูกแยกเป็นหลังๆในสไตล์ภูฏานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ปาโร ซอง อดีตป้อมปราการที่แปรเปลี่ยนมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ว่ากันว่าทัวร์แทบทุกคณะเมื่อมาเที่ยวภูฏาน จะต้องมีโปรแกรมเที่ยว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน ที่ในอดีตคือป้อมปราการเก่า (Ta Dzong) สร้างขึ้นราวกลางศตวรรษที่ 17 ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2511

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารทรงกลม มีทั้งหมด 6 ชั้น ภายในจัดแสดงของโบราณ งานศิลปะ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆที่แสดงถึงความเป็นมาของประเทศภูฏาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องแต่งกายของ กษัตริย์ ราชวงศ์ นักบวช(ลามะ) และชาวบ้านทั่วไป โดยชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งห้องบูชาและที่จัดแสดงแสตมป์หลากหลายรูปแบบที่สวยงามน่ายล ในขณะที่ชั้นใต้ดินก็เป็นที่เก็บโบราณวัตถุต่างๆ อาทิ เครื่องโลหะ เครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม่แกะสลัก อาวุธโบราณ ตัวทาคิน(สัตว์ประจำชาติภูฏาน)สตาฟฟ์

ส่วนบริเวณใกล้ๆกับพิพิธภัณฑ์ฯเป็นที่ตั้งของ ปาโร ซอง (ซอง(Dzong) : คือป้อมปราการ) ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2189 แต่ว่าในปี พ.ศ. 2450 ซองแห่งนี้ถูกไฟไหม้เสียหายยับเยิน ก่อนที่ทางการจะมีการบูรณะใหม่พร้อมๆกับสร้างสะพานไม้อันสวยงามพาดผ่านแม่น้ำเข้าสู่ตัวซองสีขาวเด่นเป็นสง่าในแบบสถาปัตยกรรมภูฏาน ส่วนภายในก็งดงามด้วยสีสันลวดลายประดับและลายแกะสลักต่างๆตามแบบศิลปกรรมภูฏาน รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวกับศาสนา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน แหล่งรวบรวมศิลปะวัตถุล้ำค่า

อนึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ปาโร ซองยังเป็นที่บริหารราชการประจำเขต รวมถึงเป็นวัดและโรงเรียนสงฆ์อีกด้วย

พูดถึงซองหรือป้อมปราการแล้ว ในเมืองปาโรยังมี ดรุกยาลซอง (Drukgyel Dzong) เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซองแห่งนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2190 โดย ซับดรุง งาวังนัมเกล เพื่อรำลึกถึงชัยชนะที่ชาวภูฏานมีต่อทิเบต เพราะก่อนหน้านั้นชาวทิเบตได้รุกรานภูฏานมาโดยตลอด

แต่ว่าดรุกยาลซองก็ประสบปัญหาคล้ายกับปาโรซองคือถูกไฟไหม้เหลือแต่กำแพงป้อม ในปี พ.ศ. 2497 ก่อนที่จะมีการสร้างขึ้นใหม่ในอีกประมาณ 30 ปีให้หลัง โดยถอดแบบจากรูปถ่ายของนิตยสาร National Geographic ที่เคยถ่ายไว้ในปี พ.ศ. 2457

นอกจากซองแล้ว การที่ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีพุทธศาสนานิกายมหายานลัทธิตันตระหรือลัทธิลามะเป็นศาสนาประจำชาติ วัดวาอารามต่างๆในดินแดนมังกรสายฟ้าจึงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยวัดที่เด่นๆในเมืองปาโรก็มี วัดคิชู (Kyichu Lhakhang) หนึ่งในบรรดาวัดเก่าแก่ที่สุดแห่งภูฏาน ที่มีตำนานเกี่ยวพันกับการสร้างวัด 108 แห่งในสมัยพระเจ้าซองเซนโป เพื่อตอกอวัยวะ 108 จุดของยักษ์ชั่วร้าย

โดยมีโบสถ์หลังเก่าเชื่อว่าสร้างตามตำนานดังกล่าว เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ ภายในโบสถ์ ประดิษฐานพระประธาน ที่เบื้องหน้าองค์พระนั้นมีรอยบุ๋มลึกลงไป เนื่องจากการยืนและกราบพระ ณ จุดนั้นของพระภิกษุและฆราวาสซ้ำๆกันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นรอยบุ๋มลงไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่อวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

บ้านในปาโรจะปลูกสร้างลดหลั่นกันไปตามภูมิประเทศ

ส่วนอีกวัดหนึ่งที่ใครไปเที่ยวเมืองปาโรแล้ว ไม่ควรพลาดการไปเยือนด้วยประการทั้งปวงก็คือ วัดทักซัง(Taktsang Lhakhang) ซึ่งชาวภูฏานเชื่อกันว่า วัดทักซังเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่ในชีวิตต้องขึ้นไปเยือนสักครั้งเพราะเปรียบได้กับการขึ้นสวรรค์เลยทีเดียว

แต่ทว่าการขึ้นสู่สวรรค์ที่วัดทักซังนั้นไม่ใช้เรื่องง่ายๆเลยสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3,000 เมตร ที่นอกจากอากาศจะเบาบางแล้ว ช่วง 800 เมตรสุดท้ายถือว่าสมบุกสมบันและต้องใช้ความทรหดไม่น้อยทีเดียว เพราะช่วงแรกจะต้องนั่งม้าขึ้นเขาแล้วต่อด้วยการเดินเท้าสู่วัดทักซัง

ในช่วงขึ้นม้าประมาณ 1 ชั่วโมงนั้นค่อนข้างน่าตื่นตาตื่นใจ(เพราะไม่เหนื่อย) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้โอกาสนี้นั่งม้าชมวิวที่มีทั้งทุ่งกว้าง ป่าสน ดงโอ๊ก ดงกุหลาบพันปี ก่อนที่จะไปถึงยังลานกว้างที่มีธงปลิวไสวเพื่อเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งในระหว่างทางที่เต็มไปด้วยดอกไม้ป่า มอส เฟิน จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นทางเดินเลาะหน้าผาแคบๆที่ทั้งหนาวและอากาศเบาบาง ฉะนั้นการค่อยๆเดินไปเรื่อยๆ แบบเหนื่อยนักก็พักหายใจเสียก่อนจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำที่สุด

ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น สำหรับวัดทักซังสวรรค์ของชาวภูฏานนั้น (ทักซังแปลว่า ถ้ำเสือ)เป็นวัดที่มีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า กูรู รินโปเช ผู้นำพุทธศาสนาแบบตรันตระหรือลัทธิลามะเข้ามาในภูฏานนั้น มีอิทธิฤทธิ์ สามารถเหาะเหิน เดินอากาศ และแปลงร่างได้

โดยท่านได้แปลงร่างเป็นยักษ์ขี่บนหลังเสือ(ว่ากันว่าเสือตัวนี้คือร่างแปลงของภรรยาท่าน) เหาะขึ้นไปนั่งทำสมาธิบนเขาแห่งนี้เป็นเวลา 3 เดือน และนี่ก็คือจุดกำเนิดของการขึ้นไปทำสมาธิวิปัสนาบนเขาแห่งนี้ของพระลามะรุ่นต่อๆมา

บรรยากาศภายในปาโร ซอง โดดเด่นไปด้วยลวดลายและสีสันของศิลปกรรมแบบภูฏาน

ครั้นมาถึงยุคของ ซับดรุง งาวังนัมเกล ผู้รวบรวมภูฏานเป็นหนึ่งเดียวในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (และผู้สร้างปาโรซอง)ได้คิดที่จะสร้างวัดขึ้นบนเขาแห่งนี้เพื่อรำลึกถึง กูรู รินโปเช แต่ว่าท่านได้อำลาจากโลกไปเสียก่อน กระนั้นปรารถนาของซับดรุง งาวังนัมเกล ก็เป็นจริงขึ้นมาเมื่อ Desi Tenzing Rabgye ได้สร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2235 ก่อนที่จะมีการสร้างส่วนอื่นเพิ่มเติมมากขึ้น จนมีอาคารทั้งหมด 13 หลังในปัจจุบัน แต่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้เป็นบางหลัง

ที่เด่นๆก็จะมีโบสถ์ 3 หลังที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงผาหน้าวัด โบสถ์หลังแรกแม้จะเล็กที่สุดแต่ว่ากลับมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะมีถ้ำ Pelphug อยู่ภายใน ด้านโบสถ์หลังที่ 2 ที่อยู่เหนือหลังแรกไปเล็กน้อยภายในมีรูปปั้นของ กูรู รินโปเช อยู่รวมถึงจิตกรรมฝาผนังแบบภูฏานที่น่ามอง ส่วนโบสถ์หลังที่ 3 ที่มีขนาดใหญ่สุดนั้นสร้างขึ้นเพื่อถวายกูรู รินโปเช โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ที่วัดทักซังยังมีเมฆขาวฟูฟ่องลอยล่องไต่ระเรี่ยคลอเคล้า ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่วิมาน ซึ่งนอกจากความศักดิ์สิทธิ์แล้ว บรรยากาศและความขรึมขลังของวัดทักซังแห่งเมืองปาโรนั้น ดูประหนึ่งสวรรค์บนพื้นพิภพทีเดียว...(อ่านต่อตอนหน้า)

สนามบินปาโร สนามบินหนึ่งเดียวในภูฏาน

*****************************************

ภูฏาน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย โดยยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกในข้อแม้ ต้องไม่เกิน 10,000 คนต่อปี และนักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายภาษีรายวัน วันละ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว(มี.ค.-พ.ย.) และ 165 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (ธ.ค.-ส.ค.) โดยอัตราภาษีนี้รวมค่าที่พัก ค่าอาหาร การเดินทางภายในประเทศ บริการนำเที่ยว และกิจกรรมท่องเที่ยวหรือค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

การเดินทางสู่ภูฏาน จากมีสายการบิน Druk Air บินจากเมืองไทยสู่ภูฏาน สำหรับผู้สนใจข้อมูลภูฏานเพิ่มเติมสามารถตรวจสอบได้ที่ http://72.18.135.200/DOTBHUTAN/default.asp หรือที่ สถานทูตภูฏาน 0-2274-4742

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" เรียบเรียงโดย : คุณเหล็งฮู้ชง



ไปข้างบน