หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

คุณหญิงทิฟฟี เห็นชอบเซ็นเอง งบหนังพระไตรปิฎก ทีมงานเมินอนิเมชั่น บอกของไทยอีก 100 ปีถึงทำได้

"สนั่นพงษ์ - สุรพล"

ทีมงาน "พระไตรปิฎก" ยกทีมแจงรายละเอียด เผย งบ 700 ล้านบาทจากรัฐฯ คุณหญิงทิพาวดี เซ็นเห็นชอบแล้ว ระบุเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเผยแพร่ขณะที่ในส่วนของเอกสารโครงการเขียนชัดทั้งค่าจ้างผลิต ค่านักแสดง ฯ ส่วนกรณีหนุ่ม "มาร์ค" กับบทพระพุทธเจ้ายังไม่เคาะ ยันใช้คน เมินอนิเมชั่น บอกของไทยอีก 100 ปีถึงทำได้

ถูกกระแสสังคมวิจารณ์อย่างหนักทีเดียวทั้งในส่วนของภาพลักษณ์นักแสดง รวมถึงที่มาและเครดิตความน่าเชื่อถือของทีมงานผู้ผลิต สำหรับโครงการการสร้างภาพยนตร์ "พระไตรปิฎก" ด้วยทุนสร้างที่สูงกว่า 1,200 ล้านบาท (ตอนละ 1 ชั่วโมง จำนวน 250 ตอน) โดยแบ่งเป็นเงินจากรัฐบาล 700 กว่าล้านบาท และเงินบริจาค-สปอนเซอร์อีกกว่า 500 ล้านบาท

หลังเป็นข่าวออกไปอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ (16) ทีมงานผู้สร้างภาพยนต์เรื่อง "พระไตรปิฎก" นำโดย สนั่นพงษ์ สุขดี ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง, พยุงเวทย์ พยกุล หัวหน้าคณะผู้กำกับ, สุรพล กรสวัสดิ์ ผู้กำกับศิลปกรรม รวมถึงว่าที่พระเอกของเรื่อง มาร์ค สงกรานต์ ทัพมณี ก็ได้เดินทางมายังสำนักงานของนสพ.ผู้จัดการรายวัน บริเวณถนนพระอาทิตย์ เพื่อขอชี้แจงรายละเอียดของการจัดทำโครงการ

"สนั่นพงษ์"

ทั้งนี้ สนั่นพงษ์ สุขดี ได้สรุปให้ฟังถึงที่มาของโครงการว่า เกิดขึ้นมาจากทีมงานที่เริ่มมีความคิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และได้นำเรื่องไปปรึกษากับคณะสงฆ์เพื่อขอคำแนะนำ ก่อนได้ข้อสรุปว่าจะทำออกมาในรูปของโครงการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษาในปี 2550 โดยมีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) รับเป็นเจ้าของโครงการจากการเห็นชอบของมหาเถรสมาคม(มส.)

สำหรับในส่วนของงบประมาณจากทางรัฐบาล 700 ล้านบาทที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาก่อนที่จะมีข่าวว่าทางรัฐบาลได้ระงับงบประมาณในส่วนนี้ไว้ก่อนนั้น นายสนั่นเผยว่าทีมงานยังไม่ได้รับเงินมาแต่อย่างใดเพียงแต่ได้รับการเซ็นอนุมัติให้ความเห็นชอบจากคุณหญิง "ทิพาวดี เมฆสวรรค์" ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ นาย "ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องนี้ยังไม่ผ่านการตัดสินใจของตนและคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

โดยเงินส่วนที่ว่านี้จะถูกใช้เฉพาะในเรื่องของค่าการผลิตแผ่นดีวีดีเพื่อแจกจ่ายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณในการถ่ายทำ 500 กว่าล้านบาทที่จะได้มาจากการรับบริจาค+สปอนเซอร์แต่อย่างใด และถึงจะไม่ได้เงินที่ว่ามาการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน

"ตอนที่พวกผมไปเสนอ เพื่อหาเงินมาทำในราคาถูกตรงนี้มันก็เป็นเรื่องปกติ เราก็บอกว่า อยากจะทำอย่างนี้ เราก็อยากให้คณะสงฆ์เป็นผู้ดูแลด้านวิชาการ ทีนี้พอทำเรื่องนี้เราก็ต้องทำในนามคณะสงฆ์ เข้าไปขออนุญาตจากมหาเถระสมาคม นี่คือประเด็นแรก ต่อมาเราก็ต้องมาดูว่า เราจะเอาเข้าโครงการทำเพื่อถวายในหลวง"

"ทีนี้ตอนที่ไปเสนอเพื่อขอทำมันต้องมีบท มีใครเป็นผู้กำกับ มีอะไรอย่างนี้ อันนั้นเราทำในฐานะที่เราใช้กลไกทางการตลาดอยู่แล้ว มาถึงกระบวนการที่บอกว่าให้แจก เพื่อจะของบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ถ้าถามว่าผมเดินไปหรือยัง ก็เริ่มเดินตั้งแต่ตอนที่ไปเสนอ แล้วเวลาที่ผมไปเสนอผมต้องมีการเขียนบทเขียนอะไรไปพร้อมอยู่แล้ว บอกผู้กำกับ บอกนักแสดงรุ่นเก่าๆ แต่สำหรับคนใหม่ ผมบอกว่าจะเปิดรับสมัคร ตรงนั้นผมทำไปก่อนแล้ว"

"ต่อมาถึงเรื่องของบประมาณแจก ผมไม่ถึงขนาดนั้น แต่ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลก็พอได้ ทีนี้พอคุณหญิงเซ็นอนุมัติมา ท่านก็บอกว่าต้องใช้ระเบียบสำนักจุฬาฯ ซึ่งเราก็พร้อม...”

แจงค่าผลิตเฉลี่ยตกตอนละ 2 ล้านบาทต้องถือว่าไม่แพง เช่นเดียวกับการปั๊มออกมาเป็นแผ่นดีวี5 จำนวนทั้งหมด 12,500,000 แผ่น (จำนวน 1 แสนชุด ชุดละ 12 แผ่น )

"มาร์ค"

ส่วนของกระแสของการวิจารณ์ถึงตัวนักแสดงหนุ่มที่จะมารับบทเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนายแบบหนุ่ม "มาร์ค สงกรานต์ ทัพมณี" ที่มหาเถรสมาคม (มส.) ได้ให้ความเห็นชอบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า(ตามคำให้สัมภาษณ์ของนางณภควดี กองผาพา ประชาสัมพันธ์กองถ่าย) ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์ถึงเรื่องภาพลักษณ์เพราะในอดีตเจ้าตัวเคยถ่ายแบบให้กับนิตยสารแนววาบหวิวมาก่อนนั้น เรื่องนี้ทีมงานผู้สร้างพระไตรปิฎกแสดงความคิดเห็นว่า

หลังเป็นข่าวออกมาทางทีมงานได้หันมาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นว่าไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง และคงเป็นเรื่องยากที่จะหาใครที่เหมาะสมมาแทนโดยที่ไม่มีประวัติอะไรมาก่อน ส่วนกระแสของการวิจารณ์ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะนั้น คงเป็นเรื่องของแต่ละคนเพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครเคยเห็นหรือรู้มาก่อนว่าใบหน้าของพระพุทธเจ้าเป็นเช่นไร ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดจากการตีความทั้งสิ้น

"ก็มีคนเสนอมาเยอะเหมือนกัน มีบางคนเสนอให้เอาพระพุทธรูปไปตั้ง ผมก็บอกว่าเมื่อเราทำพระไตรปิฎกก็ต้องทำตามบทพระไตรปิฎก ในเมื่อพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ ก็ต้องเป็นมนุษย์ เวลามาแสดงผมก็บอกว่าให้แสดงออกมาเป็นมนุษย์ แต่จะให้เห็นหน้าหรือไม่เห็นหน้ามันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง"

"เวลาเราจะคัดเลือก กำหนดสเปคนักแสดง เราก็ต้องไปดูตำราหรือดูภาพวาดอะไรต่างๆ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ทีนี้พอมีมาร์คมา เราให้แต่งตัวดู ก็คิดว่าใช้ได้ เพราะเราหาลักษณะคนที่เป็นลูกครึ่ง ประเด็นก็คือคนรุ่นใหม่ มักจะบริโภคสิ่งที่เป็นสากล สากลทั้งรูปร่าง หน้าตาและมาตรฐานต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อการบริโภคที่เป็นมาตรฐานสากลนั้น อันดับแรกต้องได้มาตรฐานที่มีอิมเมจที่ตรงนี้ เพราะคนแก่ๆ รุ่นผมคงไม่ต้องมาเผยแพร่แล้ว มันต้องไปเผยแพร่คนรุ่นใหม่“

"คุณหญิงทิพาวดี"

ต่อข้อเสนอแนะในการใช้ทางเลี่ยงด้วยการใช้การทำแอนิเมชั่นแทนนั้น สุรพล กรสวัสดิ์ ผู้กำกับศิลปกรรมบอกว่า เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะวงการการสร้างการ์ตูนของไทยนั้นต้องถือว่ายังไปไม่ถึงไหน..."ไม่เคยคิด เราก็พอจะรู้จักกัน...ถ้าจะทำหนังแอนิเมชั่น ในส่วนที่เป็นประวัติของพระพุทธเจ้านะครับ ผมว่าของไทยนี่อีกร้อยปี ถึงจะทำได้นะครับ ในระดับที่จะเผยแพร่หนังเรื่องนี้"

เข้าใจเป็นเรื่องที่เซ้นซิทีฟ ยืนยันทุกอย่างเกิดจากความปรารถนาดี และพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างเพื่อความโปร่งใส ซึ่งถ้าหากเรื่องของนักแสดงหนุ่มผ่าน ก็จะเดินหน้าต่อทันที โดยจะมีการเปิดกล้องในวันที่ 23 ตุลาคมอย่างแน่นอน

"ใช้เวลาถ่าย 3 ปีครับ ตอนนี้ทุกอย่างมันเริ่มแค่ดูโลเกชั่น แล้วก็คัดเลือกนักแสดง ทีมงานทุกคน ทีมงานทั้งผู้กำกับ ทีมงานสร้างให้พร้อม เพื่อที่จะลงมือทำงาน แต่เรายังติดอยู่คนเดียวคือเรื่องพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง พอทุกคนไม่ยอมรับ เราก็ต้องนำมาทบทวน ทีนี้ถ้าเราสรุปได้ว่าเราจะเอาคนนี้ พวกผมก็จะเดินหน้าทำกันต่อเลย"

อย่างไรก็ตามกับการชี้แจงในครั้งนี้ต้องถือว่ามีข้อมูลหลายส่วนทีเดียวที่ไม่ตรงกับเอกสารของโครงการที่ออกมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของโครงการซึ่งที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจว่ามหาเถรสมาคมและรัฐบาลเป็นคนคิด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของภาคเอกชนทำไปเพื่อเสนอ (อันเป็นข้อสงสัยถึงที่ว่า ทำไมทีมงานชุดนี้จึงได้เข้ามารับงานใหญ่ งบเยอะเช่นนี้ได้) รวมไปถึงเรื่องของสถานที่ถ่ายทำที่ว่ามีการไปถ่ายทำสถานที่จริงในประเทศอินเดีย ทั้งๆ ที่เป็นเพียงการเดินทางไปดูโลเกชั่น

หรือจะเป็นในส่วนของค่าใช้จ่ายจากรัฐฯ 700 ล้านบาทที่ทีมผู้จัดบอกว่าจะเป็นเฉพาะค่าเผยแพร่ แต่ในเอกสารระบุนั้นกลับระบุว่าเงินส่วนที่ว่าจะถูกกันออกมาเพื่อเป็นค่าบริหารโครงการ ค่าเตรียมการ ค่าจ้างผู้ถ่ายทำ ค่าจ้างนักแสดง และอีกหลายส่วนซึ่งล้วนอยู่ในขั้นตอนของการถ่ายทำทั้งสิ้น ที่สำคัญในส่วนของงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายในการถ่ายทำซึ่งจะมาจากการบริจาค และสปอนเซอร์จำนวน 500 ล้านกว่าบาทนั้นถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการเปิดรับบริจาคแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้มีข่าวออกมาจากการแถลงของพระเทพวิสุทธิกวี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานโครงการจัดสร้างพระไตรปิฎกฉบับภาพยนตร์ว่า ในช่วงเดือน เม.ย. 2550 ของปีนี้จะมีการนำตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสด้วย ทั้งๆ ที่ถึง ณ เวลานี้ยังไม่ปรากฏข่าวของการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาแต่อย่างใด

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"




ไปข้างบน