หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

จาก 'ภิกษุสันดานกา' ถึง 'ชเวดากอง'



ความงามแห่งชเวดากองยามค่ำคืน
(ภาพก่อนเกิดการเดินขบวนในพม่า)


...ปีที่แล้ว 2549

นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่ผมไปเยือนพม่า

ในครั้งนั้นผมไปเที่ยวและพักที่ย่างกุ้ง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไปย่างกุ้งแล้วไม่ได้ไปไหว้ “มหาเจดีย์ชเวดากอง” ก็ประหนึ่งว่ายังไปไม่ถึงเมืองย่างกุ้งโดยสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่พลาดการไปสักการะเจดีย์ชเวดากองด้วยประการทั้งปวง



เที่ยวชเวดากองแล้วย้อนมองตน

แม้ภาพเจดีย์ชเวดากองที่เห็นตั้งตระหง่านอยู่เบื้องล่างจะดูใหญ่โตแล้ว แต่เมื่อได้ขึ้นไปยืนใกล้ๆณ ลานกว้างรอบๆองค์เจดีย์ ผมรู้สึกว่ามนุษย์กระจ้อยร่อยไปทันทีหากเทียบกับความยิ่งใหญ่อลังการของพระมหาเจดีย์ทององค์นี้ แถมยังเป็นความยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการบ่มเพาะแรงศรัทธาสร้างขยายให้สูงใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแรกเริ่มเดิมทีที่เจดีย์ชเวดากองถือกำเนิดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรจุเส้นผมของพระพุทธเจ้า 8 เส้น เมื่อราว 2,500 ปีที่แล้วในสมัยพระเจ้าโอกกลาปะ ตามหลักฐานระบุว่าสูงเพียง 27 ฟุตเท่านั้น

แต่ด้วยแรงศรัทธาแห่งองค์พระมหาเจดีย์ก็ทำให้กษัตริย์ในแต่ละยุค สร้างเจดีย์ให้สูงใหญ่เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีความสูงถึง 326 ฟุต กว้างถึง 1,355 ฟุต เป็นเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามที่ใช้ทองคำแท้ๆตีเป็นแผ่นๆจำนวน 8,688 แผ่นนำไปเรียงร้อยกันตั้งแต่ตัวเจดีย์(องค์ระฆัง)ขึ้นไปจนถึงยอดรวม

ว่ากันว่าทองคำที่หุ้มเจดีย์ชเวดากองทั้งหมดหนักรวมกันถึง 9 ตันเลยทีเดียว ทำให้องค์เจดีย์ชเวดากองดูเป็นสีทองงดงามเปล่งปลั่งมลังเมลืองเหลืองอร่ามอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

หนึ่งในศรัทธาที่ชาวพม่ามีต่อเจดีย์ชเวดากอง
(ภาพก่อนเกิดการเดินขบวนในพม่า)


ไม่เพียงเท่านั้น บนยอดฉัตรสูงสุดของเจดีย์ยังประดับไปด้วยอัญมณีเป็นจำนวนมากโดยมีเพชรเม็ดใหญ่ถึง 76.6 กะรัตเป็นไฮไลท์ ในขณะที่บริเวณรอบๆเจดีย์ชเวดากองก็ดูโดดเด่นไปด้วยศิลปกรรมแบบพม่า อาทิ อาคารหลังคาซ้อนหลายๆชั้น ลวดลายฉลุสังกะสีตกแต่งตามส่วนต่างๆของอาคาร ลวดลายสลักไม้ประดับตามเสาและผนังอันประณีตชวนมอง เป็นต้น

แต่สำหรับผมแล้ว ความยิ่งใหญ่ สวยงาม ตระการตา ของเจดีย์ชเวดากองดูจะเทียบไม่ได้กับความศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนชาวพม่า(และชาติอื่นๆ)มีต่อพระมหาเจดีย์องค์นี้ ที่ชาวพม่ายึดถือเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพและศรัทธาสูงสุด อีกทั้งยังเป็นเจดีย์ที่ทางคติล้านนาบ้านเราเชื่อว่า นี่คือพระธาตุประจำปีของคนที่เกิดปีมะเมีย(ปีม้า)ซึ่งหากใครเกิดปีนี้แล้วได้มาไหว้จะถือเป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิตเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ใครที่ขึ้นไปสักการะองค์เจดีย์ชเวดากอง นอกจากจะได้พบกับสีสันทางการท่องเที่ยวแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับบรรยากาศอันเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธาอยู่ทั่วบริเวณ ทั้ง หนุ่ม สาว เฒ่า แก่ เด็กเล็ก วัยรุ่น รวมไปถึงพระ เณร แม่ชี ที่ต่างก็เดินทางขึ้นมาสักการะเจดีย์ชเวดากองกันอย่างเนืองแน่นทุกวัน บางคนก้มลงหมอบกราบด้วยศรัทธาอย่างสุดซึ้ง บ้างก็นั่งท่องคาถา นั่งนับประคำ นั่งสมาธิ ด้วยจิตที่สงบนิ่งแน่วแน่ ในขณะที่อีกหลายๆคนเลือกที่จะสรงน้ำพระประจำวันเกิดที่ตั้งอยู่รอบๆองค์เจดีย์อย่างตั้งอกตั้งใจ

นับเป็นภาพที่ผมเห็นแล้วอดทึ่งในความศรัทธาที่ชาวพม่ามีต่อเจดีย์ชเวดากองและแนบแน่นต่อพระพุทธศาสนาไม่ได้ ซึ่งเมื่อมองเจดีย์ชเวดากองแล้วย้อนมองตนกลับมายังสยามประเทศ ผมอดสะทกสะท้อนใจไม่ได้ว่า บ้านเราที่เป็นเมืองพุทธ นับวันยิ่งมายิ่งดูเหินห่างจากพุทธศาสนามากขึ้นทุกที

...และนั่นคือความทรงจำแห่งชเวดากองที่พอเห็นภาพหรือข่าวเกี่ยวกับพระมหาเจดีย์เหล่านี้เมื่อไหร่ ภาพอันเปี่ยมศรัทธาของชาวพม่าที่มีต่อเจดีย์ชเวดากองและพระพุทธศาสนามักจะผุดแว่บขึ้นมาในห้วงความคิดของผมอยู่เสมอ...

พระพม่ารวมตัวที่เจดีย์ชเวดากองก่อนเดินขบวนไปในเมืองย่างกุ้ง


มองปรากฏการณ์ชเวดากองแล้วย้อนมองตน

ปีนี้ 2550

ข่าวการประท้วงในพม่าเริ่มปรากฏให้เห็นบ้างตามสื่อต่างๆตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยมีพระสงฆ์จากเมืองสิตต่วยเข้าร่วมประท้วงเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 ส.ค.

ช่วงแรกของการประท้วงยังมีคนเข้าร่วมไม่เท่าไหร่ แต่หลังจากที่พระสงฆ์เมืองปะก๊อกกูเดินสวดมนต์นำประชาชนประท้วงไปตามถนน แล้วทหารพม่าได้ออกมาทุบตีพระและยิงปืนข่มขู่ในวันที่ 5 ก.ย.

ทำให้กระแสการประท้วงในพม่าถูกจุดติดขึ้นมา โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำและกำลังหลักในการประท้วง ซึ่งพระพม่าให้เหตุผลในการประท้วงว่า เมื่อประชาชนเดือดร้อนพระสงฆ์ย่อมเดือดร้อนด้วย เพราะพระต้องบิณฑบาตจากประชาชน ถ้าประชาชนไม่มีจะกินนั่นย่อมทำให้พระไม่มีอาหารฉันตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพระจึงจำเป็นต้องออกมาช่วยประชาชนด้วยการประท้วงขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นราคาน้ำมันพรวดเดียวถึง 5 เท่าตัว

อนึ่งการที่พระสงฆ์พม่าออกมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกโดยเฉพาะเรื่องการเมืองถึงขนาดออกมาเดินขบวนประท้วง อาจจะดูค่อนข้างแปลกตาสำหรับคนไทย แต่หากไล่เลียงย้อนอดีตกลับไปจะพบว่าพระสงฆ์พม่ามีบทบาทในการบริหารประเทศเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ก่อนจะมามีบทบาททางการเมืองครั้งสำคัญในการกอบกู้ชาติ เรียกร้องเอกราช ขับไล่อังกฤษออกจากพม่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2


พระพม่ารวมตัวที่เจดีย์ชเวดากองก่อนเดินขบวนไปในเมืองย่างกุ้ง


เมื่อพระสงฆ์กระแสการประท้วงถูกจุดติดขึ้นมา การเดินขบวนครั้งใหญ่ของประชาชนนับแสนจึงเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.ย. ในจำนวนนี้มีพระสงฆ์เข้าร่วมขบวนหลายหมื่นรูปทีเดียว

จากนั้นในวันที่ 25 ก.ย.รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศเคอร์ฟิวในกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ แล้วต่อด้วยการสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและยิงปืนเข้าใส่ประชาชนในวันที่ 26 ก.ย. จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งแหล่งข่าวแต่ละแห่งต่างระบุตัวเลขไม่ตรงกัน

ภาพเหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็นแล้ว ประชาคมโลกและผู้รักความเป็นธรรมทั่วโลกต่างประท้วง ประณามต่อการกระทำอันโหดร้ายของรัฐบาลทหารพม่าในครั้งนี้ โดยเฉพาะการทำร้ายพระสงฆ์จนมรณภาพนั้นยังความเศร้าสลดให้กับพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก

หลายๆคนเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าปรากฏการณ์ชเวดากอง เพราะก่อนการเดินขบวนครั้งใหญ่พระสงฆ์จำนวนมากได้ไปรวมตัวกันที่เจดีย์ชเวดากองเพื่อสวดมนต์ภาวนา อีกทั้งภาพเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมหลายๆภาพของสำนักข่าวต่างประเทศต่างก็มีเจดีย์ชเวดากองหนึ่งในสัญลักษณ์ของพม่าเป็นฉากหลัง







พระไทยประท้วงภาพภิกษุสันดานกา (ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ)


และนั่นก็เป็นเหตุการณ์สดๆร้อนๆที่เกิดขึ้นในพม่า ซึ่งเมื่อเห็นปรากฏการณ์ชเวดากองแล้วผมก็อดที่จะย้อนมองตนกลับมายังสยามประเทศไม่ได้ เพราะช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นพระสงฆ์บ้านเราจำนวนหนึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงเหมือนกัน

เป็นการประท้วงต่อภาพ “ภิกษุสันดานกา” (และภาพ“หมา-นุษย์”)ผลงานรางวัลเหรียญทองจากงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 ของ อนุพงษ์ จันทร ที่ได้นำเสนอแนวคิดสะท้อนด้านลบของวงการสงฆ์บ้านเราออกมาเป็นภาพดังกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าต้องการแสดงภาพลักษณะของเปรตที่แฝงอยู่กับผู้คนในสังคมปัจจุบัน โดยนำความเชื่อเรื่อง“เปรตภูมิ” ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ใช้เตือนสติให้มนุษย์มีความเกรงกลัวต่อผลแห่งกรรม และสร้างสำนึกให้ตั้งอยู่บนรากฐานของศีลธรรมมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อถ่ายทอดความคิด อารมณ์ และความรู้สึกตามทัศนคติส่วนตนออกมาเป็นผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย”


ภาพ “ภิกษุสันดานกา” ผลงานของ อนุพงษ์ จันทร


แน่นอนว่าการตีความผลงานศิลปะนั้นเป็นเรื่องนานาจิตตัง ต่างจิตจ่างใจ แต่ละคนเมื่อได้เห็นภาพ“ภิกษุสันดานกา”และ“หมา-นุษย์” ย่อมมีมุมมองและทัศนคติต่อภาพทั้ง 2 แตกต่างกันออกไป หากบรรดาพระผู้ประท้วงจะตีความภาพนี้ว่าเป็นการจาบจ้วงดูหมิ่นศาสนาพุทธ ก็ย่อมเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมในมุมมองศิลปะรวมถึงการประท้วงของท่าน และก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่คนอื่นจะมองตรงกันข้ามว่านี่เป็นการสะท้อนด้านลบของวงการสงฆ์บ้านเราออกมาเป็นผลงานศิลปะได้อย่างตรงประเด็น

เพราะฉะนั้นไหนๆ เมื่อพวกท่านออกมาประท้วง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนา ทางที่ดีพวกท่านน่าจะไปประท้วงยังต้นเหตุจริงๆที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน ภิกษุสันดานกาของศิลปิน นั่นก็คือ พวกอลัชชี พระนอกรีต พวกเหลือบ-มารศาสนาจำนวนมาก ที่เอาชายผ้าเหลืองบังหน้าสร้างความเสื่อมเสีย กระทำย่ำยีต่อศาสนาพุทธ จนปรากฏเป็นข่าวฉาวโฉ่ขึ้นหน้าหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง

พวกนั้นแหละภิกษุสันดานกาตัวจริงเสียงจริง!?! ที่ไม่เพียงแค่ประท้วงเท่านั้น แต่ยังต้องกำจัดให้สิ้นซากออกไปจากพระพุทธศาสนาด้วย

******************



ภาพ “หมา-นุษย์” ผลงานของ อนุพงษ์ จันทร


หมายเหตุ : ในวันที่ 12 ต.ค. 50 มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ประกาศยุติการนำผลงาน"ภิกษุสันดานกา" ไปจัดแสดงตามมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด 6 แห่งแล้ว(แต่จะแสดงภาพนี้และภาพอื่นๆเฉพาะส่วนกลางต่อไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.50) เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับกลุ่มที่ไม่พอใจ ในขณะที่ศาลอาญาได้รับฟ้องกรณีภาพภิกษุสันดานกาที่องค์กรทางพระพุทธศาสนา 53 องค์กรยื่นฟ้องศาลอาญา ต่อนายอนุพงษ์ จันทร ผู้วาดภาพ และนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2544 ในฐานะกรรมการตัดสินภาพดังกล่าว

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"



ไปข้างบน