หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

พระนำม็อบกว่าแสนประท้วงในพม่า !!



กลุ่มทหารเฝ้าระวังประตูด้านตะวันออกของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมื่อตอนเช้าวันนี้ (26 ก.ย. 50) ในกรุงย่างกุ้ง



ประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนร่วมเดินขบวนประท้วงในกรุงย่างกุ้ง นับเป็นการต่อต้านรัฐบาลครั้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ (ภาพ: AFP)

กรุงเทพฯ-- ผู้ประท้วงกว่า 100,000 คน ที่นำโดย "กองทัพธรรม" ของพระสงฆ์นับหมื่นๆ รูป ได้ลงสู่ท้องถนนกรุงย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของพม่าเมื่อวันจันทร์ (24 ก.ย.) นี้ ในการแสดงออกความไม่พอใจต่อรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบสองทศวรรษ

ฝูงชนที่นำโดยพระสงฆ์ได้แตกออกเป็น 2 ขบวนใหญ่เดินไปตามท้องถนนสายต่างๆ ในเมืองศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ โดยร่วมกันสวดมนต์เพื่อสันติภาพและความรักสมัครสมาน

ผู้ประท้วงบางกลุ่มเดินขบวนโดยชูแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า "นี่คือขบวนการเคลื่อนไหวอย่างสันติของมหาชน" ขณะที่หลายคนเดินไปด้วยน้ำตาที่อาบนองใบหน้า สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเรื่องนี้โดยอ้างการบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์

ผู้ประท้วงจำนวนประมาณ 800 ได้หยุดที่บริเวณหน้าบ้านพักของนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และสวดมนต์ที่นั่น แต่ก็ไม่ได้พยายามฝ่าการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใกล้บริเวณประตูบ้าน

พระภิกษุนับหมื่นรูปชุมนุมกันในบริเวณพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เพื่อสวดมนต์ภาวนาเรียกร้องสันติภาพให้แก่ประเทศ (ภาพ: AFP)

การประท้วงและการเดินขบวนเมื่อวันจันทร์กินเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ไปจบลงด้วยการรวมตัวกันสวดมนต์ตามวัดวาอารามหลายแห่ง ก่อนจะแยกย้ายกันกลับเคหะสถาน

กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในกรุงเทพฯ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในวันเดียวกันยังมีการประท้วงใหญ่ในเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ กับเมืองสิตต่วย (Sittwe) เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำมันดิบและก๊าซริมฝั่งทะเลเบงกอลในรัฐยะไข่ (Rakhine)

การประท้วงคล้ายกันยังมีขึ้นที่เมืองปะก๊อกกู (Pakokku) ที่ฝ่ายทหารเคยใช้ความรุนแรงเข้าข่มขู่ขบวนสงฆ์ในเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนนี้

คลื่นมหาชนเข้าร่วมกับคณะสงฆ์เดินขบวนอย่างสันติไปตามท้องถนนรอบกรุงย่างกุ้ง ร้านค้าต่างปิดทำการ และการจราจรก็เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ เพื่อเปิดทางให้แก่กลุ่มผู้ประท้วง (ภาพ: AFP)

"เราเดินขบวนครั้งนี้เพื่อประชาชน" พระสงฆ์รูปหนึ่งประกาศทางโทรโข่ง พร้อมขอร้องมิให้ผู้ประท้วงตะโกนคำขวัญทางการเมืองใดๆ ให้ทุกคนร่วมกันสวดมนต์รับศีลรับพรเท่านั้น

ช่วงหนึ่งขบวนผู้ประท้วงได้เดินผ่านหน้าค่ายทหาร แต่ฝ่ายพากันสงบนิ่งอยู่ภายในไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไรทั้งสิ้น

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ผู้ประท้วงกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณ 100,000 ได้เดินมุ่งหน้าขึ้นทางทิศเหนือของตัวเมือง และ มีผู้เข้าร่วมขบวนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดินผ่านบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ที่เคยเป็นฉากชุ่มเลือดในการลุกฮือปี 2531

ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่าขบวนแถวของผู้ประท้วงมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้การสัญจรไปมาในย่านใจกลางกรุงย่างกุ้งรถราติดแน่นขนัด

หลวงพี่สวดมนต์ภายในวัดมหาเจดีย์ชเวดากอน ก่อนเคลื่อนขบวนประท้วงประจำวันเข้าสู่ตัวเมือง (ภาพ: Reuters)

นายมาร์ก แคนนิง (Mark Canning) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำกรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า ตอนนี้ผู้นำทหารของพม่ากำลังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อน

"การเดินขบวนประท้วงน่าจะลดน้อยลง แต่ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น" นายแคนนิงกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี

"เราอาจจะได้เห็นการตอบโต้เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่"

สถานการณ์ล่าสุดในพม่ากำลังสร้างความวิตกกังวลแก่หลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย

ภาพแบบนี้ไม่มีให้เห็นมาเกือบ 20 ปี คราวนี้ไม่ใช่ฆราวาส แต่เป็นพระสงฆ์ที่นำขบวน ก่อการประท้วงใหญ่รายวัน ไม่ใช้วิธีการชุมนุมยืดเยื้อ (ภาพ: Reuters)

โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายอิกนาชิโอ บุนเย (Ignacio Bunye) กล่าวในวันเดียวกันว่า “ชาติสมาชิกอาเซียนต้องการเห็นการพัฒนาของประชาธิปไตยในพม่า.. และเชื่อว่าจุดยืนนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง”

ฟิลิปปินส์เป็นประธานคณะกรรมการประจำกลุ่มอาเซียนที่กำลังจะพ้นวาระ ตามการหมุนเวียนระหว่างประเทศสมาชิก

กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันจันทร์ แสดง “ความห่วงใย” ต่อการประท้วงใหญ่ในพม่าและหวังว่าสถานการณ์จะได้รับการแก้ไขอย่างสันติ

“สิงคโปร์มีความห่วงใยในพัฒนาการล่าสุดในพม่าและกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด” คำแถลงกล่าว

พระสงฆ์หนุ่มเหล่านี้กำลังจะชี้ชะตาและกำหนดอนาคตของประเทศและประชาชนพม่า (ภาพ: Reuters)

ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ นายซาอิด อิบรอฮิม (Zaid Ibrahim) ประธานการประชุมสมาชิกรัฐสภากลุ่มอาเซียน (ASEAN Inter-parliamentary Caucus) หรือ IPC ได้เรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนทุกประเทศให้การสนับสนุนจิตใจที่ใฝ่หาเสรีภาพของผู้ที่ประท้วงรัฐบาลในพม่า

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้นี้ก็ได้กล่าวเตือนให้ระวังการเกิดความรุนแรง ขณะที่การประท้วงกำลังขยายตัวออกไป

นายลิมกิตเสียง (Lim Kit Siang) ผู้นำฝ่ายค้านในมาเลเซียได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาห์หมัด บาดาวี (Abdullah Ahmad Badawi) เอาใจใส่ต่อความปรารถนาของประชาชนในกลุ่มอาเซียนในการสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ ประชาธิปไตยและการเคารพในสิทธิมนุษยชน

เพียง 1 สัปดาห์ประชาชนเริ่มเห็นพลังแห่งธรรมะ เข้าร่วมพิธีสวดมนต์ในวัดมหาเจดีย์ชเวดากอน คนอีกหลายหมื่นเข้าร่วมการประท้วงระหว่างที่ขบวนของสงฆ์เคลื่อนไปตามถนนสายสำคัญในกรุงย่างกุ้ง (ภาพ: Reuters)

ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำประเทศอาเซียนต่างๆ โดยการสนับสนุนของจีนและอินเดีย จะต้องกดดันทางการทหารพม่า ไม่ให้ใช้ความรุนแรง และใช้โอกาสนี้เปลี่ยนเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียกล่าว

เมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ย.) นาย อองกันเส็ง (Ong Keng Yong) เลขาธิการอาเซียน (ASEAN) คาดหวังความสงบสุขจะเกิดขึ้นในพม่า หลังจากการประท้วงในช่วงไม่กี่วันมานี้ และ กล่าวว่ารัฐมนตรีฯต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนเฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

"ผมหวังว่าการประท้วงจะเป็นดำเนินอย่างสงบต่อไป" นายอองกล่าวกับเอเอฟพี และ ยังกล่าวอีกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มอาเซียนได้ทุกสิ่งเท่าที่จะทำได้แล้ว เพื่อรับรองว่าสถานการณ์จะเป็นไปอย่างสงบ

หลังตั้งหลักได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดกั้นถนนมหาวิทยาลัย (University Boulevard) ทางเข้าสู่บ้านพักของนางอองซานซูจีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ หลังจากปล่อยให้ผู้ประท้วงเข้าไปจนถึงหน้าประตูบ้านเมื่อวันเสาร์ และ เมื่อวันจันทร์นี้ผู้ประท้วงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้ได้อีก (ภาพ: Reuters)

อาเซียนรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1997 โดยหวังจะช่วยนำทางการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นไปดังที่ต้องการ และถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งถึงความอ่อนข้อของต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า

สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม ผู้นำอาเซียนกำลังจะพบหารือกันอีกครั้งหนึ่งในเดือน พ.ย. นี้ที่สิงคโปร์

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ก็กำลังจัดเตรียมนำสถานการณ์ในพม่าเข้าหารือในที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ในนครนิวยอร์ก

ภาพจากการประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ย.) มือที่เรียวงามคู่นี้ปรบส่งเสียงให้กำลังในแก่ผู้ประท้วง กำลังใจเช่นนี้กำลังหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในกรุงย่างกุ้ง และ ในเมืองสำคัญอื่นๆ ของพม่า (ภาพ: AFP)

นางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในพม่า และระบุว่าทางการทหาร “โหดร้าย” ที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายประท้วงในช่วงที่ผ่านมา

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เฟรเดอริค เดอซาโญซ์ (Frederic Desagneaux) แถลงในกรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ฯ กล่าวเตือนว่า ระบอบทหารพม่าจะต้องรับผิดชอบถ้าหากมีการปราบปรามประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติบนท้องถนน

“ถึงเวลาอันสำคัญที่ทางการพม่าจะต้องตกลงใจเปิดขบบวนการปฏิรูปอันแท้จริง รวมทั้งขบวนการเพื่อความปรองดองแห่งชาติอันเป็นสิ่งประเทศนี้ปรารถนา” นายเดอซาโญซ์กล่าว

ภาพจากการประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ย.) (ภาพ: Reuters )

โฆษกผู้นี้กล่าวอีกว่า ฝรั่งเศสกำลังเฝ้าติดตาม พัฒนาการของสถานการณ์ในพม่าด้วยความห่วงใยอย่างยิ่ง และเห็นว่าการขยายตัวของการประท้วงได้แสดงให้เห็นระดับความไม่พอใจของประชาชนพม่า

ขณะเดียวกันนายมาร์ติน เจเกอร์ (Martin Jaeger) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจการเดินขบวนอย่างสันติต่อต้านรัฐบาลทหารในพม่า

นายเจเกอร์ระบุดังกล่าวในการแถลงข่าวปกติที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันจันทร์ โดยเรียกร้องให้ฝ่ายทหารเลิกกักบริเวณนางซูจี และให้ทางการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมในช่วงที่ผ่านมาหมดทุกคน.

หลวงพี่รูปนี้คว่ำบาตรชูขึ้นเหนือศรีษะแสดงการประท้วง พร้อมเปล่งเสียงเรียกร้อง "ประชาธิปไตย ประชาธิปไตย" ขณะที่ขบวนหยุดอยู่บริเวณพระมหาสุเลเจดีย์ ซึ่งเป็นย่านสีแยกใหญ่ใจกลางกรุงย่างกุ้งเมื่อวันจันทร์ซึ่งเป็นวันแรกที่ขบวนของสงฆ์มีการตะโกนคำขวัญทางการเมือง (ภาพ: Reuters)



วัดมหาเจดีย์ชเวดากอน ยังคงเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วง พระสงฆ์นับหมื่นยาตราออกจากที่นี่ มีฆราวาสอีกจำนวนเท่าๆ กันติดตาม แต่ขบวนจะค่อยๆ ใหญ่โตขึ้นเมื่อเข้าย่านใจกลางกรุงเก่า จำนวนเพิ่มเป็นกว่า 100,000 เช่นเดียวกันกับการประท้วงเมื่อวันจันทร์ ท่ามกลางการข่มขู่และความพยายามขัดขวาง



วันนี้ไม่มีการปิดๆ บังๆ เช่นวันก่อน ธงแดงรูปพญาหงส์สีเหลืองสดอยู่ตรงกลางออกปรากฎตัวในขบวนประท้วง พร้อมกับตัวแทนจากพรรค NLD ของนางอองซานซูจี ที่เลือกสรรแล้ว กำลังมีการสอดแทรกเนื้อหาทางการเมืองเข้าไปทีละนิด (ภาพ: AFP)



ต่านฉ่วยขึ้นมาเป็นผู้นำพม่าตั้งแต่ปี 2535 และเคยให้คำสัญญากับประชาชนพม่าว่ารัฐบาลทหารจะลงจากอำนาจและให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย



Photo Gallery เหตุการณ์การประท้วงที่ประเทศ "พม่า" (ภาพ: Reuters )







ชาวบ้านออกมาดูเหตุการณ์การประท้วงครั้งใหญ่































ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"



ไปข้างบน