หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

พลิกปูมชีวิต วรเดช อมรวรพิพิฒน์ ชีพนี้ยอมพลีเพื่อพุทธศาสนา




หากจะเอ่ยถึงฆราวาสที่มีบทบาทต่อการทำนุบำรุงศาสนาพุทธอันดับต้นๆ ของประเทศไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก “วรเดช อมรวรพิพัฒน์” เลขาธิการสภายุวพุทธิก สมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งวันนี้เขาเป็นถึงรองประธานกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติ (สนช.) คณะทำงานด้านการศาสนาและวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตกรรมาธิการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของรัฐสภาหลายสมัย นักวิชาการอิสระด้านศาสนา ฯลฯ

ตลอด 50 ปี ได้ทำงานเพื่อศาสนามาโดยตลอด ภารกิจล่าสุดเสนอให้บัญญัติศาสนาพุทธไว้ในรัฐธรรมนูญ เชื่อหรือไม่ว่า ในอดีตชีวิตของนักวิชาการด้านศาสนาผู้นี้เติบโตมากับบ้านอันใหญ่โตมโหฬาร มีสวนสัตว์ส่วนตัว มีทุกอย่างพร้อมสรรพ แต่ในปัจจุบัน เขากลับเลือกที่จะอยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย โดยในปี 2548 เขาเป็น 1 ใน 14 คน ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) การตรวจสอบประวัติในครั้งนั้นไม่พบว่ามีข้อร้องเรียน และมีเงินในบัญชีส่วนตัวเพียง 1,918 บาท อีกทั้งวรเดชยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง และไม่คิดสะสมทรัพย์ใดๆ แต่เขากลับเลือกที่จะรับใช้พุทธศาสนาตราบชั่วชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับค่านิยมของผู้คนในสมัยนี้อย่างสิ้นเชิง!!!




วรเดชเปิดฉากเล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กว่า เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดที่สีลม เป็นลูกคนสุดท้องจาก พี่น้องทั้งหมด 5 คน อาศัยอยู่ที่บ้านต้นตระกูลศรีบุญเรือง ซึ่งปัจจุบันคือ สีลมวิลเลจ เลขที่ 286 ถนนสีลม (เยื้องวัดแขก) ซึ่งเป็นบ้านที่ใหญ่โตมาก มีทั้งสวนสัตว์ สวนผลไม้เป็นของตัวเอง มีพื้นที่วิ่งเล่นมากมาย คุณพ่อเป็นหมอจีน เป็นคนใจบุญ ชอบรักษาฟรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชีวิตจึงไม่เคยเดือดร้อนเพราะเกิดมาสบาย เหมือนอยู่บนสวรรค์ ตอนเด็กๆ นี่ไม่รู้จริงๆ (เน้นเสียงหนัก) ว่าความยากจนเป็นอย่างไร เพราะเราเดินเข้าครัวกับข้าว 20 อย่างก็รออยู่ตรงหน้า

เขาเล่าอีกว่า ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กใกล้ชิดกับคุณย่ามาก ท่านเป็นคนใจบุญ ชอบเล่านิทานเกี่ยวกับคติธรรม พระไตรปิฎก ให้ฟังอยู่เสมอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบเรื่องธรรมะ ที่สำคัญเขาเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ตั้งแต่รู้จำความได้ รู้สึกว่าชอบวิชาศีลธรรมมาก

แต่จุดหักเหสำคัญของชีวิตก็เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ต้องมาสูญเสียคุณพ่ออย่างกะทันหัน เพราะโรคความดันเลือดสูง ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของชีวิต ตอนนั้นอยู่เพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้นถือว่ายังเด็กมาก ทำให้ เสียใจมากเหมือนโลกแตกสลาย เพราะไม่คิดว่าคุณพ่อจะจากไปเร็วแบบนี้ หากไม่ได้หนังสือของท่านพุทธทาสช่วยไว้ ตอนนั้นคงแย่แล้ว

“ผมชอบอ่านหนังสือธรรมะมาก เป็นลูกศิษย์ของพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ท่านแนะนำให้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ และต่อมาก็ได้รู้จักท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่ง 2 ท่านถือว่ามีอิทธิพลต่อแนวทางการดำเนินชีวิตผมมาก” วรเดช ระบุ




• เผยแผ่ธรรมะตั้งแต่เด็ก-ปัจจุบัน

วรเดช เล่าว่า การที่เขาเป็นลูกคนสุดท้อง ทำให้ไม่มีภาระมากนัก ได้ทำงานเผยแผ่ธรรมะมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากการอ่านหนังสือของหลวงพ่อปัญญา ซึ่งเข้าใจง่าย ในตอนนั้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกันที่วัดมหาธาตุ มีคนที่รู้จัก เช่น ท่านโพธิรักษ์ อาจารย์เสถียรพงศ์ วรรณปก เรียกได้ว่าในช่วงมัธยมปลาย แทบไม่ได้อ่านหนังสือเรียน อ่านแต่หนังสือธรรมะ ทำกิจกรรมเผยแผ่ธรรมะไปเรื่อยๆ มีเงินเท่าไหร่ ก็ซื้อหนังสือธรรมะแจกเพื่อนฝูง ครูอาจารย์หมด ทำแบบนี้มาเรื่อยมาจนถึงขณะนี้

จุดนี้เองเริ่มทำให้วรเดชสนใจศาสนาและธรรมะตั้งแต่นั้นมา แต่เขาก็เลือกที่จะเรียนสายวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพื่อเจริญรอยตามคุณพ่อที่ทำงานหนัก ช่วยเหลือคนทุกข์ยาก แต่หลังจากที่ได้เรียนไปแล้ว เขาก็รู้สึกเบื่อ เพราะตำราต่างๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเรียนนั้น เขาได้อ่านของพ่อมาหมดแล้ว

“ตอนนั้นมันก็เบื่อๆ เลยคิดว่าหากเป็นหมอที่รักษาคนไข้ ก็คงจะเจอกับคนไข้วนเวียนมาเหมือนเดิม เลยคิดว่าเอาอย่างท่านพุทธทาสดีกว่า มาเป็นหมอรักษาทางจิตใจ ช่วยคนให้มีความคิดสัมมาทิฐิ ให้เขาอยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต น่าจะช่วยคนได้เยอะกว่า จึงตัดสินใจเปลี่ยนเข็มชีวิตทันที โดยในช่วงที่เอนทรานซ์จึงเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อที่จะเข้าใจชีวิตคนมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังทำอยู่เหมือนเดิมคือ การทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาตลอด”

วรเดช บอกว่า ถึงแม้ว่าจะเรียนรัฐศาสตร์ และมีรุ่นพี่อย่าง นายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล นักกิจกรรมชื่อดัง แต่เขากลับไม่ชอบทำกิจกรรมการเมือง ทำมากที่สุดแค่ไปสังเกตการณ์เลือกตั้งในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เพราะไม่ชอบพรรคการเมือง และทุกวันนี้ก็ไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่าพรรคการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ของพรรคมากกว่าประโยชน์ของประชาชน ทั้งชีวิตนี้จะไม่สังกัดพรรคการเมืองเด็ดขาด

“พอมาเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นสอบได้ที่ 2 อยากเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะช่วยทำให้โลกสงบ แต่ปรากฏว่าต้องเรียนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเรียนได้คะแนนไม่ดีมากนัก จึงย้ายมาเรียนภาคสังคมวิทยา เพื่อที่จะได้เข้าใจชีวิตคนมากขึ้น และเรียนไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา ตลอดจนเป็นประธานฝ่ายพุทธศาสนา ไม่ชอบทำกิจกรรมทางการเมืองเลย เพราะไม่ชอบเรื่องพรรคการเมืองเอาเสียมากๆ” วรเดช กล่าว




หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นรัฐศาสตรบัณฑิต วรเดชได้เรียนต่อปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคนสอน และปิดท้ายด้วยการคว้าปริญญาโทด้านศาสนาเปรียบเทียบ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นชีวิตได้เข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว และได้ทำงานด้านศาสนาอย่างเต็มที่

“มีผู้ใหญ่ที่รู้จักกันที่อยู่กรมการศาสนาได้ขอร้องให้ไปช่วยสอบเป็นนักวิชาการศาสนาหน่อย เพราะไม่ค่อยมีใครที่สนใจเรียนด้านนี้ ทั้งที่ใจจริงแล้วไม่อยากรับราชการ เพราะไม่ชอบระบบราชการ ซึ่งการสอบครั้งนั้น จำได้ว่ามีเด็กเส้นเยอะมาก มีคนสอบ 1.5 พันคน แต่เราก็สอบได้ที่ 1 โดยเลือกทำงานที่ กองศาสนาศึกษา ตามคำแนะนำของ พระพรหมคุณาภรณ์ ที่บอกว่าถ้าทำงานตรงนี้จะมีโอกาสทำงานให้ศาสนาอย่างเต็มที่ จะว่าไปแล้วที่มาถึงตรงนี้ได้ คิดว่าเพราะเรามีครูบาอาจารย์ดี คือ ทั้งท่านพุทธทาส ที่ตอนเด็กยอมรับว่าติดท่านมาก แต่เมื่อได้พบพระพรหมคุณาภรณ์ สมัยตอนที่อยู่จุฬาฯ เรามีโอกาสได้รับใช้ท่าน และท่านเองก็เมตตา สอนทั้งวิชาการและหลักคิดการใช้ชีวิต ทำให้โลกทัศน์กว้างขึ้น เพราะท่านเน้นการเข้าถึงพระไตรปิฎกอย่างเดียว ได้เรียนธรรมะลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำได้ 3 ปี ก็ลาออก เพราะเบื่อระบบราชการ เพราะแม้แต่กรมศาสนาก็มีการคอร์รัปชันกันมาก มีการเรียกค่าหัวคิวพระ โดยบอกว่าไม่ต้องไปฟังพระมาก ทำให้รู้สึกยิ่งสลดใจว่าจะรับใช้พระหรือให้พระมารับใช้ ซึ่งเห็นแล้วทนไม่ไหว เพราะไม่สามารถทำอะไรได้” วรเดช กล่าว

พอออกจากงาน วรเดชก็ได้ทำหน้าที่ประสานองค์กรศาสนาต่างๆ และได้ตั้งองค์กรส่งเสริมศาสนาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งในสมัยนั้นพระญานสังวรยังไม่ได้เป็นสังฆราช เป็นประธานอยู่ งานนี้ต้องกินนอนอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร 3 ปี นอกจากนี้ ได้รับหน้าที่เป็นแม่กองจัดงานวันวิสาขบูชาโลก จากนั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535-2545 และทำงานที่กรมประชาสงเคราะห์ ควบคู่ไปด้วย หน้าที่หลักๆ ทั้งหมดคือ การประสานและรับใช้พระเถระผู้ใหญ่หลายรูป




• สะสมหนังสือธรรมะแทนสะสมทรัพย์

เห็นได้ว่าชีวิตของผู้ชายคนนี้ มีแต่ศาสนาและธรรมะ และวัด เท่านั้น ถามว่าทำไมเขาถึงไม่บวชเป็นพระสงฆ์ วรเดช บอกว่า ตั้งใจอยากจะบวชมานานแล้ว และตั้งใจว่าถ้าบวชแล้วจะไม่สึก ซึ่งทางพระผู้ใหญ่ได้ท้วงว่า อย่าเพิ่งบวชเลย ให้อยู่ทำงานก่อน เพราะไม่มีคนประสานงานช่วยเหลือสมาคมพุทธ หากบวชก็ต้องเปลี่ยนบทบาทไม่สามารถทำงานได้คล่องตัวแบบนี้ จึงคิดว่าค่อยบวชตอนแก่ๆ ดีกว่า

ชีวิตครอบครัว วรเดช เล่าให้ฟังว่า เขาไม่มีครอบครัว ถึงแม้มีคนมาชอบ แต่เมื่อคบๆ กันไป ผู้หญิงก็รู้ว่าเขาชอบทำงานศาสนา อ่านหนังสือธรรมะ เข้าออกวัดตลอด เขาก็คงเบื่อๆ และเลิกกันไป นอกจากนี้ เขาเองก็ไม่มีเงิน ไม่มีสมบัติอะไร มีแต่หนังสือธรรมะ ที่เก็บไว้หลายหมื่นเล่ม เพื่อจะทำห้องสมุดธรรมะ เอาไว้เป็นของส่วนรวม เอาไว้ใช้ในอนาคต

“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งแม่และพี่สาวเห็นว่าผมไม่มีงานทำ ไม่มีเงินเดือน เลยให้เงินผมรวม 4 ล้านบาท ผมเอามาทำงานด้านศาสนาจนเงินหมด ซึ่งทางบ้านไม่รู้ ที่หมดไป 4 ล้าน เพราะช่วงเวลานั้นศาสนาเจอวิกฤตหลายอย่าง เช่น หลักสูตรศาสนาถูกตัดเนื้อหา แต่ไม่มีใครสนใจ ต้องทำเองทุกอย่าง ใช้เงินตัวเองที่มีอยู่จนหมด เพราะไม่มีใครสนใจ การรณรงค์ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปีนี้ หมดเงินไปกว่า 8 แสนบาท เพราะมันจำเป็นมากที่ต้องบัญญัติไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการฟื้นฟูจิตสำนึกของพุทธศาสนิกชน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่มือม็อบพระ เป็นเพียงแค่คนประสานงานเท่านั้น”

สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในตอนนี้ วรเดช บอกว่า สบายดี แม้ว่าจะต้องเช่าบ้านเพื่อเก็บหนังสืออย่างเดียวถึง 2 หลัง ส่วนตัวเขาเองอาศัยอยู่บ้านญาติห่างๆ ซึ่งเขาไม่เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ชอบสะสมสมบัติอะไร ยกเว้นหนังสือธรรมะเท่านั้น ว่าไปแล้วที่ทำอยู่ทั้งหมด ก็เพื่องานส่วนรวม เพราะเราเองไม่มีเรื่องที่ต้องห่วงอะไร และไม่เคยกลัวเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิต เมื่อเขาเองก็ต้องมีอายุมาก

“ผมไม่กลัวหรอก ไม่เคยกลัวว่าจะไม่มีเงิน ไม่รู้จะสะสมทำไม ผมผ่านชีวิตมาเยอะ เพราะตอนนี้หากจะต้องใช้เงินจะมีพรรคพวกเพื่อนฝูงหยิบยื่นให้ทุกครั้ง ตั้งกองทุนช่วยผมบ้าง ให้ผมทำงานเผยแผ่ศาสนาเต็มที่ ไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นเพราะอะไร รู้แค่ว่าไม่เดือดร้อน ถ้าป่วยเพื่อนที่เป็นหมอก็รักษาให้ฟรี อยากใช้รถลูกศิษย์ก็จะส่งคนขับรถมาให้ ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่เป็นไปได้ว่า ในอดีตผมเคยช่วยเพื่อนๆ มามากก็เป็นไปได้ เชื่อว่า การทำดีไม่เสียหลาย ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เพื่อนๆ เลยยอมรับและช่วยเหลือตลอด ยอมรับว่าตอนนี้ไม่มีเงินเก็บส่วนตัวเลย ได้เงินมาเท่าไหร่ ก็ใช้เกี่ยวกับศาสนา ซื้อหนังสือธรรมะ วันๆ พกเงินไม่กี่ร้อยบาท แต่ก็อยู่ได้ และคิดว่าจะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกกังวลใดๆ เลย สบายมาก เพราะเขากินอยู่อย่างไรก็ได้ อาจจะบวชตอนแก่ก็ได้” วรเดช กล่าวอย่างมั่นใจ




สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในตอนนี้ วรเดช บอกว่า สบายดี แม้ว่าจะต้องเช่าบ้านเพื่อเก็บหนังสืออย่างเดียวถึง 2 หลัง ส่วนตัวเขาเองอาศัยอยู่บ้านญาติห่างๆ ซึ่งเขาไม่เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ชอบสะสมสมบัติอะไร ยกเว้นหนังสือธรรมะเท่านั้น ว่าไปแล้วที่ทำอยู่ทั้งหมด ก็เพื่องานส่วนรวม เพราะเราเองไม่มีเรื่องที่ต้องห่วงอะไร และไม่เคยกลัวเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิต เมื่อเขาเองก็ต้องมีอายุมาก

“ผมไม่กลัวหรอก ไม่เคยกลัวว่าจะไม่มีเงิน ไม่รู้จะสะสมทำไม ผมผ่านชีวิตมาเยอะ เพราะตอนนี้หากจะต้องใช้เงินจะมีพรรคพวกเพื่อนฝูงหยิบยื่นให้ทุกครั้ง ตั้งกองทุนช่วยผมบ้าง ให้ผมทำงานเผยแผ่ศาสนาเต็มที่ ไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นเพราะอะไร รู้แค่ว่าไม่เดือดร้อน ถ้าป่วยเพื่อนที่เป็นหมอก็รักษาให้ฟรี อยากใช้รถลูกศิษย์ก็จะส่งคนขับรถมาให้ ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่เป็นไปได้ว่า ในอดีตผมเคยช่วยเพื่อนๆ มามากก็เป็นไปได้ เชื่อว่า การทำดีไม่เสียหลาย ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เพื่อนๆ เลยยอมรับและช่วยเหลือตลอด ยอมรับว่าตอนนี้ไม่มีเงินเก็บส่วนตัวเลย ได้เงินมาเท่าไหร่ ก็ใช้เกี่ยวกับศาสนา ซื้อหนังสือธรรมะ วันๆ พกเงินไม่กี่ร้อยบาท แต่ก็อยู่ได้ และคิดว่าจะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกกังวลใดๆ เลย สบายมาก เพราะเขากินอยู่อย่างไรก็ได้ อาจจะบวชตอนแก่ก็ได้” วรเดช กล่าวอย่างมั่นใจ

หลักการใช้ชีวิตของชายที่มีพระพุทธศาสนาอยู่ในหัวใจเต็มเปี่ยม ทุกวันนี้เขาใช้ชีวิตโดยมีธรรมะเป็นแนวทางของชีวิต และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็เป็นแนวทางของพุทธปรัชญา ณ วันนี้จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

“ตอนนี้ผมเป็น สนช.ก็จะทำหน้าที่ สนช.อย่างเต็มที่ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ผลักดันให้มีการบัญญัติศาสนาพุทธไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2535 ผมเองก็ทำงานอยู่กับสภาตลอด เป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านการศาสนา แต่ทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะนักการเมืองไม่ทำ เพราะกลัวกระทบฐานเสียงการเมือง พอเรามาเป็น สนช.เอง ก็คิดว่าคงมีโอกาสทำงานได้เต็มที่มากกว่าเดิม แต่ก็ยอมรับว่าผิดหวังนะ รัฐบาลชุดนี้ไม่เอาจริงเอาจังอย่างที่คิดไว้ ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูคุณธรรม ซึ่งผมยังยืนยันว่าต้องเริ่มจากการฟื้นฟูศาสนาพุทธก่อน เพราะถือว่าเป็นต้นทางของศีลธรรม ดังนั้น ต้องบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่บรรจุก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี ชาวไทยที่ดีอย่างดีที่สุดแล้ว” วรเดช กล่าวทิ้งท้าย

หากว่าไปแล้ว ชีวิตคนเราเกิดมาชาติหนึ่ง ต่างก็มีความภาคภูมิใจแตกต่างกัน แต่สำหรับวรเดช เขาภูมิใจที่จะรับใช้พระพุทธศาสนา แทนที่จะเลือกอยู่อย่างสุขสบายบนกองเงินกองทอง เพราะเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งและมั่นคง แต่เขาเลือกที่จะเดินตามรอยพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป และต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือว่าน่าชมเชยอย่างยิ่ง !!!


ไปข้างบน