หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

สวนโมกข์ของกรุงเทพฯ หอจดหมายเหตุดิจิตอลแห่งแรก


ท่านพุทธทาสภิกขุขณะกำลังศึกษาในกุฎิที่พัก วัดปทุมคงคา



ในวาระชาตกาล 103 ปี ซึ่งจะมาถึงในปี 2552 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ก็พร้อมที่จะเปิดให้ใช้บริการ

ริมสระใหญ่ในสวนรถไฟจะกลายเป็นสวนโมกข์แห่งใหม่ ที่นี่จะเป็นสถานที่ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของอันทรงคุณค่าของท่านพุทธทาสหลายหมื่นรายการไว้ในระบบดิจิตอล ซึ่งง่ายต่อการสืบค้นและเผยแพร่ผลงานของท่านพุทธทาส อันจะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ศิษย์ใกล้ชิดและกรรมการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของการสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาส ว่า

“แรกเดิมทีไม่ค่อยมีใครรู้ว่าท่านอาจารย์เก็บผลงานของท่านไว้ยังไง มีหลายคนหลายครั้งเลยที่เคยมีโอกาสเข้าไปเห็น แล้วก็พบว่าผลงานท่านมีเยอะมาก พอหลังท่านมรณภาพ พวกเราก็คิดว่าผลงานของท่านมีคุณค่ามหาศาล จึงอยากรวบรวมผลงานของท่านเก็บเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง และจะถือโอกาสนี้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา

“นานมาแล้ว ท่านอาจารย์เคยเปรยกับผมว่า มรดกของท่านก็คือของพวกนี้แหละ”

เสร็จสิ้นจากการหารือกับทุกฝ่าย ทั้งทางสวนโมกขพลาราม เหล่าบรรดาศิษย์ และคณะธรรมทาน เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จึงเดินหน้าลงมือทำนับแต่นั้น

“ผลงานทั้งหมดที่ท่านได้รังสรรค์ออกมา ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ภายในที่ที่เคยพำนักหรือทำงานเขียน กุฏิหลังสุดท้ายของท่านจะเห็นได้ว่ามีเศษกระดาษที่เขียนโดยลายมือกระจัดกระจายเยอะแยะไปหมด เนื่องจากช่วงนั้นท่านอาพาธหนัก จึงทำงานได้น้อย บันทึกช่วงสุดท้ายในชีวิตก็อยู่ในห้องนั้น”

ในคราวแรกทุกคนคิดจะจัดตั้งภายในพื้นที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากหลักการของหอจดหมายเหตุทั่วไปมักนิยมใช้พื้นที่ดั้งเดิม แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ฝนตกชุก สภาพอากาศชื้น ยากที่จะรักษาสภาพให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ ข้อสรุปจึงมาหยุดที่กรุงเทพมหานคร

“เมืองหลวงเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญที่เหมาะสมที่สุด คนหมู่มากสามารถใช้บริการได้สะดวก ยิ่งไปกว่านั้นสังคมเมืองกำลังต้องการธรรมะ”


รูปจำลอง หอจดหมายเหตุพุทธทาส



มติจึงเป็นเอกฉันท์ การวางแผนโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุฯ เริ่มต้นดำเนินการมาเรื่อย ในระหว่างนั้น ทีมงานทั้งจากสวนโมกข์และอาสาสมัครหลากหลายที่กำลังง่วนอยู่กับการเสาะแสวงหาผลงานทั้งหมดมาจากที่ต่างๆ

“ตั้งแต่ปี 2542 เราทำการค้นหากันอย่างจริงจังกว่า 5 ปี การเก็บรวบรวมเป็นไปอย่างไม่ยากลำบากนัก ท่านเก็บผลงานทุกชิ้นของท่านไว้อย่างเป็นระเบียบ จัดจำแนกไว้ตามประโยชน์ใช้งานอย่างเป็นหมวดหมู่ มีบ้างที่ต้องเหนื่อยกับการสะเดาะกุญแจตู้ที่เก่ามาก เปิดออกมาก็เจอหนังสือที่ถูกแมลงกัดกินจนพรุน ไหนจะเศษกระดาษที่ต้องไปขุดคุ้ยมาจากหลายๆ ที่”

หมอบัญชาเล่าว่า ผลงานชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้มีเป็นจำนวนมาก ส่วนที่คงอยู่ก็ใกล้พังเต็มทน ผลงานที่สามารถเก็บรวบรวมได้ทั้งหมดในตอนนี้มีกว่า 3 หมื่นรายการ ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษสั้นๆ บัตรย่อ บัตรคำกลอน หนังสือ สมุดบันทึก จดหมายภาพถ่ายและวิดีโอ เทปอัดเสียง รวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบการศึกษาค้นคว้า

“ไหนจะเครื่องใช้ส่วนตัว อัฐบริขาร แล้วไหนจะของสะสมเก่าๆ อีกมากมายที่ท่านเก็บไว้ไม่ทิ้ง”

หลังจากรวบรวมผลงานเท่าที่หาได้มาแล้ว จึงนำไปเก็บรักษาในห้องที่คณะธรรมทานไว้เป็นการชั่วคราว มีการติดตั้งระบบปรับอากาศ รักษาอุณหภูมิ ความชื้น

“ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งในเรื่องจดหมายเหตุ ระบบฐานข้อมูล คณะที่ปรึกษาจากกระทรวงศึกษาฯ วัสดุที่นำมาเพื่อบรรจุต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะเมืองไทยยังไม่มี”

หมอบัญชากล่าวเสร็จสิ้นในขั้นตอนการดูแลรักษาผลงานในเบื้องต้น ระหว่างนั้นเอง ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร กลางสวนสาธารณะใจกลางเมืองหลวง โครงการหอจดหมายเหตุฯ ได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่จำนวน 3 ไร่ จากทางกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการก่อสร้าง

“สถานที่จะอยู่กลางสวนวชิรเบญจทัศน์ หรือสวนรถไฟ ย่านจตุจักร เน้นการก่อสร้างแบบประหยัด เรียบง่าย และใช้ประโยชน์ได้สูงสุด รูปร่างหน้าตาออกแบบโดยสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งระดมทีมสถาปนิก วิศวกร และอาสาสมัครมาช่วยกันหลายคน โดยไม่คิดค่าแรง”

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด โดยการประมาณอย่างคร่าวๆ ทั้งสิ้นประมาณ 140 ล้านบาท ทั้งจะลงมือดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ทันกำหนดเสร็จสิ้นและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2552

“อาคารแห่งนี้มีต้นแบบอยู่แล้ว คือ โรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์ เปรียบเสมือนหอไตร อยู่ริมสระน้ำ ซึ่งเราจะปลูกมะพร้าวจัดแต่งให้เหมือนสระนาฬิเกร์ อีกทั้งยังจำลองลานหินโค้งมาไว้ที่นี่ด้วย ไม่รวมถึงสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีก” เขาวาดภาพฝันที่กำลังจะกลายเป็นจริงในไม่ช้า


ท่านพุทธทาสภิกขุ



ภายในอาคารหอจดหมายเหตุฯ จะมีห้องแสดงนิทรรศการ ห้องเก็บรวบรวมผลงาน ห้องประชุมสัมมนา ห้องสำหรับใช้บริการค้นคว้า ห้องหนังสือธรรมะขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมภาวนา ปฏิบัติธรรมให้แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย เปรียบเสมือนสวนโมกข์แห่งใหม่ที่จัดตั้งกลางเมืองหลวง ที่เป็นเหมือนสถานที่พักพิงของผู้ที่อยากจะหลบหนีความวุ่นวายจากภายนอก เข้ามาชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยธรรมะ ในความหมายของ “สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์”

“หอจดหมายเหตุแห่งนี้ยังมีลักษณะพิเศษยิ่งไปกว่านั้น คือ จะเป็นหอจดหมายเหตุดิจิตอลแห่งแรกในเมืองไทย เราจะเตรียมการไว้โดยแปลงสัญญาณทั้งหมดเป็นดิจิตอลทั้งหมด ไม่ใช่แค่สแกน แต่แปลงเป็นเท็กซ์ เมื่อเราเสิร์ชคำที่เราต้องการจะรู้ เราก็จะพบกับรายการนั้นทุกรายการที่เกี่ยวกับพุทธทาส”

เขาอธิบายว่า อย่างเช่น คนเป็นทุกข์เพราะโดนแฟนทิ้ง เมื่อพิมพ์คำว่า อกหัก ก็จะพบกับคำสอนของท่านพุทธทาสที่เกี่ยวกับเรื่องความรัก !!

เช่นนั้นเอง “การเข้าถึงพุทธทาส” ในยุคดิจิตอลจึง (อาจจะ) ไม่ใช่เรื่องยาก

“ง่ายแค่คลิก” หมอบัญชา หัวเราะอารมณ์ดี @

ผู้ที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเปิดดูได้ที่ www.buddhadasa-archives.com www.buddhadasa-archives.org www.bia.or.th

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่กรุงเทพมหานคร ธนาคารกสิกรไทย สาขารัชดาภิเษก ห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “เงินทุนก่อตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” เลขที่บัญชี 089-2-56025-2

สถานที่ติดต่อมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โทรศัพท์ 02-305-9589-90, 08-5960-9555


ไปข้างบน