หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

จากลำพูนสู่เชียงใหม่ ตามรอย "พระแก้วขาว" แห่งล้านนา


กู่กุด หรือสุวรรณจังโกฏ ที่วัดจามเทวี



หากพูดถึงพระแก้ว หลายคนคงจะนึกถึงพระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของเมืองไทย แต่ยังมีพระแก้วอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากแก้วสีขาว และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวล้านนามาเป็นเวลานานแล้ว นั่นก็คือ "พระเสตังคมณี" หรือ "พระแก้วขาว" พระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากหินสีขาวใส ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปนัก แต่ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้นั้น ถือว่าไม่ธรรมดา

ตำนานและความเป็นมาของพระแก้วขาว เกี่ยวเนื่องกับหลายคนและหลายสถานที่ด้วยกัน โดยการกำเนิดของพระแก้วขาว มีตำนานเล่าว่า พระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถระเจ้า มีความประสงค์จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตร แล้วขอพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสำเร็จเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤๅษี ผู้สร้างนครหริภุญไชย และฤๅษีองค์อื่นๆ ก็ได้ประชุมช่วยในการสร้างองค์พระด้วย โดยได้บรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 พระนลาต (หน้าผาก) 1 พระอุระ (หน้าอก) 1 พระโอษฐ์ (ปาก) 1 รวม 4 แห่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระแก้วขาวก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้สืบมาเป็นเวลานาน


พระบรมราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี



และหากจะกล่าวถึงพระแก้วขาว ก็ต้องกล่าวถึงพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริยาแห่งนครหริภุญไชย หรือนครลำพูนด้วยเช่นกัน เพราะพระแก้วขาวถือเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ โดยเมื่อพระนางจามเทวี พระราชธิดาของเจ้ากรุงละโว้ เสด็จมาครองเมืองหริภุญไชย ก็ได้อัญเชิญพระแก้วขาวจากเมืองละโว้มายังเมืองหริภุญไชย มาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ด้วย พระแก้วขาวจึงได้มาประดิษฐานอยู่ในนครหริภุญไชยตั้งแต่บัดนั้น

เส้นทางตามรอยพระแก้วขาว เริ่มต้นที่ "วัดจามเทวี" ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตามประวัติกล่าวไว้ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระนางจามเทวี และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 60 พรรษา ก็ได้ทรงสละราชสมบัติออกบวชชีบำเพ็ญบุญอยู่ที่วัดแห่งนี้ และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 92 พรรษา ก็ได้เสด็จสวรรคต ดังนั้นพระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสทั้งสองพระองค์จึงได้นำอัฐิของพระองค์มาบรรจุไว้ในเจดีย์สี่เหลี่ยมในวัดแห่งนี้

เจดีย์สี่เหลี่ยมที่ว่านั้น รู้จักกันในชื่อ "กู่กุด" หรือ "เจดีย์สุวรรณจังโกฏ" ซึ่งเป็นเจดีย์ศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นจะประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยรวมทั้งหมด 60 องค์ พระเจดีย์องค์นี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมต้นแบบให้แก่เจดีย์ต่างๆ ในภาคเหนือต่อมาอีกด้วย

ไม่ไกลกันนักเป็นที่ตั้งของ "วัดพระธาตุหริภุญไชย วรมหาวิหาร" ในจังหวัดลำพูนเช่นกัน วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวมาตลอดระยะเวลาของการตั้งเมืองหริภุญไชย โดยภายในวิหารหลวงของวัดพระธาตุหริภุญไชย นอกจากจะมีพระประธานก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์แล้ว ก็ยังมีบุษบกซึ่งภายในประดิษฐานพระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวองค์จำลอง ซึ่งสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระแก้วขาวเคยประดิษฐานอยู่ที่นี่เมื่อนครลำพูนยังรุ่งเรืองอยู่ แต่ปัจจุบันหอพระแก้วขาวในอดีตนั้น ถูกแทนที่ด้วยหอระฆังของวัดไปแล้ว


หอพระแก้วขาวที่ปัจจุบันเป็นหอระฆังภายในวัดพระธาตุหริภุญไชย



ภายหลังจากที่พระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต นครหริภุญไชยยังคงมีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 47 พระองค์ด้วยกัน และทุกพระองค์ต่างก็นับถือพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านเมือง จนกระทั่งถึงในสมัยของพระยายีบา กษัตริย์เมืองหริภุญไชยองค์ที่ 47 เมืองหริภุญไชยได้ถูกพญามังราย เจ้าครองนครเงินยวง (เชียงแสน) ยกกองทัพมาปราบ เมืองหริภุญไชยทั้งเมืองถูกเพลิงไหม้จนพ่ายแพ้ แต่หอพระแก้วขาวเป็นเพียงจุดเดียวที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ตามไปด้วย

ด้วยความศรัทธาในปาฏิหาริย์นั้น พญามังรายจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับของพระองค์ และทรงเคารพสักการะพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตั้งแต่นั้น ส่วนพระแก้วขาวก็ได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองป้องกันอันตรายและอำนวยความสุขสวัสดิ์แก่ผู้ที่เคารพสักการะด้วยเช่นกัน

การเดินทางของพระแก้วขาวจากลำพูนสู่เมืองเชียงใหม่จึงเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อพญามังรายมาสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานี เมื่อปีพุทธศักราช 1839 และได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาด้วย โดยพระองค์ได้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราวเพื่อควบคุมการสร้างเมืองเชียงใหม่ และหลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงได้สร้างพระเจดีย์คร่อมทับหอนอนที่พระราชนิเวศน์ที่ประทับชั่วคราวนั้นเสีย เพราะทรงดำริว่า “ที่แห่งนี้เป็นหอนอนของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เกรงจะเป็นเสนียดจัญไรแก่ผู้นอนทับในภายหลัง” อีกทั้งยังได้สร้างวัดขึ้นในที่แห่งนี้ด้วย นั่นก็คือ “วัดเชียงมั่น” ซึ่งถือเป็นวัดแรกที่สถาปนาขึ้นในนครเชียงใหม่อีกด้วย


พระธาตุหริภุญไชย



พระแก้วขาวมีอันต้องย้ายที่ประดิษฐานอีกหลายครั้ง ทั้งยังเคยตกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างอีกเป็นเวลาถึง 225 ปี จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จไปปราบล้านช้างได้สำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่กรุงเทพฯ ส่วนพระแก้วขาวโปรดฯ ให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น ที่ซึ่งพญามังรายทรงมีศรัทธาอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก โดยได้มีรับสั่งว่า "องค์เขียวเอาไปบางกอก องค์ขาวเอามาไว้ให้ชาวล้านนาเจ้าของเดิม"

ที่วัดเชียงมั่นแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยมีเจดีย์วัดเชียงมั่น เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ฐานช้างล้อม สร้างโดยพญามังราย และได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง อีกทั้งด้านหน้าอุโบสถหลังเก่า ก็ยังเป็นที่เก็บรักษาหลักศิลาจารึกอักษรล้านนาที่กล่าวถึงประวัติวัดเชียงมั่น และประวัติเมืองเชียงใหม่ด้วย


พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ที่วัดเชียงมั่น



หากผู้ที่สนใจในพระราชประวัติของพญามังราย ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็สามารถเดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลังใหม่ได้ด้วย และหากต้องการกราบสักการะพระแก้วขาว ก็ต้องไปที่วิหารจตุรมุข ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวแล้ว ก็ยังมีพระศีลา พระพุทธรูปแกะจากหินเป็นปางปราบช้างนาฬาคีรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองล้านนาด้วยเช่นกัน

องค์พระแก้วขาวในวันนี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีและอย่างระมัดระวัง โดยจะอัญเชิญออกมาจากวิหารเพียงปีละครั้งในวันสงกรานต์เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำเท่านั้น แต่ในตอนนี้ หากใครมีศรัทธาอยากจะได้พระแก้วขาวมาบูชา ทางชมรมอาสาสมัครชาวพุทธร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ได้ร่วมกันจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวองค์จำลองขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมบูชาพระศักดิ์สิทธิ์คู่พระบารมีของกษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่ทั้งสองพระองค์


อุโบสถตั้งอยู่ข้างเจดีย์ช้างล้อมของวัดเชียงมั่น



และที่สำคัญก็คือ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของพระแก้วขาว รวมถึงวัดเชียงมั่น วัดแห่งแรกของนครเชียงใหม่ ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาที่มีความเป็นมายาวนานถึง 711 ปี แห่งนี้ด้วย

* * * * * * * *

ผู้ที่มีศรัทธาสนใจจะสั่งจองพระแก้วขาว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ชมรมอาสาสมัครชาวพุทธ โทร.0-2784-6050 ศูนย์เช่าบูชา โทร.1577 และวัดเชียงมั่น โทร.0-5321-3170, 08-1386-4335 รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำไปบูรณะวัดเชียงมั่น

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"


ไปข้างบน