หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

'อุตสาหกรรมภินิหาร'เสกดินให้เป็นเงิน สร้างกระแสปั่นราคาเพิ่มมูลค่า 'จตุคามฯ'


ศาลหลักเมืองไม่ว่างเว้นจากการปลุกเสกจตุคามฯ

จากจำนวนการผลิตวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ในช่วงที่กระแสกำลังอยู่ในขาขึ้นแบบสุดขีด คือช่วงปลายปี 2549 -2550 ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการครอบครองของประชาชนในระดับชั้นต่างๆ ทั้งที่มีการผลิตออกไปแล้วนับล้านองค์ โดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้า ผู้ขาดที่พึ่งพิง ยามสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต

ปรากฏการณ์นี้ ได้เปิดช่องให้นายทุนหัวใส ที่เล็งผลกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองแต่ผู้เดียว มากกว่าจิตสำนึกในการสร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่สังคม เข้าไปจัดสร้างวัตถุมงคลเหมือนอุตสาหกรรมผลิตสินค้าทั่วๆ ไป กอบโกยผลกำไรจากความเชื่อความศรัทธาของประชาชน โดยใช้ชื่อวัดบังหน้า เพื่อหาเหตุผลที่เหมาะสมในการจัดสร้าง

จากนั้นจึงอาศัยประสิทธิภาพของสื่อ โฆษณาชวนเชื่อจนประชาชนคล้อยตามและแห่กันไปจับจองวัตถุมงคล ฝ่ายนายทุนเมื่อได้เงินเข้ากระเป๋าก็โบกมือลา ทิ้งไว้เพียงเสนาสนะคุณภาพห่วยใช้งานไม่ถึงเดือนก็ชำรุดทรุดโทรม แต่ก็ไม่สามารถที่จะไปเอาผิดกับใครได้ เนื่องจากไม่มีการทำสัญญากันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ระหว่างวัด นายทุน และผู้รับเหมา

พฤติกรรมดังกล่าวไม่แตกต่างจากกาฝาก ที่อาศัยหากินกับต้นไม้ใหญ่ซึ่งเติบโตขึ้นจากความเชื่อความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์ 'จตุคามรามเทพ' โดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแล


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ



แฉนายทุนเงินหนาอ้างชื่อวัดหาเงินเข้ากระเป๋า

สำหรับคณะจัดสร้างวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของวัด หรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีความประสงค์ต้องการจัดสร้างโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างชัดเจน เช่น นำรายได้จากการเช่าบูชาวัตถุมงคลรุ่นนั้นๆ ไปบูรณะบำรุงเสนาสนะให้แก่วัดต่างๆ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรายได้อย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบได้ ว่ามีการนำเงินไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เช่น กรณีของรุ่นเงินไหลมา สร้างโดยวัดพระนคร มีการนำรายได้ไปใช้สร้างอาคารเรียนปริยัติธรรม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง


ชาวบ้านมาร่วมพิธีจำนวนมาก

อีกรูปแบบ คือ กลุ่มนายทุน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นนายทุนท้องถิ่นบางส่วน เกี่ยวโยงกับคณะจัดสร้างจตุคามรามเทพ รุ่นแรก ปี 2530 แต่ปัจจุบันทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่ จะเป็นนายทุนจากนอกพื้นที่ เข้ามาติดต่อกับวัดในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช หรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่ออาศัยชื่อวัดจัดสร้างวัตถุมงคล โดยมีการตกลงว่าจะมีการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้วัดนำไปใช้ประโยชน์ หรือตกลงว่าจะจัดสร้างเสนาสนะให้แก่วัดที่ยังขาดแคลน

ส่วนเหตุที่ก่อนหน้านี้มีเพียงวัดและนายทุนในพื้นที่ ก็เนื่องมาจากวัตถุดิบที่จะนำมาใช้เป็นชนวนมวลสารนั้นหายาก บางชนิดมีราคาสูง และกลุ่มอื่นยังไม่กล้าทำ เนื่องจากไม่มีข้อมูลและทุนทรัพย์ แต่ระยะหลังเมื่อมีการผลิตกันมากจนเป็นกระแส จึงเป็นช่องทางให้ผู้ที่มีทุนเข้ามาตักตวงผลประโยชน์โดยอาศัยชื่อวัดบังหน้า

"บางคณะเป็นคณะที่มีจิตศรัทธา และมีอุดมการณ์ด้านการพัฒนาที่ชัดเจน แต่บางกลุ่มหวังแต่เงิน วัดบางวัดไม่มีศักยภาพในการสร้างวัตถุมงคล แต่จะมีนายทุนจากต่างพื้นที่ ไม่ว่าจะมาจาก หาดใหญ่ สุราษฎร์ฯ กรุงเทพฯ อยุธยา ชลบุรี และอีกหลายที่ มีการจ้างโรงงานผลิตจตุคามฯมาแล้วเสร็จสรรพ จากนั้นจึงเข้าไปทาบทาม เจ้าอาวาสวัดนั้นๆ เพื่อสอบถามว่า วัดต้องการให้สร้างอะไรบ้าง เพื่อกลุ่มทุนจะได้นำไปอ้างเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ ไม่มีวัดรองรับก็สร้างไม่ได้ หากต้องการให้สร้างโบสถ์ เขาก็จะสร้างให้เสร็จ แต่เงินที่ได้จากการเช่าบูชาที่เหลือ ไม่ได้เข้าวัด รายได้ที่กลุ่มพวกนี้ได้รับ 100 เปอร์เซ็นต์ เข้าวัดเพียงเล็กน้อย กลุ่มทุนบางกลุ่มสร้างจตุคามฯรอไว้แล้วถึง 10 แบบ รอเพียงหาชื่อวัดมาสวม แล้วตั้งชื่อรุ่นจากนั้นก็รอปลุกเสกต่อไป" แหล่งข่าวในวงการวัตถุมงคล จ.นครศรีธรรมราชกล่าว


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ

นอกจากนี้ ยังพบว่าวัดบางวัดที่ตกลงยินยอมให้กลุ่มนายทุนใช้ชื่อ ในการจัดสร้างวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ หลังจากเสร็จสิ้นการทำพิธีปลุกเสกและเปิดให้เช่าวัตถุมงคลแล้ว บางวัดกลับไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งจากการจัดสร้างเพื่อนำมาใช้บูรณะวัดตามที่ระบุในวัตถุประสงค์

ขณะที่บางวัดได้ศาลาการเปรียญที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เพราะผู้รับเหมาทำแบบขอไปที และไม่มีการทำสัญญาจัดจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่สามารถเอาผิดต่อผู้รับเหมาและนายทุนได้ ดังกรณีของวัดนาสน ในพื้นที่ ต.คลัง อ.เมืองนครศรีธรรมราช ศาลาการเปรียญที่นายทุนจัดสร้างให้ หลังจากได้เงินมาจากการเปิดให้เช่าบูชาวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพแล้ว ศาลาการเปรียญหลังดังกล่าวก็ชำรุดลงในเวลาอันรวดเร็ว


คณะลูกศิษย์วัดเนินไม้หอม จ.ปราจีนบุรี เดินทางมาขอคำปรึกษาในการจัดสร้างจตุคามฯ จากเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุฯ

จากข้อมูลพบว่า วัดนาสน ซึ่งมีพระอาจารย์เยาว์ กัลยาโณ ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาส ได้ให้กลุ่มของนายณสรรค์ พันธรักษ์ราชเดช เข้ามาดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่น 'พุทธศิลป์ย้อนยุค วัดนาสน' ขึ้นเพื่อหารายได้มาจัดสร้างศาลาการเปรียญให้แก่วัด ซึ่งวัตถุมงคลรุ่นดังกล่าวจัดสร้างขึ้นพร้อมๆ กับวัตถุมงคลรุ่น 'บูรณะหลักเมืองนครศรีฯ 2547' และใช้มวลสารชนิดเดียวกันในการจัดสร้าง ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนและเซียนพระ

ในการประชาสัมพันธ์การจัดสร้าง ได้มีการโฆษณาว่า 'ขุนพันธ์' เป็นผู้มอบหมายให้สร้าง ทั้งที่ในขณะนั้นต่างทราบกันดีว่า 'ขุนพันธ์' กำลังป่วยหนัก และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จนกระทั่งเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา

แหล่งข่าวในวงการเซียนพระ จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า กลุ่มนี้สร้างวัตถุมงคล 3 รุ่น ที่มีชื่อเสียงคือรุ่นไตรภาคีศรีนคร รุ่นย้อนยุคพุทธศิลป์ และรุ่นพุทธาคมเขาอ้อ มีรายได้จากการจัดสร้างมหาศาล ถึงกับขนาดที่แผงพระของบุคคลสำคัญในกลุ่มรายหนึ่ง ที่กำลังเป็นหนี้ธนาคารและถูกประกาศขายทอดตลาด กลับพลิกฟื้นรอดพ้นวิกฤตขึ้นมาได้อีกครั้ง และขณะนี้ได้รับการตกแต่งอย่างสะดวกสบายหรูหรา ในขณะที่ศาลาการเปรียญที่จัดสร้างให้กับวัดนาสนตามวัตถุประสงค์ที่อ้างก่อนการจัดสร้างได้ชำรุดลงในเวลาไม่ถึง1 เดือน เนื่องจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ

นอกจากนี้ยังพบว่าที่วัดบางหลวง ต.ท่าไร่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการนำรายได้ส่วนแบ่งในการสร้างจตุคามรามเทพจากกลุ่มนายทุนมาจัดสร้างโบสถ์ให้แก่วัดดังกล่าว โดยก่อสร้างเสร็จเมื่อกลางปี 2549 แต่ปรากฏว่าโบสถ์หลังดังกล่าวได้พังเสียหายทั้งหลังในเวลาไม่นาน เป็นเหตุให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเกิดความไม่พอใจ ส่งผลให้เจ้าอาวาสของวัดบางหลวงต้องออกจากวัดไปจำวัดอยู่ที่วัดเตาปูน ในเขต ต.คลัง อ.เมืองนครศรีธรรมราช จนถึงขณะนี้

"บางวัดไม่ได้คิดจัดสร้างเองมีนายทุนไปยุยง ทำตัวเป็นกาฝากวัด เข้าไปขอใช้ชื่อแล้วอ้างว่าจะจัดสร้างโน่นสร้างนี่ถวาย แต่กลับเอาเงินเข้าตัวเอง ไม่เฉพาะวัดนาสน แต่มีหลายวัดที่เจอปัญหาแบบนี้ เพราะช่างกับนายทุนไปตกลงกันเอง วัดไม่รู้เรื่อง ไม่มีการทำสัญญา เมื่อไม่มีสัญญาก็ลำบาก วัดที่จะยินยอมให้ใช้ชื่อก็ต้องมีสติ ไตร่ตรองให้ดี ควรมีการทำสัญญาก่อนจัดสร้าง หาไม่แล้วจะกลายเป็นเบี้ยล่างของนายทุน พวกนายทุนที่ทำแบบนี้ก็จะหากินได้ไม่นาน ไม่ยั่งยืน และคงลำบากชั่วกาลนาน" พระราชธรรมสุธี เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุ


คนงานกำลังก่อสร้างอาคารเรียนปริยัติธรรม วัดพระนคร ซึ่งได้งบประมาณจากการจัดสร้างจตุคามฯรุ่นเงินไหลมา โดยวัดเป็นผู้สร้างเอง

สำหรับลักษณะการจัดสร้าง หลังจากที่นายทุนได้ชื่อวัด และอ้างวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างได้แล้ว ก็มีการตั้งชื่อรุ่น จากนั้นก็จะมีการติดต่อประสานงานกับพระเกจิชื่อดังในพื้นที่ต่างๆ เท่าที่จะติดต่อได้ มาร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษก และเทวาภิเษก บริเวณวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุฯ และศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นที่กำเนิดจตุคามรามเทพ

ในขั้นตอนนี้มีออแกไนเซอร์ คอยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานพระเกจิให้ พร้อมกับจัดการด้านพิธีปลุกเสกให้แบบครบวงจร ส่วนวัตถุมงคลที่ต้องการปลุกเสก มีการจัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าการผลิตจตุคามรามเทพทำกันเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว แต่สินค้าชนิดนี้ต่างจากสินค้าชนิดอื่น เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนการปลุกเสก ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการโปรโมตทางอ้อมแล้ว ยังเปรียบเสมือนการประทับรับรองมาตรฐานของสินค้าไปในตัวด้วย

"ผมอยู่ที่นี่ทุกวันแทบจะไม่มีวันไหนที่ไม่มีพิธีปลุกเสกจตุคามฯ พิธีการปลุกเสกจะเป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่งว่าจตุคามฯรุ่นนั้นๆ จะดังหรือไม่ หากพิธีใหญ่ ก็จะดูขลัง และอาจทำให้จตุคามฯรุ่นนั้นดังได้ การทำพิธีมีฝ่ายจัดการให้เสร็จสรรพ คนที่ทำแค่ออกเงิน พิธีเล็กใช้เงินประมาณ 2-3 แสนบาท ระดับกลางก็ 5-6 แสนบาท ส่วนพิธีใหญ่ เช่น รุ่นรวยไม่เลิก ของวัดโพธิ์แก้วประสิทธิ์ ปลุกเสก 3 วัน 3 คืน ใช้เงินถึง 2 ล้านบาท" นายชูพร สุวรรณมุณี เจ้าของแผงพระ 'ตามพรลิงค์นคร' ในวัดพระมหาธาตุฯ ระบุ

นอกจากนี้ มีการจ้างสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งรถแห่ โบรชัวร์ โปสเตอร์ ป้ายคัตเอาต์ หนังสือพิมพ์ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น รวมทั้งวิทยุกระจายเสียง คอยประชาสัมพันธ์การปลุกเสกจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ ชนิดปูพรมทุกพื้นที่ เพื่อสร้างกระแสและกระตุ้นยอดจอง

ทั้งนี้ พบว่าขณะนี้ใน จ.นครศรีธรรมราช มีรถแห่โฆษณาจตุคามรามเทพ ออกวิ่งประชาสัมพันธ์การจัดสร้างจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 50 คันต่อวัน กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทุกมุมเมือง สร้างความสนใจให้แก่ผู้นิยมวัตถุมงคล ส่วนบริเวณกำแพงวัดพระมหาธาตุฯ ก็มีป้ายคัตเอาต์ติดเต็มตลอดแนว


ชูพร สุวรรณมุณี เจ้าของแผงพระ 'ตามพรลิงค์นคร'

เมื่อถึงวันทำพิธีปลุกเสก ก็จะมีการตั้งโต๊ะรับจองในบริเวณปะรำพิธี ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเบียดเสียดยัดเยียดกันไปจองวัตถุมงคล ในจำนวนนี้รวมถึงนายหน้าที่รับจ้างจองวัตถุมงคลให้แก่แผงพระใหญ่ๆ ทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัดด้วย

ทั้งนี้ พบว่าใบจองวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ บางรุ่นที่มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงสามารถนำไปเก็งกำไรต่อและทำราคาสูงกว่าราคาเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งปกติจะมีการตั้งราคาไว้ที่ประมาณ 299 - 399 บาท แต่หลังจากมีการจองไปแล้วนำไปทำกำไรต่อจะมีราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ ทั้งที่พิธีการปลุกเสกยังไม่เสร็จสิ้น สะท้อนถึงความต้องการวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ ของประชาชน ว่ามีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่คณะจัดทำวัตถุมงคลประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นว่าวัตถุมงคลรุ่นนั้นๆ มีจำนวนจำกัด ความต้องการมีมาก ขณะที่สินค้ามีน้อย จึงทำให้จตุคามรามเทพบางรุ่น มีราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวภายในระยะเวลาไม่นาน และคณะผู้สร้างจะใช้เงินที่ได้จากใบจองนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างด้วย

สำหรับนักสร้าง มีทั้งกลุ่มที่มีประสบการณ์สูง และกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์เลย ต้องเดินทางมาขอความรู้จากคนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีความชำนาญมากกว่า ดังเช่นกลุ่มลูกศิษย์วัดเนินไม้หอม ต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี ซึ่งลงทุนเดินทางมาขอคำแนะนำในการจัดสร้างจตุคามรามเทพ จากพระราชธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

"ตอนนี้วัดเสื่อมโทรมมาก คนทำบุญน้อยจัดทอดกฐินได้ปีละไม่ถึงแสน บูรณะวัดไม่ได้ จึงคิดทำจตุคามฯขึ้นมาให้ประชาชนได้บูชา เพราะจตุคามฯกำลังเป็นที่สนใจของประชาชน เชื่อว่าทำตรงนี้แล้วคนจะมาทำบุญมากขึ้น พัฒนาวัดได้มากขึ้น แต่ที่วัดเราไม่เคยสร้างวัตถุมงคล ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จึงต้องมาหาท่านเจ้าคุณให้ช่วยให้คำแนะนำ ที่สำคัญคือบริเวณที่ตั้งของวัดมีต้นกฤษณา ซึ่งเป็นไม้เนื้อหอมขึ้นอยู่มาก จึงอาจจะมีการนำมาใช้เป็นชนวนมวลสารด้วย คิดว่าคงได้รับความสนใจ" นายบรรจง เทียนทอง ผู้จัดการทั่วไป หจก.จอมทอง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนทรัคชั่น บริษัทรับเหมาก่อสร้างเสนาสนะให้แก่วัดดังกล่าวระบุ

จากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าว พบว่า มีคณะบุคคลต่างๆ เดินทางมานมัสการพระราชธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุฯ และเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขอคำแนะนำในการจัดสร้างวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ และขออนุญาตใช้วิหารหลวง ปลุกเสกวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ วันละไม่ต่ำกว่า 20 ราย

"จตุคามรามเทพ สามารถทำให้คนบ้านเรายอมควักเงินเช่ารุ่นต่างๆ ได้ แม้บางรุ่นจะมีราคาสูงหลักพัน หลักหมื่น ก่อนหน้านี้มีแต่คนขอ ไม่มีใครยอมควักเงินเช่าวัตถุมงคล ให้เปล่าบางคนยังไม่เอา แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว" พระราชธรรมสุธี กล่าว


แผงพระทุกระดับมีจตุคามรามเทพเป็นสินค้ายอดนิยม

สร้างกระแสปั่นราคาเพิ่มมูลค่า 'จตุคามฯ'

เนื่องจากเป็นสินค้าที่อิงอยู่กับความเชื่อและความศรัทธาของประชาชน การสร้างกระแสความนิยมในวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนที่จะมีพิธีการปลุกเสก คำว่า 'มวลสารดี พิธีขลัง' เป็นคำโฆษณาที่ติดหูประชาชนในเวลาไม่นาน ตามติดมาด้วยชื่อของเกจิอาจารย์สำนักต่างๆ ที่จะมาร่วมประกอบพิธีปลุกเสก ตลอดจนขั้นตอนการปลุกเสก ล้วนเป็นหนึ่งในสาร ที่คณะผู้จัดสร้างต้องกระจายออกไปสู่การรับรู้ของประชาชนให้มากที่สุดผ่านทางช่องทางต่างๆ ทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียง และสื่อออนไลน์ เพื่อให้จตุคามรามเทพรุ่นที่กำลังจะปลุกเสกได้เป็นที่กล่าวถึงและจดจำของประชาชนให้มากที่สุด

การสร้างกระแสดังกล่าวมีกรณีตัวอย่าง คือ รุ่นจักรพรรดิมหาราช ซึ่งมีพระอธิการสวงค์ ฉนฺทธมโม เป็นประธานการจัดสร้าง ใช้ระยะเวลาการปลุกเสกยาวนานเกือบ 3 เดือน มีการทำพิธีบูชาพระพุทธสิหิงค์ ทั้งที่ จ.นครศรีธรรมราช จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร ทำพิธีปลุกเสกทั้งบนบก และบนเรือรบ อาศัยคอนเนกชันของลูกศิษย์ลูกหา กระจายข่าวสารการรับรู้ไปไกลถึงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

ส่วนพิธีปลุกเสกใหญ่ก็มีขบวนแห่ช้าง ม้า ยิ่งใหญ่ตื่นตาตื่นใจ ไม่แพ้พิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพรุ่นปี 2530 โดยใช้ทุนในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท และมีพระเกจิจากสิงคโปร์ มาร่วมสังเกตการณ์ในพิธีด้วย เพื่อหาประสบการณ์ในการจัดสร้างจตุคามรามเทพ ที่กำลังได้รับความนิยม

ด้วยรูปแบบการสร้างกระแสดังกล่าวส่งผลให้จตุคามรามเทพ รุ่นจักรพรรดิมหาราช เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางตั้งแต่พิธีการปลุกเสกยังไม่เสร็จสิ้น ส่งผลให้ประชาชน และแผงพระในจังหวัดต่างๆ สั่งจองวัตถุมงคลรุ่นนี้เป็นจำนวนมาก คณะผู้สร้างได้รับเงินจากใบจองจำนวนหลายล้านบาท

"รุ่นจักรพรรดิมหาราช มีคนสนใจมาก มีเอเยนต์ใหญ่สั่งจองล่วงหน้าแล้วโอนเงินเข้ามา คณะผู้สร้างก็จัดส่งพระให้ จองกันเป็นลังๆ ลังละหลายร้อยองค์ แต่ชาวบ้านที่มีใบจองเมื่อถึงวันรับพระ ปรากฏว่าพระยังไม่แห้ง เพราะเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ชาวบ้านเขาก็โวยวายกัน แล้วไปล้อมสถานที่รับจอง ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่แย่ที่สุด คนใน จ.นครศรีธรรมราชโกรธมาก พระผู้สร้างไม่เสียหาย แต่กรรมการเสียชื่อเสียงมาก สุดท้ายก็มีการเรียกรับคืนใบจอง แล้วคืนเงินให้ชาวบ้าน เขาสร้างได้แค่รุ่นนี้รุ่นเดียวเพราะขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว" นายปรีชา ศรีศรัทธา เจ้าของร้านขายอาหารที่หันมาตั้งตู้ให้เช่าจตุคามฯ หน้าวัดพระมหาธาตุฯ ระบุ


จตุคามรามเทพ รุ่นจักรพรรดิมหาราช ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นได้รับเงินจากการจัดสร้างร่วม 40 ล้านบาท โดยผู้สร้างหวังนำเงินไปก่อสร้างศูนย์อบรมจริยธรรมเยาวชนใน จ.นครฯ ซึ่งกระบวนการสร้างกระแสจตุคามฯ รุ่นนี้เป็นสิ่งสะท้อนได้ดีถึงความนิยมที่เกิดขึ้นจากความศรัทธาเป็นทุนเดิมของประชาชน เมื่อมีการโหมประชาสัมพันธ์จึงยิ่งทำให้ศรัทธานั้นยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนสุดท้ายหวิดกลายเป็นโศกนาฏกรรม

อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะพิธีกรรมเท่านั้น ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าจตุคามฯรุ่นนั้นๆ จะดังหรือไม่ดัง แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกด้วย

"จตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ จะได้รับความนิยมหรือไม่นอกเหนือจากพิธีการปลุกเสกแล้ว การออกแบบให้มีความสวยงามแปลกตา รวมทั้งการตั้งชื่อรุ่น ก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น รุ่นโคตรเศรษฐี คนนิยมกันมากเพราะการออกแบบสวยแปลกตา ชื่อรุ่นสะดุดหู แตกต่างจากจตุคามฯรุ่นอื่นๆ และรุ่นเงินไหลมา ได้รับความนิยมมาก เพราะชื่อเป็นมงคล การตั้งชื่อรุ่นและการออกแบบจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะขณะนี้กระแสความนิยมจตุคามฯกลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว" นายชูพร สุวรรณมุณี เจ้าของแผงพระ 'ตามพรลิงค์นคร' ในวัดพระมหาธาตุฯ ระบุ

นอกจากนี้แล้วเหตุการณ์ความบังเอิญต่างๆ ยังส่งผลต่อชื่อเสียงของจตุคามฯในแต่ละรุ่นด้วย เช่น กรณีของรุ่นเงินไหลมา 1 สร้างโดยพระมหาไมตรี ปภารตโน เจ้าอาวาสวัดพระนคร เพื่อนำเงินสมทบทุนสร้างอาคารเรียนปริยัติธรรม การสร้างจตุคามฯ รุ่นนี้ ใช้งบฯประชาสัมพันธ์น้อยที่สุด โดยมีเพียงใบปลิวขนาด เอ 4 สีขาว - ดำ เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ เปิดให้เช่าในราคาเพียงแว่นละ 39 บาท 3 แว่น 100 บาท

ภายหลังจากที่มีข่าวชาวบ้านนำไปห้อยคอแล้วเกิดถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 จนเกิดกระแสปากต่อปาก ทำให้จตุคามฯรุ่นนี้เป็นที่ต้องการและมีราคาสูงหลักพันถึงหลักหมื่นบาท และส่งผลมาถึงรุ่นเงินไหลมา 2 ที่ประชาชนนับหมื่นคนแห่มารับจนเกิดการเหยียบกันตายตามที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้กระแสความนิยมในรุ่นดังกล่าวเกิดจากความเชื่อถือต่อผู้สร้าง ที่มุ่งนำเงินสร้างสาธารณประโยชน์ อย่างเป็นรูปธรรมด้วย


"ตอนนี้วงการพระเครื่องเริ่มมองว่าจตุคามรามเทพ คือธุรกิจไปแล้ว ใครมีจตุคามฯก็สามารถทำรายได้จากการเก็งกำไรทั้งใบจองและองค์จตุคามฯได้ เพราะพอออกจากวัดราคาก็จะเปลี่ยนไปทันที เช่น รุ่นโคตรเศรษฐี มีเซียนพระระดับผู้ใหญ่ในสมาคมพระเครื่องเมืองไทย เข้ามาปั่นราคา จากที่รับไปจากวัด 399 บาท ผ่านไป 1 อาทิตย์ เขาเอาไปแขวนแล้วบอกว่าราคา 1 หมื่นบาท คนก็เชื่อเพราะเขามีชื่อเสียง ถามว่าราคา 399 บาทใครอยากเช่าบ้าง และราคา 1 หมื่นบาทใครอยากเช่าบ้าง ทำไมไม่ผลิตที่ราคา 399 บาทให้มาก ให้ทุกคนได้มีโอกาสเช่าไปบูชา และทำบุญกุศลไปในตัว" แหล่งข่าวในวงการพระเครื่อง จ.นครศรีฯ กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่าจตุคามฯ ที่เช่าจากวัดพระมหาธาตุฯ โดยตรง กลับมีราคาแตกต่างกันกับราคาที่เช่าจากแผงพระข้างวัด ทั้งๆ ที่เป็นรุ่นเดียวกัน และรูปแบบเหมือนกันทุกอย่าง โดยจตุคามฯที่เช่าจากวัดจะมีราคาสูงกว่าแผงพระข้างวัด ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากจตุคามฯหลายรุ่นมีการปั๊มกันไม่หยุด และไม่มีการทำลายบล็อก

ปัจจุบันพบว่าวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ในตลาดมี 3 แบบ คือ
1.วัตถุมงคลที่ผ่านพิธีครบถ้วน ถือว่าเป็นของแท้
2.วัตถุมงคลที่มีรูปแบบเหมือนของแท้ทุกประการแต่ไม่ผ่านพิธีปลุกเสก เรียกว่าของไม่ปลอม แต่ก็ไม่ใช่ของจริง และ
3.วัตถุมงคลที่เกิดจากการทำเลียนแบบของแท้ทุกประการ แต่คนทำคนละกลุ่ม เรียกว่าของปลอม

กระจายอยู่ในแผงพระทั้ง 3 ระดับ บางรุ่นมีของเลียนแบบออกวางจำหน่ายตั้งแต่ของแท้ยังปลุกเสกไม่เสร็จ เหมือนกรณีเทปผี ซีดีเถื่อน

"คณะกรรมการผู้จัดสร้างจะต้องตอบคำถามต่อสังคม ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคือการบอกบุญหรือเป็นแค่ธุรกิจ ที่ไม่แตกต่างจากการค้าขายสินค้าอื่นๆ ต่างกันตรงที่สินค้าชนิดนี้มีความเชื่อความศรัทธาของประชาชนเป็นตัวกระตุ้นให้ต้องยอมควักกระเป๋า" แหล่งข่าวในวงการพระเครื่อง จ.นครศรีฯ กล่าว

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"


ไปข้างบน