หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ก้อนหินและดอกไม้


ถ้าเห็นก้อนหินหล่นลงมาจากที่สูง ใคร ๆ ก็วิ่งหลบทั้งนั้น

ไม่มีคนไหนอยากจะยื่นหน้าหรือแถตัวเข้าไปรับก้อนหินหรอก

แต่เวลาเห็นคนแสดงอากัปกิริยาหรือพูดจาผิดปรกติต่อหน้าต่อตา เหตุใดผู้คนจึงมักเอา "ตัวตน" ไปออกรับ ทึกทักว่าเขากำลังไม่พอใจอะไรตนสักอย่าง

วันดีคืนดีคนที่ทำงานก็ทำหน้าบึ้งตึง แถมจู่ ๆ ก็พูดขึ้นมาต่อหน้าเราว่า "เบื่อวะ" เคยบ้างไหมที่เราอดคิดไม่ได้ว่าเขากำลังประชดประชันเรา ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง เขาไม่ได้เบื่อหน้าเราสักหน่อย

คำพูดห้วน ๆ เสียงเดินตึงตัง หรือการปิดประตูเสียงดัง สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุนานัปการ โดยไม่เกี่ยวกับเราเลย การที่เราได้เห็นหรือได้ยินสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องบังเอิญทั้งเพ แต่บ่อยครั้งเรากลับเอาตัวเองไปเป็น "เป้า" รองรับการกระทำเหล่านั้นเต็มที่ คิดเป็นตุเป็นตะว่าเข้ากำลังจ้องเล่นงานเรา เสร็จแล้วเราเองก็เป็นทุกข์กลุ้มใจว่าเราทำอะไรผิดหรือ จนบางทีกินไม่ได้นอนไม่หลับ


คำพูดและอากัปกิริยาเหล่านี้เปรียบเสมือนก้อนหินที่ตกลงมา
ใครขืนเอาตัวเข้าไปรับก็มีแต่เจ็บสถานเดียว

ไม่ดีกว่าหรือถ้าเราจะหลบหลีกเสีย ได้เห็นหรือได้ยินตรงไหนก็วางมันลงตรงนั้นเลย ไม่เก็บเอาไปคิดให้รบกวนใจ ก็เขาไม่ได้หมายถึงเรานี่ จะไปกลุ้มทำไม

แต่ถ้าเขาเกิดด่าว่าเราชัด ๆ ตรง ๆ ล่ะ จะทำอย่างไร ?

ก็ต้องถามกลับว่า เราจะทำอย่างไร ในเมื่อรู้ว่าก้อนหินที่กำลังหล่นใส่หัวเรานั้นเป็นฝีมือของคนที่ประสงค์ร้ายต่อเรา เรายังจะเอาหัวเข้าไปรับหินก้อนนั้นอีกหรือ ?

ถึงแม้คำด่าจะพุ่งมาที่เราโดยตรง ควรแล้วหรือที่เราจะเอาตัวไปเป็นเป้ารับคำด่านั้น ตราบใดที่เราไม่เอาตัวตนออกรับ คำด่านั้นก็ไม่มีพิษสง ที่มันทำร้ายเราได้ ก็เพราะเราต่างหากที่เอาถ้อยคำเหล่านั้นมาทิ่มแทงตัวเอง


มีเรื่องเล่าว่า นักปรัชญาผู้หนึ่งต้องการโต้วาทะกับนัสรูดิน แต่เมื่อไปหาที่บ้านตามเวลานัดก็ไม่พบ ด้วยความโกรธ จึงเอาชอล์คเขียนที่หน้าประตูบ้านนัสรูดินว่า "อ้ายโง่บัดซบ"

เมื่อนัสรูดินกลับบ้าน เห็นข้อความดังกล่าว จึงรีบไปที่บ้านนักปรัชญาผู้นั้นทันที

"ผมลืมนัดสนิทเลย" นัสรูดินกล่าว "ตอนที่คุณไปที่บ้านผม ผมขอโทษด้วยที่ไม่ได้อยู่บ้าน เพิ่งนึกออกว่ามีนัดก็ตอนที่เห็นชื่อคุณอยู่ที่ประตูบ้านผม"

นักปรัชญาผู้นั้นโยนคำด่าใส่นัสรูดิน แต่นัสรูดินแทนที่จะรับคำด่านั้นมาเป็นของตน กลับหลีกเสีย แถมยังนำหินก้อนนั้นกลับคืนเจ้าของ

วิธีการเช่นนี้พระพุทธเจ้าเคยทำมาแล้ว โดยทรงถามพราหมณ์ที่กล่าวร้ายพระองค์ว่า อาหารที่พราหมณ์ถวายแก่พระองค์ หากพระองค์ไม่รับ อาหารนั้นจะเป็นของใคร

ครั้นพราหมณ์ตอบว่า เป็นของตน พระองค์ก็ตรัสว่า คำด่าของพราหมณ์ก็เช่นกัน หากพระองค์ไม่รับ ย่อมตกเป็นของพราหมณ์

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า
คำพูดใดที่ไม่ถูกใจเรา เราควรเมินเฉยไปเสียหมด
ถ้อยคำบางอย่างก็มีประโยชน์ หากเรารู้จักคิด
อาทิเช่น คำวิพากษ์วิจารณ์
แม้ผู้วิจารณ์อาจต้องการระบายอารมณ์ใส่เราก็ตาม


ในกรณีอย่างนี้เราควรรับฟัง ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะเอาอะไรรับฟัง หรือรับฟังด้วยอะไร ?

คนเรามีสองด้านอยู่ในตัว ด้านหนึ่งคือ ปัญญา อีกด้านหนึ่งคือ อัตตา (หรือพูดให้ถูกคือความยึดถือในอัตตา)

ด้านที่เป็นปัญญานั้นจะแข็งแรงอดทน ส่วนด้านที่เป็นอัตตานั้นอ่อนแอ อะไรมากระทบไม่ได้ เปรียบไปก็เหมือนกับ หลังและท้อง ของเรา หลัง ของเรานั้นทนทาน รับแรงกระทบกระแทกได้ ส่วน ท้อง หรือด้านหน้าของเรานั้น มีจุดอ่อนเต็มไปหมด

เวลาเจอแรงกระทบกระแทก ถ้าหนีไม่พ้นเราควรหันหลังรับไม่ใช่เอาท้องรับ ใครเอาท้องรับก็จุกหรือเจ็บเท่านั้นแหละ

ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเจอคำวิพากษ์วิจารณ์ เราควรเอา ปัญญา รับแต่คนส่วนใหญ่กลับเอา อัตตารับ คือปล่อยให้ความรู้สึกว่า "เขาด่ากู" ขึ้นหน้าทันที โดยไม่ทันพิจารณาว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นถูกต้องหรือไม่มีประโยชน์เพียงไร

เมื่อใดก็ตามที่เราเอาความรู้สึก "ตัวกูของกู" ขึ้นหน้าหรือออกรับยามได้ประสบสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ความรู้สึก "ถูกใจ" หรือ "ไม่ถูกใจ"

อะไรที่ปรนเปรออัตตาหรือขยายตัวตนให้พองใหญ่ขึ้น ก็จะรู้สึกถูกใจ แต่ถ้าเจอสิ่งใดที่ไม่สนองอัตตา หรือบีบคั้นกระทบกระทั่งตัวตน จะรู้สึกไม่ถูกใจขึ้นมา

การเอาอัตตาออกรับคำวิพากษ์วิจารณ์ จึงมักตามมาด้วยความไม่พอใจ โกรธแค้น และเป็นทุกข์ แถมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว

แต่ถ้าเราเอาปัญญาออกรับ จิตของเราจะมาใส่ใจอยู่กับเนื้อหาสาระของถ้อยคำ แทนที่จะมาจดจ่ออยู่กับเรื่องตัวตนหรือหน้าตา "ความถูกต้อง" จะสำคัญกว่า "ความถูกใจ"

หากคำวิพากษ์วิจารณ์ของเขานั้นถูกต้อง ก็ช่วยให้เราปรับปรุงตนเองได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ถูกต้อง เราก็ยังได้ประโยชน์จากคำวิจารณ์อยู่นั่นเอง


เพราะการตั้งรับด้วยปัญญาเอื้อให้เราเห็นแง่มุมต่าง ๆ ของคำวิจารณ์นั้น เช่น กระตุ้นให้เราเกิดคำถามขึ้นในใจว่า เหตุใดเขาจึงพูดเช่นนั้น ? เราทำอะไรให้เขาเข้าใจผิดหรือเปล่า? เขาหงุดหงิดกับใครมาก่อนหรือเปล่าถึงมากราดเกรี้ยวเรา ? คำถามเช่นนี้ช่วยให้เราเกิดความรู้ ความเข้าใจในตนเองและผู้อื่นมากขึ้น แทนที่จะโกรธก็รู้สึกให้อภัยเขา

แน่ละท่าทีเช่นนี้อาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดเวลาค้นพบความผิดพลาดของตนเอง แต่บทเรียนหรือ - ความรู้สึกความเข้าใจที่ได้รับย่อมมีคุณค่าและคุ้มค่ากับความเจ็บปวดเสมอ และหากเราไม่หมกมุ่นกับเสียงบ่นคร่ำครวญของอัตตามากเกินไป ไม่นานเราก็จะรู้สึกดีขึ้นเอง

จะว่าไปถ้าเราไม่เอาอัตตาออกรับ มันก็ไม่ค่อย เจ็บเท่าไรหรอก ที่เจ็บปวดเป็นทุกข์เป็นร้อน ก็เพราะชอบเอาอัตตาออกรับพร่ำเพรื่อนั่นเอง แต่ถ้าใช้ปัญญา ความเจ็บปวดนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ อย่างน้อยมันก็ฝึกขันติได้ดีทีเดียว

ทั้งหมดนี้เปรียบไปก็เหมือนกับการเจอลิงเกเร หากมันขว้างมะพร้าวใส่เรา แน่นอนเราต้องหลบก่อน แต่หลังจากนั้นล่ะ ? เราจะหยิบมะพร้าวลูกนั้นขว้างกลับไปที่ลิง หรือเฉาะเปลือกแล้วดื่มน้ำควักเนื้อมากิน ?

คำวิพากษ์วิจารณ์ก็เหมือนกับลูกมะพร้าว โทษของมันคือทำให้เราหัวแตกได้ (หากเราเอาหัวไปรับ) แต่ประโยชน์ของมันก็มีไม่น้อย

ท่าทีของคนมีปัญญาคือรู้จักใช้ประโยชน์จากมัน
ดีกว่าที่จะเอามันขว้างใส่คนอื่นเพื่อแก้แค้น
ท่าทีเช่นนี้จะช่วยเราได้มากเวลาเจออุปสรรค
ความผิดพลาดหรือความล้มเหลว

สิ่งเหล่านี้ถ้าเราเอาอัตตาออกรับ (เช่น คิดว่าจะเกิดผลอะไรต่อตัวฉัน คนอื่นจะมองฉันอย่างไร) ก็รังแต่จะทุกข์ แต่ทันทีที่เอาปัญญาออกรับ เราจะเห็นสิงเหล่านี้ในอีกแง่มุมหนึ่งเลย แทนที่จะสอดส่ายหาว่า ใคร เป็นตัวการ (เพื่อจะได้เล่นงานหรือระบายอารมณ์ใส่) เราจะถามว่า เหตุใด จึงเกิดความผิดพลาดขึ้น

การตั้งคำถามเช่นนี้ช่วยให้เราเห็นทางออกใหม่ ๆ คำถามเช่นนี้แหละที่ก่อให้เกิดการค้นพบอย่างสำคัญมานักต่อนักแล้ว

เมื่ออเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง พบสิ่งผิดปกติในจานเพาะเชื้อแบคทีเรียที่กำลังทำการทดลองอยู่ ทั้ง ๆ ที่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการแต่แทนที่จะขุ่นเคืองใจ เขากลับตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น คำถามนี้ในที่สุดนำไปสู่การค้นพบยาปฏิชีวนะ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญที่สุดในรอบพันปีที่ผ่านมา


การเอาอัตตาออกรับ มักตามมาด้วยความพอใจ ไม่พอใจ และลงเอยด้วยความรู้สึกทุกข์ แต่การเอาปัญญาออกรับ มักก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มพูนขึ้น ไม่ว่าจะประสบกับอะไร สุขหรือทุกข์ น่าพึงพอใจ หรือไม่น่าพึงพอใจ

ปัญญาสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์ได้เสมอ กระทั่งความเจ็บป่วย ก็กลายเป็นสัญญาณเตือนให้เราปรับชีวิตให้ถูกต้องสมดุลขึ้น หรือช่วยให้เราเข้าใจสัจธรรมของชีวิตได้ดีขึ้น ปราศจากซึ่งท่าทีแห่งปัญญาแล้ว ความเจ็บป่วยมีแต่จะทำให้เราทุกข์ทรมาน เพราะมันไม่เป็นผลดีต่ออัตตาของเราเลย

ปัญญาทำให้ขยะกลายเป็นปุ๋ย
บำรุงเลี้ยงต้นไม้ให้งดงาม
ดังนั้น จึงไม่ยากที่จะแปรก้อนอิฐ
เป็นดอกไม้ให้เราชื่นชม

บทความจากหนังสือ "จิตแจ่มใส ดอกไม้บาน" งานเขียนโดย....พระไพศาล วิสาโล


ไปข้างบน