หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ท่องแดนพุทธภูมิ ตามรอยพระศาสดา

เชื่อว่า...คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม จะต้องนึกฝันบ้างว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตขอให้ได้ไปสักการะบรมศาสดาที่ตนเลื่อมใสศรัทธา ณ ดินแดนต้นกำเนิด เสมือนหนึ่งว่าได้เห็นก็เป็นบุญตา ได้สวดมนต์ภาวนาก็เป็นบุญปาก ถึงจะเดินทางลำบากแต่ก็เป็นบุญใจ ดังที่พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้กล่าวไว้


ทุกวันนี้พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาเลื่อมใส จาริกไปแสวงบุญตามพุทธสถาน ในปีหนึ่งๆนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การได้ไปกราบไหว้สังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน), ตรัสรู้ (พุทธคยา), แสดง ปฐมเทศนา (พาราณสี) และปรินิพพาน (กุสินารา) ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่องค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีความผูกพัน อย่างสนิทแนบแน่นนั้น จะต้องมีสิ่งนำพา คือสติปัญญาควบคู่กับศรัทธา จึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่ใน อดีต การเดินทางจาริกแสวงบุญในแดนพุทธภูมิให้ครบถ้วนนั้น นอกจากจะลำบากและต้องพกพาขันติไปด้วยอย่างมหาศาลแล้ว ยังกินเวลากว่าสิบวันทีเดียว แต่หลังจากที่การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ให้ความสำคัญและเปิดเส้นทางบินระหว่าง กรุงเทพฯ-พุทธคยา-พาราณสี ไม่เพียงแต่พุทธบริษัททั้งหลายจะได้รับอานิสงส์ ช่วยให้การเดินทางตามรอยพระศาสดาสะดวกสบายขึ้น ยังสามารถย่นระยะเวลาเดินทางให้สั้นลง เหลือเพียง 5 คืน 6 วัน รวมถึงพระธรรมทูตที่ช่วยกันเผยแผ่พุทธศาสนาคืนสู่ถิ่นพุทธภูมิ ก็ได้ไปมาสะดวกและมีชีวิตความ เป็นอยู่ดีขึ้นด้วย

การไปสักการะสังเวชนียสถาน 4 ตำบล เริ่ม จาก พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในมรดกโลก เปิดให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้าสักการะทุกวัน ตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง (04.00 น.) จนถึง 21.00 น. สำหรับนักแสวง บุญที่ประสงค์จะบำเพ็ญจิตภาวนาและเจริญสมาธิทั้งคืนก็กระทำได้ แต่ต้องแจ้งความจำนงล่วงหน้า และเสียค่าบำรุง 100 รูปี และเนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้จะเข้าไปต้องถอดรองเท้าฝากไว้ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้า แต่สามารถสวมถุงเท้าได้


ภายในองค์พระเจดีย์พุทธคยา ประดิษฐานพระพุทธรูป “พระพุทธเมตตา” ปางมารวิชัย ซึ่งสร้างจากหินแกรนิตสีดำ พระพักตร์เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน เมตตา กรุณา ไม่ว่าใครจะทุกข์ร้อนมาจากไหน เมื่อได้เห็นความงดงามของพระพักตร์ ต่างคลายความร้อนใจและลืมความทุกข์จนหมดสิ้น จนมีตำนานเล่าขานว่า ครั้งหนึ่งกษัตริย์ฮินดูมีพระประสงค์จะทำลาย พุทธศาสนา ได้ยกทัพไปที่พุทธคยา เพื่อทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่เมื่อเข้ามาในมหาเจดีย์เห็นพระพักตร์พระพุทธรูปองค์นี้เข้า ก็ทำลายไม่ลง แต่เกรง จะเสียระบบการปกครอง จึงสั่งให้ทหารทำลายแทน นายทหารก็ไม่กล้า แต่ เกรงกลัวอาญา จึงได้ใช้ปูนโบกทับ ซ่อนองค์พระพุทธรูปไว้ข้างใน จนกระทั่งกษัตริย์ฮินดูสิ้นพระชนม์ ปูนที่ปกปิดพระพุทธรูปไว้จึงถูกกะเทาะออก ด้าน หลังพระมหาเจดีย์มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมื่อกว่า 2,500 ปีล่วงแล้ว พระพุทธ เจ้าทรงตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ ปัจจุบันเป็นต้นที่ 4 ที่แตกหน่อมาจากต้นเดิมครั้งพุทธกาล เมื่อปี พ.ศ. 2423 รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดีย ได้มอบหมายให้นายพลอเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นผู้บูรณะสถานที่นี้ และปลูกต้นโพธิ์ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม ณ ที่นี้ เราได้เห็นชนชาวพุทธหลายเชื้อชาติและภาษา ต่างมานั่งสวดมนต์ ทำสมาธิเจริญจิตภาวนาที่ใต้ต้นพระศรี มหาโพธิ์ เสมือนกับได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ถึงที่ประทับ “พระแท่นวัชรอาสน์”

จากนั้นขึ้นเครื่องการบินไทยไปลงพาราณสี แล้วนั่งรถต่อไป กุสินารา นครที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน แม้พระอานนท์ จะทูลคัดค้านว่า เป็นเมืองเล็กเมืองดอน แต่พระพุทธองค์ก็ทรงยืนยันให้เป็นที่คืนร่างของพระองค์ ต้องใช้เวลาเดินทางร่วม 7 ชั่วโมง บนเส้นทางแคบๆ เป็นหลุมเป็นบ่อบ้าง แต่มีเสียงแตรรถคอยขับกล่อมตลอดเส้นทาง ทำให้การเดินทางที่ดูยาวนาน กลับสั้นลงในพริบตา จากความเพลิดเพลินที่ได้ฟังการ บรรยายธรรม สลับกับเกร็ดเรื่องราวของแดนภารตะ และการสวดมนต์ โดยพระวิทยากรลิ้นทอง “พระมหา ดร.ปรีชา กตปุญโญ” (มหาน้อย) แห่งวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ที่ช่วยทำให้การเดินทางได้รสชาติ ประหนึ่งธรรมศาลาเคลื่อนที่


นครกุสินารามีสถานที่สำคัญคือ สาลวโนทยาน สถูปที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายใต้ต้นสาละ และ วิหารปรินิพพาน ซึ่งด้านในมีพระพุทธปฏิมากรปางมหาปรินิพพาน ประดิษฐานอยู่บนพระแท่น เป็นพุทธรูปปางอนุฏฐิตสีหไสยาสน์ คือปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้าย เป็นองค์พระยาว 10 ฟุต สูง 2 ฟุต 1 นิ้ว และยังมี มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ตั้งอยู่บนเนินสูงประมาณ 50 ฟุต สถูปเป็นเนินดิน ก่ออิฐหุ้ม ณ ที่นี้พุทธบริษัททั้งหลายได้ฝึกปฏิบัติการกำหนด ลมหายใจ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของลมหายใจว่าเป็น กัลยาณมิตร ไม่มีสิ่งใดอยู่ กับเราตลอด เช่นลมหายใจ!!

และที่นครแห่งนี้ ยังมีวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งถูกขนานนามว่า “ลิตเติ้ล ไทยแลนด์” เพราะที่นี่มีโครงการสนับ สนุนงานพระธรรมทูต การ ศึกษา งานสังคมสงเคราะห์ ตั้งแต่การรักษาพยาบาล ซึ่งมี “กุสินาราคลินิก” เริ่มจากเปิดเป็นมุมจ่ายยา เพื่อ ปฐมพยาบาลพระสงฆ์ ช่าง ไทย และกรรมกรชาวอินเดียที่ทำงานก่อสร้างในวัด ต่อมามีผู้ศรัทธาทำบุญด้วยยาหลายขนาน ทางวัดจึงขยายความช่วยเหลือ ดูแลเรื่องเจ็บไข้แก่ผู้ที่มาแสวงบุญ และคนพื้นเมืองด้วย โดยเก็บค่าพยาบาล 5 รูปี รักษาทุกโรค ยกเว้นวันพระ 15 ค่ำ และวันสำคัญของชาติรักษาฟรี โดยได้จ้างหมอจากเมืองโครักขปูร์ ซึ่งอยู่ ติดชายแดนเนปาลมาให้การรักษา จากคลินิกเล็กๆ ขณะนี้กำลังขยายเป็นกุสินาราโพลีคลินิกแบบครบวงจร อยู่ระหว่างก่อสร้างบนพื้นที่ 2 ไร่เศษ ตรงข้ามกับวัด เป็นอาคารพยาบาล 2 ชั้น ขนาด 30 เตียง ประกอบด้วย 16 ห้องตรวจ ห้องจ่ายยา ห้องเอกซเรย์ ศาลาไทยที่ปฏิบัติวิปัสสนาห้องธรรมเภสัช ซึ่งรักษาด้วยธรรมะ อาคารพักฟื้นสำหรับพระมหาเถระและฆราวาส ฯลฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จฯวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 48 ซึ่งจะแล้วเสร็จตามกำหนดในปลายปี 2550


จากเมืองกุสินารา เดินทางสู่ ลุมพินี ในเขตประเทศเนปาล ซึ่งต้องใช้ เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง บางครั้งไปถึงชายแดนแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าประเทศ เนปาลได้ เพราะปัญหาความไม่สงบในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระตถาคต ต้องเคว้งคว้างไม่มีที่พักพิง ไม่มีที่ปลดทุกข์ โดยเฉพาะพระสงฆ์องคเจ้าก็ลำบากไม่มีที่ฉัน เพล โครงการ “พุทธวิหาร สาลวโนทยาน 960” จึงเกิดขึ้น จัดสร้างเป็นศาลาพักข้างทางของผู้แสวงบุญ อยู่ห่างชายแดนอินเดีย-เนปาล 3 กม. ซึ่งจะมีทั้งห้องน้ำ ห้องสุขาที่ได้มาตรฐานถึง 32 ห้อง แยกเป็นสัดส่วน สำหรับพระสงฆ์ ชาย หญิง และผู้พิการ ที่จัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ระหว่างเดินทาง และเป็นศาลาอเนกประสงค์รับประทานอาหาร ศาลาน้ำชากาแฟ คลินิกปฐมพยาบาล โดยอยู่ในความดูแลของวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ขณะนี้ได้เปิดใช้ งานได้บางส่วน แม้ว่าการก่อสร้างยังไม่เสร็จครบถ้วน ท่านที่ประสงค์จะร่วมอนุโมทนาทำบุญซื้อที่ดิน หรือเป็นเจ้าภาพห้องน้ำ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้เดินทางให้สุขเกษมสานต์โดยทั่วกัน โดยร่วม สนับสนุนโครงการทั้งสอง ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ธ.ไทยพาณิชย์ สาขารามคำแหง บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 079-2-30666-5

การเดินทางเข้าเนปาลต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเช็กวีซ่า และเปลี่ยนทะเบียนรถเป็นสีเขียวสำหรับการขับขี่ในเนปาล โดย สวนลุมพินีวัน ห่างจากด่าน 23 กิโลเมตร เขตสังเวชนียสถานลุมพินีวัน มีเนื้อที่กว่า 6,000 ไร่ ประกอบด้วยวิหารมหาเทวีก่อด้วยอิฐสีแดง ภายในวิหารเป็นทางเดินไม้ ล้อมรอบตามรูปทรงอาคาร มีรอยพระพุทธบาทตอนประสูติ และแผ่นหินสลักภาพพระนางสิริมหามายาประทับยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งไม้ ประสูติพระโอรส ส่วนด้านนอกเป็นที่ตั้งของเสาหินศิลาจารึกอายุกว่า 2,000 ปี ที่ พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ตรงที่ประสูติของพระสิทธัตถะราชกุมาร เป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่าที่สุดทางพระพุทธประวัติ


เนื่องจากจะต้องขึ้นเครื่องการบินไทยกลับกรุงเทพฯที่เมืองพาราณสี โปรแกรมไปสักการะสังเวชนียสถาน ธัมเมกขสถูป สถานที่แสดงธรรมเทศนาที่นำพาถึงความหลุดพ้น ซึ่งสร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช ในราวพุทธศตวรรษที่ 3 จึงถูกจัดไว้เป็นแห่งสุดท้าย ที่เมืองสารนาถ ซึ่งอยู่ ห่างกรุงพาราณสีเพียง 8 กิโลเมตร คณะแสวงบุญจึงต้องนั่งรถทางไกลสุดๆ จากลุมพินีวันมาพาราณสีอีก 9 ชั่วโมง

การเดินทางสู่แดนภารตะนี้ มีทั้งสุขให้เลือก และมีทุกข์ให้ผจญ ใครจะได้รับสุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับการปรับสภาพของตัวเอง หากเรารู้จักสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ดีๆต่อสิ่งที่ผ่านมากระทบ และรู้จักหลีกเลี่ยงความกินใจต่อสิ่งที่ไม่เหมือนเรา อาทิ เด็กขอทานที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วทุกแห่งหน เพื่อเข้าให้ถึงเสน่ห์ของอินเดียให้ได้ เราก็จะได้รับความสุขหลายๆอย่างตามมา พระราชรัตนรังษีท่านจึงเทศนาไว้ว่า ผู้จะจาริกอินเดียให้ดูดี ต้องพกศรัทธา พาปัญญา จูงความเพียร สะสมบารมีมาให้เพียงพอ หากศรัทธามีจำกัด ปัญญาจำเขี่ย ความเพียรมีอย่างจำกัด จะทำให้ผู้เดินทางอ่อนระโหยโรยแรง พลาดจากความสนุกและสิ่งแปลกใหม่อย่างน่าเสียดาย!! เพราะฉะนั้นการไปอินเดียไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครๆคิดกัน ถ้าเรารู้จักทำใจ โดยใช้ธรรมะเป็นยาระงับอารมณ์ แล้วเราจะเดินทางด้วยจิตที่ผ่องใส ใจที่เบิกบาน และ บุญกุศลช่วยหนุนนำ!!


ไปข้างบน