หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

กำเนิดเหรียญแสตมป์ พระพุทธสิหิงค์และพังพระกาฬ

นอกเหนือจากดวงตราสุริยันจันทรา รวมทั้งผ้ายันต์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ.2530 แล้ว ทุกคนคงจะรับทราบด้วยว่า ในคราวเดียวกันพล.ต.ท.สรรเพชญได้สร้าง วัตถุมงคลพร้อมกันอีก 1 ชนิด นั่นคือ “เหรียญแสตมป์” ที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากับแสตมป์โดยด้านหน้าทำเป็นรูปเศียรจตุคามรามเทพ และพระพุทธสิหิงค์ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าสร้างพร้อมกันในปี 2530 แต่ความจริงก็คือ สร้างขึ้นมาในภายหลังและมีต้นกำเนิดที่น่าสนใจยิ่ง

กล่าวสำหรับเหรียญแสตมป์นั้น ไม่มีปริศนาอะไรมาก เพราะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกให้คนที่เคยช่วยออกเงินในการสร้างศาลหลักเมือง เมื่อดำเนินการสร้างหลักเมืองเสร็จเรียบร้อยเพียงประการเดียว


เหรียญแสตมป์ ปี 2530 แบบมีห่วง


เหรียญแสตมป์ ปี 2530 แบบไม่มีห่วง

ส่วนพระพุทธสิหิงค์นั้น หากรับรู้ประวัติและความเป็นมาในการสร้างอาจตกใจไม่น้อยว่าทำไมถึงได้พิสดารพันลึกเช่นนี้ และเชื่อว่า เมื่อฟังจบแล้วจะต้องตั้งคำถามในใจว่า จริงหรือ แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องจริง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พระพุทธสิหิงค์ที่ชาวพุทธในประเทศไทยบูชานับถือและบูชา แท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์ แต่มีชื่อว่า “พระพุทธสิงหลปฏิมา” สร้างโดยชาวลังกาที่เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ดังนั้นพุทธศิลป์ที่ปรากฏจึงเป็นส่วนผสมระหว่างศิลปะศรีวิชัยและศิลปะลังกา ในยุคสมัยหนึ่ง มีข่าวกระเส็นกระสายว่า ศรีลังกาแข็งเมืองก่อการกบฏต่ออาณาจักรศรีวิชัย เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องพระเจ้าจันทรภาณุหรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หรือจตุคามรามเทพจึงได้ขอเครื่องราชบรรณาการที่มีค่าควรเมือง นั่นก็คือพระพุทธสิงหลปฏิมา เมื่อลังกาปฏิเสธ พระเจ้าจันทรภาณุจึงยกกองทัพเรือไปตีลังกาและนำพระพุทธสิงหลประติมากลับมายังอาณาจักรศรีวิชัยด้วยนั่นคือที่มาที่ไปของพระพุทธสิหิงค์หรือพระพุทธสิงหลปฏิมา


พระพุทธสิหิงค์หรือพระพุทธสิงหลประติมา ปี 2530

สำหรับสาเหตุที่จตุคามรามเทพกำหนดให้สร้างพระพุทธสิหิงค์ร่วมด้วย ต้องย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในช่วงที่มีการวางระเบิดศาลากลางนครศรีธรรมราช ซึ่งพล.ต.ท.สรรเพชญไม่รู้ แต่จตุคามรามเทพรู้และไม่พอใจที่พุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐสถานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองไม่ยอมให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งสั่งให้พล.ต.ท.สรรเพชญไปปลุกให้ตื่นขึ้นมาปกปักษ์รักษาเมือง แต่จะปลุกด้วยวิธีใดนั้น ขออนุญาตไม่เปิดเผยก็แล้วกัน เหตุการณ์ในช่วงนั้น หากยังจำกันได้ก็คือ เมื่อมีการวางระเบิด พล.ต.ท.สรรเพชญ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งให้ ร.ต.อ.สมชาย อ่วมถนอม (ยศในขณะนั้น) ตำรวจมือดีเข้าไปกู้ระเบิด โดยมอบผ้ายันต์พิเศษสีดำที่สร้างขึ้นมาจำนวน 99 ผืนโพกศีรษะ และสามารถกู้ระเบิดได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น จึงสร้างพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาเพื่อระลึกถึงความทรงจำในครั้งนั้น พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงอิทธิฤทธิ์ของจตุคามรามเทพที่ช่วยปัดเป่าให้เหตุร้ายผ่านพ้นไปด้วยดี


เหรียญจตุคามรามเทพสร้างเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันเกิดของ พล.ต.ท.สรรเพชญ ปี 2532

จากดวงตราสุริยันจันทราก็มาถึง “พระโพธิสัตว์พังพระกาฬ” อีกหนึ่งวัตถุมงคลของหลักเมืองนครศรีธรรมราช ที่สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ.2532 หรือหลังจากที่สร้างรุ่นแรกสองปี และในปัจจุบันก็เป็นที่นิยมกันค่อนข้างมาก ทำไมจึงต้องเป็นพังพระกาฬ พังพระกาฬคืออะไร และทำไมจึงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมายถึงขนาดนั้น


รูปหล่อลอยองค์พังพระกาฬต้นแบบที่ “กำจร สถิรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนำมามอบให้ พล.ต.ท.สรรเพชญเพื่อนำไปใช้ออกแบบเหรียญพังพระกาฬรุ่นแรกและรุ่นสอง

แน่นอนว่า กำเนิดแห่งพังพระกาฬนั้นย่อมเป็นไปด้วยความมหัศจรรย์พันลึกและเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของชาติคือ “นายกำจร สถิรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศชนิดที่เล่าแล้วทุกคนต้องอ้าปากค้างเลยทีเดียว

กล่าวคือในขณะที่ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อย รวมทั้งมีการทำวัตถุมงคลที่ระลึกประเภทต่างๆ เพื่อสมนาคุณให้กับผู้มีส่วนร่วมในการสร้างแล้ว ถัดจากนั้นอีก 2 ปีคือในปี พ.ศ.2532 ถึงได้มีการสร้างพระพังพระกาฬตามมาในภายหลัง และผู้ที่กำหนดให้สร้างพังพระกาฬขึ้นมาจะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจากจตุคามรามเทพ

ในขณะที่กำลังประกอบพิธีกรรมเขียนผ้ายันต์ จตุคามรามเทพได้บอกกับ พล.ต.ท.สรรเพชญว่า ต้องการให้ออกแบบและสร้างพระพังพระกาฬ ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของพวกศรีวิชัยขึ้นมาเพราะไม่ได้มีการทำมานานนับเป็นพันปีแล้ว พล.ต.ท.สรรเพชญนั่งนึกทบทวนอยู่ชั่วครู่ก็บอกกับจตุคามรามเทพว่า “เคยเห็นพังพระกาฬจริง แต่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ มาขณะนี้เวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้ว ไม่สามารถจำได้ว่ามีรูปร่างลักษณะเป็นเช่นไรและไม่รู้จะไปเอาจากไหน แต่รู้ว่าเป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก อาจห้ามคลื่นลมในมหาสมุทร ช่วยคุ้มครองป้องกันอันตรายและบันดาลให้เกิดความโชคดีได้ รวมทั้งคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรถึงจะได้ไว้เป็นของตน” จตุคามรามเทพตอบกลับมาว่า “ให้อยู่เฉยๆ เดี๋ยวจะมีคนเอามาให้มึงเอง” พล.ต.ท.สรรเพชญถึงกับต้องหัวเราะออกมา เพราะไม่เชื่อว่าจะมีผู้นำสิ่งที่มีค่าหายากและมีราคาแพงมาให้เปล่าๆ ไม่มีทาง จตุคามรามเทพจึงบอกย้ำว่า “ไม่ต้องมาหัวเราะกู เดี๋ยวจะมีคนเอามาให้มึง แต่ให้มึงออกแบบด้านหลังของเหรียญเอาไว้ล่วงหน้าก่อน โดยให้ทำเป็นเหรียญแบบกลมขนาดเท่าเหรียญบาทก็พอ เมื่อมีคนนำมาพังพระกาฬมาให้จะได้ดำเนินการจัดสร้างให้เสร็จรวดเร็ว”


เหรียญพังพระกาฬ รุ่น 1 ปี 2532

อยู่มาวันหนึ่ง...ปาฏิหาริย์แห่งจตุคามรามเทพก็สำแดงออกมา เมื่อนายกำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคนปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเหตุต้องเดินทางมาที่ปากพนัง เนื่องเพราะญาติเสียชีวิต ทีนี้ ตามธรรมเนียมของคนปักษ์ใต้ ในตอนเช้าก่อนที่จะไปทำภารกิจหรือหน้าที่การงานใดๆ จะต้องไปนั่งกินกาแฟกันที่ร้านกาแฟ จากนั้นก็วิพากษ์วิจารณ์เหตุบ้านการเมืองต่างๆ กัน ผู้ว่าฯกำจรก็ไม่ลืมที่จะปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมอันนั้นเช่นกัน ในระหว่างที่ผู้ว่าฯ กำจรกำลังนั่งกินกาแฟก็บังเกิดความรู้สึกหรือมีกระแสมาทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าที่หลังร้านกาแฟมีของศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร จึงได้ตามเข้าไปดูและได้เจอกับชาวประมงมาเที่ยวบอกขายพระองค์ละ 500 บาท ผู้ว่าฯ กำจรก็ถามว่า เป็นพระอะไร ชาวประมงก็ตอบไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าเป็นพระอะไรเหมือนกัน เมื่อไม่ทราบ ผู้ว่าฯ กำจรก็ไม่ได้ซักไซ้ไล่เรียงอะไรต่อ และได้ตัดสินใจควักเงิน 1,000 บาทซื้อมาทั้งสององค์ ซึ่งทั้งสององค์เป็นพระคนละประเภทกัน ในความรู้สึกของผู้ว่าฯ กำจรบอกว่า องค์หนึ่งตัวเองจะเก็บเอาไว้ ส่วนอีกองค์หนึ่งต้องนำไปให้ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้นเพราะได้ยินชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบที่มีความซื่อตรง ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่จะนำไปให้นั้นมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร เมื่อกลับมาถึงบ้าน ผู้ว่าฯ กำจรก็ได้เที่ยวโทรศัพท์หาพรรคพวกเพื่อนฝูงเพื่อสอบถามว่าผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชชื่ออะไรและในที่สุดก็ทราบว่า ชื่อ พ.ต.อ.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล จากนั้นผู้ว่าฯ กำจรก็ได้ประสานงานไปที่สรรพสามิตอำเภอเพื่อนัดแนะ พล.ต.ท.สรรเพชญมาเลี้ยงข้าวสักมื้อ และได้นัดแนะวันเวลากันเป็นที่เรียบร้อย ทว่า เมื่อถึงวันและเวลานัดหมายจริงก็มีเหตุบังเอิญให้ผู้ว่าฯ กำจรต้องติดราชการงานด่วนและต้องเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในทันที จึงได้โทรศัพท์มาหา พล.ต.ท.สรรเพชญเพื่อขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งสอบถามด้วยว่า จะสามารถพบ พล.ต.ท.สรรเพชญได้ที่ไหน ในขณะนั้น พล.ต.ท.สรรเพชญกำลังนั่งทำพิธีอยู่ที่บ้านพักกับจตุคามรามเทพและติดภารกิจสำคัญไม่อาจไปพบผู้ว่าฯ กำจรได้เช่นกัน แต่ก็ได้ตอบกลับไปว่า จริงๆ แล้วเส้นทางที่จะไปสนามบินนั้นต้องผ่านบ้านพักของตนเองอยู่แล้ว เมื่อผู้ว่าฯ กำจรมาถึงก็พบ พล.ต.ท.สรรเพชญกำลังนั่งทำพิธีอยู่ที่พื้น ท่านก็นั่งลงบนเสื่อโดยไม่ได้ถือเนื้อถือตัวแต่ประการใด เสร็จแล้วก็หยิบรูปหล่อลอยองค์พระพังพระกาฬออกมาและยื่นมอบให้ แล้วเรื่องไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เนื่องจากขณะนั้นกำลังทำพิธีและจตุคามรามเทพกำลังประทับทรงพอดีก็ถาม พล.ต.ท.สรรเพชญต่อหน้าทันทีว่า “นี่ใช่ที่มึงต้องการใช่ไหม” อย่างไรก็ตาม นอกจากเหรียญพังพระกาฬเนื้อธรรมดาแล้ว ในครั้งนั้น ยังได้มีการสร้างเป็น “เนื้อทองคำ” เป็นกรณีพิเศษอีกด้วยและไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้เช่าหรือเปิดจำหน่าย แต่สร้างมอบให้กับบุคคลพิเศษเพียงไม่กี่คนเท่านั้น


เหรียญพังพระกาฬ รุ่น 2 ปี 2548

ทว่า ต่อมาในภายหลังมีกลุ่มบุคคลที่คิดทำมาหากิน คิดร่ำคิดรวยได้มีการนำเหรียญต้นแบบไปปั๊มขาย ดังนั้น ผู้ที่คิดจะเช่าเหรียญทองคำพังพระกาฬปี พ.ศ.2532 จึงต้องตระหนักให้ดี รวมกระทั่งถึงเหรียญพังพระกาฬเนื้อนวโลหะที่มีการปลอมโดยบุคคลกลุ่มเดียวกันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งกุข่าวเรื่อง “หนวดสั้น-หนวดยาว” ออกมาหลอกลวงชาวบ้านอีกต่างหาก เพราะความจริงไม่มีเหรียญพังพระกาฬหนวดสั้นหรือหนวดยาว เพราะเหรียญพังพระกาฬมีเพียงแบบเดียว แต่ที่เห็นว่าหนวดสั้นหรือหนวดยาวเป็นผลมาจากการจัดสร้างในขั้นตอนของการปั๊มเหรียญที่ทำให้เกิดเช่นนั้น หลังสร้างพังพระกาฬรุ่นแรกในปี พ.ศ.2532 จตุคามรามเทพก็ได้มาสร้างอีกครั้งในปี พ.ศ.2549


ไปข้างบน