หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ชีวิต...ปลดปล่อย

ภายหลังพ้นจากเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 2 "วิษณุ เครืองาม" ก็ตกอยู่ในภาวะ "ชีพจรลงเท้า"

เกือบตลอดเวลา เขาใช้เวลาช่วงเป็น "คนว่างงาน" หมดไปกับการออกท่องเที่ยวในต่างแดนกว่า 10 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง มาเก๊า ย่างกุ้ง ลาสเวกัส ฯลฯ "วิษณุ" ตะลอนมาหมดแล้ว

แม้แต่ในค่ำคืนแห่งการเคลื่อนกำลังทหารพร้อมรถถังเข้าเมืองหลวง 19 กันยายน 2549 สองศรีพี่น้อง นั่นคือ "วิษณุ" และ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" อดีตเลขาธิการ ครม. ก็ยังเดินช็อปปิ้งอยู่ในเมืองน้ำหอม พร้อมตัดตอนความวุ่นวายทางการเมือง และตัดขาดสิ่งรบกวนทางจิตใจด้วยการปิดโทรศัพท์มือถือ

แต่ประเทศที่ทำให้ "วิษณุ" ถ่องแท้กับคำพังเพยแบบไทยๆ ที่ว่า "คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก" เห็นจะเป็นดินแดนหิมพานต์ ภูฏาน...


ดร.วิษณุ อุ้มหลวงจีนน้อย

ผมตั้งใจไว้ว่าภารกิจสุดท้ายที่จะทำในตำแหน่งทางการเมืองคือ การส่งเสด็จเจ้าชายจิกมี (เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน) ที่เดินทางมาร่วมงานฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2549 จากนั้นจะพักผ่อน ท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ซึ่งในวันที่ผมไปส่งเสด็จ เจ้าชายจิกมีรับสั่งในทำนองชวนให้ผมไปภูฏานสักครั้ง แต่ผมเองยังไม่แน่ใจเพราะยังไม่ได้จัดการเรื่องใบลาออก

"ต่อมาเมื่อผมกลายเป็นคนว่างงาน ครอบครัวของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ได้ชักชวนให้ผมไปภูฏานอีกครั้ง โดยแจ้งให้ทราบว่าสมเด็จย่าของเจ้าชายจิกมี (เจ้าหญิง อาชี เคซัง โชเด็น วังชุก) จะอุปถัมภ์และอำนวยความสะดวกให้ในเรื่องการเดินทางและที่พัก ตอนนั้นผมว่างๆ อยู่ เลยคิดว่าก็น่าจะไปสักหน่อย เพราะถ้าไม่ได้รับการอุปถัมภ์ครั้งนี้คงไปยาก แม้จะมีเงินซื้อทัวร์ไปก็ตาม"

อย่างไรก็ตาม ก่อนออกท่องดินแดนในฝัน "วิษณุ" ได้รับทั้งเสียงเตือนผสมเสียงขู่ ทำให้เกิดอาการลังเลเหมือนกัน

"ตอนนั้นคนพูดกันเยอะเลย ผมยิ่งกลัวๆ เรื่องแบบนี้ด้วย มีคนขู่ว่าที่มันสูงนะ ความกดดันอากาศบาง เดี๋ยวก็หายใจไม่ออกหรอก แถมยังเป็นเขาสลับเหว ต้องไปจนสุดทาง อีกกี่ร้อยกิโลไม่รู้ถึงจะวกกลับมาได้ อาหารการกินก็ลำบาก ส้วมสกปรก เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา มดหมอไม่มีจะยุ่ง ฯลฯ ผมน่ะเคยไปลำบากมาแล้วเมื่อครั้งไปอินเดีย เกือบมีอุบัติเหตุถึงตาย ก็เลยกลัวขึ้นมา แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมคิดว่าน่าจะไปได้โดยไม่ยุ่งยากคือ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ ท่านอายุ 87 ปีแล้ว แต่ก็อยากจะไปอีกหลังเคยไปมาแล้วเมื่อคราว 80 ก็คิดว่าแหม! ท่าน 87 เดินเหินไม่ค่อยสะดวกยังตั้งใจจะไปเลย คงไม่น่าจะลำบากนัก แต่ก็คิดอยู่ในใจว่าถ้ามันเสี่ยงตรงไหน ลำบากตรงไหน เราก็หยุดแค่นั้น ไม่ต้องเสียดาย ไม่ต้องผจญภัยมากนัก"


ประเทศภูฏาน

จึงไม่แปลกอะไรหากชายวัย 55 ปี จะตั้งธง 4 ม. ไปจากบ้านคือ ไม่ขี่ม้า ไม่ขี่ล่อ ไม่ขี่ลา และไม่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เด็ดขาด!!!

ในที่สุดการเดินทางครั้งสำคัญของ "วิษณุ" พร้อมเพื่อนร่วมทริปรวม 11 ชีวิต ก็มาถึงในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549

โดยกิจกรรมแรกที่ลูกทัวร์ทำคือการเยี่ยมชมวิหารวัดกิจู ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าพันปี จากนั้นก็เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ชมเมืองและสถานที่สำคัญ และไม่ลืมแวะช็อปปิ้งตามแบบฉบับ "พี่ไทย"

แต่สิ่งที่ "พ่อครัว ครม." พลาดไม่ได้คือการสรรหาของโปรดและของแปลกใส่กระเพาะ ซึ่งเจ้าตัวยังบ่นเสียดายที่อาหารรสเลิศอย่างเนื้อจามรีมีให้ลิ้มรสน้อยเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่ "วิษณุ" ขอบายคือ การไต่ระดับความสูงขึ้นไปดูสถานที่บำเพ็ญภาวนาขององค์ปัทมสมภพที่เรียกว่า "ตั๊กซัง"

"ทีแรกผมตั้งท่าจะกัดฟันขึ้นไปดู แต่พอไปถึงสถานที่จริง เขาบอกว่าต้องขี่ล่อขึ้นไป แถมขากลับต้องเดินลงมาอีก ผมเลยไม่กล้า ไม่เอา ไม่ลอง ถ้าขี่ล่อไปกลับ ผมคงเอาแล้วละ ที่สำคัญคือลูกชายผม (วิชญะ เครืองาม) ขึ้นไปด้วย ผมเลยคิดว่าอยู่ข้างล่างสักคนดีกว่า ถ้าไป 2 คนเดี๋ยวมีปัญหาขึ้นมาจะลำบาก"

เป็นผลให้คนไม่ใฝ่สูงอย่าง "วิษณุ" ได้แต่ยืนเชียร์อยู่ข้างล่าง


ประเทศภูฏาน

7 วันบนสวรรค์หิมาลัยผ่านไปเร็วเกินคาด แต่ในทุกเช้าที่ลืมตา "ผู้หลบมรสุมการเมือง" บอกว่ารู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจเป็นที่สุด เพราะได้สัมผัสอากาศเย็น มองไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นสนและดอกไม้ และนี่เป็นที่มาของคำว่า "คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก"

"ที่พูดนี่ไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองนะ แต่เป็นนัยยะทางการท่องเที่ยวล้วนๆ พอผมลาออกก็ไม่ได้คับอะไรแล้ว มันคับก่อนจะออก แต่พอออกแล้วไม่คับเลย หลวมมากเพราะไม่ต้องกังวลว่าต้องรีบกลับ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกโทรศัพท์ตามตัว ไม่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ คือไม่สนใจข่าวคราวอะไรทั้งสิ้น และไม่ได้รับการติดต่ออะไรจากใครเลย"

สิ่งที่พอจะสะกิดใจ "วิษณุ" ให้รำลึกความหลังเมื่อครั้งยังมีหัวโขน คือการถูกเรียกขานคำนำหน้าชื่อว่า "ลินโป" ซึ่งชาวภูฏานใช้เรียกข้าราชการระดับสูง

"ทีแรกผมสะกิดใจนะ เพราะไม่รู้แปลว่าอะไร แต่พอรู้แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดา สมเด็จย่าท่านก็เรียกผมว่าลินโป เจ้าชายจิกมีท่านก็เรียกผมว่าลินโป คงเพราะไม่รู้จะเรียกอะไร ก็เหมือนกับในภาษาไทย ทุกวันนี้ยังมีคนเรียกผมว่าท่านรองนายกฯ"

ท้ายที่สุด "วิษณุ" บอกว่าสิ่งที่ประทับใจที่สุดในทริปคือ "การได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายจิกมี เพราะไม่คาดมาก่อนว่าจะได้เฝ้าฯ ท่านพูดคุยกับพวกเราอยู่ตั้ง 2 ชั่วโมง ถามอะไรท่านก็ตอบ บางครั้งท่านก็ถามเราด้วยซ้ำ จึงรู้สึกประทับใจมาก"

ที่สำคัญเป็นการระบายความในพระทัยก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก

เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่ "วิษณุ" ได้จากการท่องดินแดนในฝัน แต่ทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ "ภูฏาน วิมานปลายฟ้า" ของสำนักพิมพ์มติชน

จากหนังสือพิมพ์ "มติชน"


ไปข้างบน