หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

หลายสำนัก – หลากตำนาน จตุคามรามเทพ


พระผงสุริยัน-จันทรา (จตุคามรามเทพ) พิมพ์ใหญ่เนื้อขาว รุ่นแรกปี 2530 (หน้า-หลัง)

“ตำนาน” ของ จตุคามรามเทพ ที่มีการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ขณะนี้ มีเนื้อหาคล้ายๆ กัน โดยอ้างอิงเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้อันเป็นอาณาจักรเก่าแก่มาก่อน

แหล่งที่มาของตำนานจตุคาม บางส่วนมาจาก “ร่างทรง” บางส่วนมาจากกลุ่มผู้จัดสร้างจตุคามฯ ที่นำมาเผยแพร่ต่อ และเพิ่มเติมรายละเอียดลงไป

และนำไปเผยแพร่ในเอกสารการจัดสร้างจตุคามฯ หนังสือ วารสาร นิยตสารที่เกี่ยวกับวัตถุมงคล รวมไปถึงเว็บไซต์ของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างจตุคามฯ


เหรียญองค์จตุคามรุ่นโคตรเศรษฐี (ภาพประกอบข่าวจากอินเตอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวใดๆ ทั้งสิ้น)

ตำนานแรกๆ ของจตุคามฯ มาจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2530 ซึ่งผู้ได้รับมอบหมายเป็นตัวหลักได้แก่ พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช (อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8) พันตำรวจเอกสรรเพชญ ธรรมาธิกุล (ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชขณะนั้น) ในเอกสารการจัดสร้างหลักเมือง ระบุถึงรูปลักษณ์หลักนครศรีธรรมราช 17 ข้อ ระบุถึงจตุคามรามเทพไว้ 2 ข้อ คือ

“........ 9. ลวดลายบัวคว่ำบัวหงาย ประดิษฐ์จากความเชื่อที่ว่า องค์จตุคามรามเทพปฐมกษัตริย์ชาวศรีวิชัยได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมของพระพุทธศาสนา หยั่งถึงความดีความชั่วอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จึงศรัทธาเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มุ่งหวังให้ชาวศรีวิชัยทุกรูปทุกนามได้รับแสงแห่งพระรัตนตรัย จึงอุทิศทรัพย์ศฤงคารทั้งปวงสร้างพระธาตุเพื่อเป็นพุทธบูชา ปราบปรามเหล่าจัณฑาลชั่วช้ามิให้ก่อความเดือดร้อนในแผ่นดิน แผ่บรมเดชานุภาพไปทั่วทะเลใต้ มีบุญฤทธิ์ อิทธิอภินิหารยิ่งใหญ่จนได้รับสมญาว่าพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้ทรงขจัดความมืดมัวในโลกดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งส่องชี้ให้เห็นความดีความชั่วทั้งปวง ผู้ใดกระทำความดีก็จะได้รับผลดีตอบสนอง ผู้ใดกระทำความชั่วก็จะถึงการวิบัติพินาศไปในที่สุด”

และ “... 10. ลวดลายน่องสิงห์ (ลายที่ 2) ประดิษฐ์จากความเชื่อที่ว่า ความดีความชั่วเป็นสิ่งสามัญที่เกิดขึ้นควบคู่กับมนุษย์ แม้ว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา บิดามารดา ครูบาอาจารย์ จะได้อบรมสั่งสอน ปลูกฝังขัดเกลาให้ละเว้นจากความชั่วร้ายทั้งปวง ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์สุขแก่สังคม แต่ยังมีบรรดาเหล่าทรชนผู้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ เหมือนกับสุนัขพึงใจกับอาจม เมื่อมีการสถาปนาหลักเมืองขึ้นแล้ว องค์ราชันจตุคามรามเทพจะสำแดงเทวอำนาจให้ปรากฏแก่ชาวเมือง จะควบคุมความเป็นไปของบ้านเมืองให้ดำเนินไปตามทำนองคลองธรรม ส่งเสริมผู้กระทำความดี และล้างผลาญทำลายผู้ก่อกรรมทำชั่ว”


พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล

นอกจากนี้ พลตำรวจโทสรรเพชญ ยังให้คำอธิบายไว้ด้วยว่า เทวดารักษาเมืองหรือเทพประจำหลักเมือง หรือเจ้าพ่อหลักเมืองนครศรีธรรมราช คือ “จตุคามรามเทพ” หรือ “จันทรภาณุ” ผู้ซึ่ง “ตั้งดินตั้งฟ้า” สถาปนา “กรุงศรีธรรมโศก” ศูนย์กลางแห่ง ศรีวิชัย

และบรรยายไว้ว่า ตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน หากผู้ใดตั้งปณิธานแน่วแน่ อุทิศตนขจัดความทุกข์ยากของมนุษย์ มุ่งบำเพ็ญบารมี 6 ประการ ผู้นั้นจะบรรลุความเป็นมนุษย์โพธิสัตว์หรือคฤหโพธิสัตว์ หากพากเพียรสร้างบารมีขั้นสูงอีก 4 ประการ จะสำเร็จเป็นเทวโพธิสัตว์ทรงฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ องค์จตุคามรามเทพ บำเพ็ญบารมีถึงพรหมโพธิสัตว์ จึงทรงอานุภาพยิ่งใหญ่จนได้รับนามาภิไธยราชฐานันดรว่า “จันทรภาณุ” ผู้มีอำนาจดั่งพระอาทิตย์และพระจันทร์ ถืออาญาสิทธิ์รูปราหูอมจันทร์ และวัฏจักร 12 นักษัตร เป็นสัญลักษณ์ อันเป็นตราประจำเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน

จตุคามรามเทพ กับ ทหารกล้า 4 คน ได้ปราบพวกพราหมณ์ที่ปกครองเมืองตามพรลิงค์อยู่ก่อน เมื่อได้บ้านเมืองแล้ว ได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ สถาปนาเมือง 12 นักษัตร หรือ กรุงศรีธรรมโศก ฝังรากฐานพระพุทธศาสนาอย่างถาวรจนได้รับการเทิดพระเกียรติว่า “พญาศรีธรรมาโศกราช”


บันไดทางขึ้นวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุฯ

ภายหลังเป็นเทวดารักษาเมือง สถิตอยู่ ณ รูปจำหลักที่บานประตูไม้ทั้ง 2 ที่ทางขึ้นลานประทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เมื่อสร้างหลักเมืองแล้วได้อัญเชิญมาสถิต ณ เสาหลักเมืองที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ องค์จตุคามรามเทพและบริวารได้มาประทับทรง หรือ “ผ่านร่าง” มาบอกให้สร้างหลักเมือง แก้อาถรรพ์ดวงเมืองที่พวกพราหมณ์ได้ฝังไว้ทำให้บ้านเมืองไม่ปกติสุข

อีกตำนานหนึ่ง ที่แพร่หลายไม่แพ้กัน คือ ตำนานจตุคามรามเทพ ซึ่งอธิบายว่า จตุคามรามเทพ เป็นเทพ 2 องค์ คือ ท้าวจตุคาม กับ ท้าวรามเทพ

ระบุว่า กษัตริย์ผู้ปกครองสุวรรณภูมิ (ดินแดนนับตั้งแต่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เรื่อยลงมาจนสุดแหลมมลายู) คือ พระเจ้าจันทรภาณุ มีพระบารมีบุญญาธิการมาก ได้แผ่อำนาจขยายอาณาเขตออกไปถึงประเทศอินเดีย ยึดประเทศอินเดียได้ และอยู่ปกครองอินเดียจนกลายเป็นมหาราชของอินเดีย ไม่ยอมกลับมายังสุวรรณภูมิเป็นเวลากว่า 20 ปี

ขุนอินทรไศเลนทร์ และ ขุนอินทรเขาเขียว โอรส 2 พี่น้องของ พระเจ้าจันทรภาณุ เห็นบ้านเมืองทรุดโทรม จะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระบิดาก็ไม่ได้ จึงร่วมกันย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองช้างค่อมศิริธัมมาราช เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ศรีวิชัยสุวรรณภูมิ ในปี พ.ศ. 1040


ท้าวจตุคาม

ในฐานะที่ทั้ง 2 พระองค์ เป็นปฐมกษัตริย์ของเมืองศรีวิชัยสุวรรณภูมิ ได้สร้างขยายเมืองและซ่อมแซมบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ที่เริ่มทรุดโทรมลงเป็นครั้งแรก ร่วมกับชาวชวาและชนพื้นเมือง หลังจากที่สิ้นพระชนม์ ประชาชนทั้งหลายจึงยกย่องให้เป็นเสื้อเมืองและทรงเมือง มีฐานะเป็นเทวดาประจำเมือง และเรียกพระนามของท่านทั้ง 2 ว่า “ท้าวจตุคาม และ ท้าวรามเทพ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ท้าวรามเทพ

ส่วนตำนานที่เผยแพร่จากกลุ่มนักจัดสร้างวัตถุมงคลพุทไธศวรรค์ กล่าวถึงประวัติจตุคามรามเทพว่า

จตุคามรามเทพ คือ เทพรักษาพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราชสถิตอยู่ที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาใหม่ จึงมีการอัญเชิญจตุคามรามเทพไปสถิต ณ ที่นั้นเป็นต้นมา เชื่อกันว่าเดิม องค์จตุคามรามเทพ เป็นกษัตริย์ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย มีพระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นกษัตริย์ที่สถาปนาอาณาจักรศรีวิชัย เป็นปฐมกษัตริย์ของ ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เชื่อว่ามีพระวรกายเป็นสีเข้ม เป็นกษัตริย์นักรบที่แกร่งกล้าเมื่อสถาปนาอาณาจักรศรีวิชัย ได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงได้สมัญญานามว่า “ราชันดำแห่งทะเลใต้” หรือมีอีกราชสมัญญานามหนึ่งว่า “พญาพังพกาฬ” และต่อมาทรงบำเพ็ญบุญเพื่อสร้างบารมีอธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มนุษย์ทั้งปวง

จตุคามรามเทพ มีบริวารเป็นทหารกล้า 4 นาย คือ พญาชิงชัย, พญาหลวงเมือง, พญาสุขุม และ พญาโหรา เป็นกำลังหลักในการปราบพราหมณ์ที่เคยปกครองเมืองอยู่ก่อน เมื่อได้บ้านเมืองแล้วก็ได้สร้างพระบรมธาตุสถาปนาเมือง 12 นักษัตร หรือ กรุงศรีธรรมาโศกราช ฝังรากฐานพระพุทธศาสนาอย่างถาวรจนได้รับเทิดพระเกียรติว่า พญาศรีธรรมาโศกราช หรือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช


เหรียญองค์จตุคาม (ภาพประกอบข่าวจากอินเตอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวใดๆ ทั้งสิ้น)

และ อีกตำนานหนึ่ง มาจากกลุ่มผู้สร้าง จตุคามรามเทพ รุ่น “บารมีพระบรมธาตุ 20 ปี หลักเมือง” ซึ่งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช และศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี โดย พระใบฎีกาปรานพ หรือ หลวงหนุ่ย วัดคอหงษ์ หาดใหญ่ เป็นองค์อุปถัมภ์และเจ้าพิธี

ประวัติ จตุคามรามเทพ สรุปใจความได้ว่า ตำนานนี้อ้างถึง “ตรรกวิทยาของชาวชวากะ” ที่เรียกว่า จตุคามศาสตร์

โดยเชื่อกันว่า นางพญาจันทรา ราชินีผู้สูงศักดิ์ของ องค์ราชันราตะ หรือ พระสุริยเทพ ซึ่งรวบรวมดินแดนในคาบสมุทรทองคำเข้าเป็นจักรวรรดิเดียวกันในพุทธศตวรรษ ที่ 7 ทรงอิทธิฤทธิ์บังคับคลื่นลมร้ายให้สงบได้ ชาวทะเลทั้งหลายกราบไหว้รำลึกถึง เมื่อออกกลางทะเล เรียกกันว่า แม่ย่านาง ชาวศรีวิชัยให้ความเคารพนับถือเทิดทูน

นางพญาจันทรา มีโอรสชื่อ เจ้าชายรามเทพ ได้ศึกษาเล่าเรียนจตุคามศาสตร์ จากพระราชมารดาจนเจนจบ ทรงเลื่อมใสศรัทธาพุทธนิกายมหายาน มุ่งหน้าสร้างบารมี หวังตรัสรู้เป็นพระ

ทรงสร้างราชนาวีหรือกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ เยือนถึงน่านน้ำใด ก็ประดิษฐานหลักศาสนามั่นคง ณ ดินแดนนั้น เหล่าราชครูต่างถวายนามาภิไธย ว่า องค์ราชันจตุคามรามเทพ

และสร้างมหาสถูปเจดีย์ขึ้นที่หาดทรายแก้ว และในปลายพุทธศตวรรษที่ 8 ทรงมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วทวีป ได้รับยกย่องอีกฉายาว่าเป็นพญาพังพกาฬ

พญาโหรา บรมครูช่างชาวชวากะ ได้จำลองรูปพระองค์ ทรงเครื่องราชขัตติยาภรณ์ สี่กร สองเศียร พรั่งพร้อมด้วยเทพศาสตราวุธ เพื่อปกป้องอาณาจักรและพุทธจักร เพื่อเป็นคติธรรมและศิลปกรรม ประดิษฐานในทุกหนแห่งในอาณาจักรทะเลใต้ ลูกหลานในราชวงศ์ไศเลนทร์ชั้นหลังได้ปั้นแปลงร่างพระองค์เป็น นารายณ์บรรทมสินธุ์บ้าง อวตารปราบอสูรบ้าง ตามค่านิยมของท้องถิ่น


จตุคามรามเทพองค์ใหญ่

ส่วนตำนานจตุคามรามเทพ จากเว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่นิยมอ้างอิงถึง ระบุว่า เทวรูปจตุคามรามเทพ คือ เทพรักษาพระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช สถิตอยู่บนที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ

ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ จึงมีการอัญเชิญจตุคามรามเทพไปสถิต ณ ที่นั้นเป็นต้นมา

เชื่อกันว่าเดิม องค์จตุคามรามเทพ เป็นกษัตริย์ในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช มีพระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เชื่อว่ามีพระวรกายเป็นสีเข้ม เป็นกษัตริย์นักรบที่แกร่งกล้า เมื่อสถาปนาอาณาจักรศรีวิชัยได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงได้สมัญญานามว่า " ราชันดำแห่งทะเลใต้ " หรือมีอีกราชสมัญญานามนึงว่า " พญาพังพกาฬ " และต่อมาทรงบำเพ็ญบุญเพื่อสร้างบารมีอธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มนุษย์ทั้งปวง

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของ ตำนานและเรื่องเล่า ว่าด้วยที่มาของจตุคามรามเทพของแต่ละสำนัก แต่ละกลุ่มจัดสร้าง ซึ่งจะพบว่ายังมีความแตกต่างกัน

แต่ผู้ที่เคารพศรัทธาจตุคามรามเทพ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก

และเชื่อถือศรัทธากันว่า จตุคามรามเทพ เป็นเทพยดา ที่เป็นอดีตกษัตริย์ซึ่งบำเพ็ญธรรมในสมัยอาณาจักรโบราณ

และเมื่อผ่านพิธีกรรม โดยผู้ที่ได้รับความเชื่อถือในทางไสยศาสตร์และวิทยาคมอย่างขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือผู้สืบทอด

ก็ทำให้จตุคามรามเทพมีตัวตนเด่นชัด และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน


ไปข้างบน