หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ขอบคุณความทุกข์


คุณจะทำอย่างไร หากเกิดพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง?

ถึงคุณจะไม่มีครอบครัวที่ต้องห่วงใย และทั้ง ๆ ที่ผ่านโลกมามากแล้ว คุณคงอดเสียววูบไม่ได้ เพราะแม้วิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่จนถึงวันนี้ คำว่า “มะเร็ง” ก็ยังเป็นเสมือนคำตัดสินประหารชีวิต โดยจะมีประกาศอภัยโทษมาช่วยชีวิตไว้หรือไม่ก็ยังไม่แน่ !

มะเร็งคือเคราะห์กรรมสำหรับหลายต่อหลายคน แต่ในชีวิตของคนบางคน มะเร็งเป็นเหตุชักนำให้พบกับความสุขและอิสระอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน

เมื่อแรกที่พบว่าตนเป็นมะเร็ง นักธุรกิจชื่อดังระดับหมื่นล้านนึกเป็นห่วงกิจการโรงแรมของตนขึ้นมาทันที คิดแต่ว่าเมื่อไรถึงจะหายจะได้กลับไปทำงานต่อ แต่หลังจากนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลได้ไม่กี่อาทิตย์ ก็ตัดสินใจขายโรงแรมชั้นแนวหน้าของตน

หกเดือนต่อมา แทนที่จะขายเพียงโรงแรมเดียวเขากลับตัดสินใจขายโรงแรมในเครือเกือบทั้งหมด ทั้งๆ ที่กำลังทำเงินทำทอง คงเหลือโรงแรมเล็กๆ อยู่เพียงหนึ่งแห่งเพื่อเป็นเครื่องประกอบอาชีพ


กิจการโรงแรม

ไม่ใช่เป็นเพราะหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตแล้วเขาจึงขายกิจการซึ่งได้สร้างชื่อเสียงและความมั่งคั่งให้แก่ตนเองมาโดยตลอด ตรงกันข้าม การได้พบกับความหมายของชีวิตต่างหาก ทำให้เขาทำเช่นนั้น มะเร็งทำให้เขาตระหนักถึงสัจธรรมชีวิตว่า “รวยแค่ไหน ตายไปก็เอาไปไม่ได้”

และที่ขำไม่ออกก็คือ แม้จะยังไม่ตาย ก็ใช่ว่าจะมีเวลาใช้เงิน ความเจ็บป่วยทำให้เขาหยุดคิด แล้วในที่สุดก็พบว่า ที่แล้วมา ชีวิตมีแต่เงิน แต่ไม่มีความสุข ถ้าเช่นนั้นจะตั้งหน้าตั้งตาหาเงินไปทำไม? “พอดีกว่าว่ะ” คือคำตอบของเขา

ถึงวันนี้เขามีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาทำสวน เล่นกีฬา และอ่านหนังสือที่ชอบ “ตัวกู ของกู” งานนิพนธ์ของท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เขามีโอกาสอ่านอย่างจริงจังระหว่างพักฟื้น และทำให้เขารู้ซึ้งถึงคำว่า “พอแล้ว” จนตัดสินใจขายกิจการไปเกือบหมด

จะเรียกว่านักธุรกิจผู้นี้ “โชคดี” ที่รอดพ้นจากโรคร้ายก็ได้ แต่ “โชค” ดังกล่าวย่อมมิใช่ความบังเอิญอย่างแน่นอน และคงมิใช่เพราะเขามีเงินมากพอที่จะทุ่มเทให้กับการบำบัดรักษาด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค เศรษฐีหลายคนแม้จะมีทรัพย์สินมหาศาล แต่ก็ยังถูกมะเร็งเกาะกินจนถึงแก่ชีวิต ขณะที่บางคนสามารถหายจากโรคดังกล่าวได้โดยไม่ได้ใช้เงินทองมากมายแต่อย่างใด

การวางจิตวางใจได้อย่างพอดีเป็นส่วนผสมที่เจือปนอยู่ใน “โชค” ดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย และอาจเป็นส่วนผสมสำคัญเลยก็ได้ ความหมดอาลัยตายอยากมีแต่จะทำให้โรคร้ายลุกลามไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าประมาทหลงระเริงก็ใช่ว่าจะรอด

สิ่งที่ชีวิตต้องการในยามนี้ก็คือการรู้จักปล่อยวาง เข้าถึงความสุขที่มีให้สัมผัสได้ในทุกขณะแห่งปัจจุบัน โดยไม่ต้องกังวลถึงอนาคตไมว่าจะเป็นความตายหรือการล้มละลายของกิจการ

แต่ขณะเดียวกันก็ขวนขวายเอาใจใส่สุขภาพ หาทางบำบัดรักษาเต็มกำลังความสามารถ พร้อมกันนั้นก็รู้จักประมาณโดยไม่ละทิ้งงานการที่เกื้อกูลต่อชีวิต

แต่การปล่อยวางโดยไม่วางเฉยนั้นใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ (จะว่าไปแล้ว เป็นเพราะไม่รู้จักปล่อยวางใช่ไหม จึงโดนคุกคามด้วยโรคร้ายนานาชนิดและทุกข์ภัยนานาประการ)

ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับคนเป็นอันมาก โรคร้ายและทุกข์ภัยทั้งหลายจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยกระตุกให้เขาหายมัวเมาเคล้าคลุกกับสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารของชีวิต ตราบใดที่ชีวิตยังเป็นไปอย่างที่เคยเป็น เราก็ยังคงสาละวนอยู่กับกิจวัตรประจำวัน แม้นั่นจะหมายถึงการตื่นตี 4 ไปทำงานเพื่อจะโผเผกลับมาตอนสี่ทุ่ม

นอกจากโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์มิคาดฝันแล้ว มีอะไรอีกเล่าที่จะดึงเราให้หลุดจากกิจวัตรอันติดพัวพัน จนมีเวลาที่จะได้คิดและทบทวนวิถีชีวิตที่ผ่านมาว่า เราเป็นบ้าเป็นหลังไปแค่ไหนแล้ว

โรคร้ายและทุกข์ภัยจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึงเคราะห์กรรมที่ย่ำยีชีวิตเสมอไป มันอาจหมายถึงแรงผลักดันให้ชีวิตหันเหสู่วิถีที่ดีงาม ประดุจลูกคลื่นที่ซัดเราเข้าสู่ฝั่งอย่างไม่คาดฝัน หลังจากที่ดำผุดำโผล่อยู่กลางทะเลมาช้านาน ถึงตอนนั้นเราย่อมอดไม่ได้ที่จะขอบคุณเคราะห์กรรมดังกล่าว เช่นเดียวกับที่นักธุรกิจขอบคุณโรงมะเร็งจนทุกวันนี้

แม้มะเร็งจะมีคุณ แต่เราคงไม่ต้องรอให้มะเร็งเกิดขึ้นกับเราเสียก่อน ถึงจะเริ่มสอดส่ายหาว่ามันมีอานิสงส์ที่ตรงไหน หากเราวางใจถูกต้อง ประโยชน์จากความทุกข์ก็ย่อมมีให้เก็บเกี่ยวไม่รู้จบ

เพราะความทุกข์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถึงไม่ทุกข์เพราะมะเร็ง ก็ต้องทุกข์เพราะเรื่องอื่น แม้แต่เรื่องจิ๊บจ๊อย เช่น มีสิวผุดขึ้นบนใบหน้า

แต่ถ้าเราย้อนกลับมามองตนเอง โดยไม่เพียงแต่รู้ว่านึกคิดและทำอะไรเท่านั้น หากยังเห็นลึกลงไปจนตระหนักว่าทำไมจึงมีอาการเช่นนั้น นั่นก็แสดงว่าเรากำลังเก็บเกี่ยวคุณประโยชน์อีกด้านหนึ่งของความทุกข์ในชีวิตประจำวันแล้ว คุณประโยชน์นั้นมีชื่อว่า “การรู้จักตนเอง”

ถ้าเรารู้จักตนเองดีพอก็จะประจักษ์แก่ใจว่า เราแต่ละคนมีความยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับความทุกข์นานาชนิดได้ ไม่ว่าทางการหรือทางจิตใจ

เมื่อเจออากาศหนาว แรกๆ ก็รู้สึกเป็นทุกข์ แต่นานไปก็กลับเป็นปกติ

ขั้วโลกเหนือแม้จะหนาวยะเยือกเพียงใด ก็ยังมีผู้คนอาศัย ทะเลทรายถึงจะร้อนปานใดก็ยังเป็นสวรรค์ของคนที่นั่น ยามพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน มีใครเล่าที่ไม่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ยามผู้เป็นที่รักลาลับไป ใครบ้างที่ไม่ทุกข์ระทม แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทุกคนก็กลับยิ้มได้ โลกกลับสดใสอีกครา

อย่างไรก็ตาม มีความทุกข์หลายอย่างที่ทิ้งรอยไว้ในชีวิตจิตใจของเรา แต่จะเป็น “รอยแผลเป็น” หรือ “รอยประทับ” ที่ตราตรึงใจนั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเองมากกว่าตัวความทุกข์ที่มาเยือน

ไม่นานหลังจากการประกาศข่าวขายโรงแรมของนักธุรกิจชื่อดังผู้นั้น ก็มีข่าวการฆ่าตัวตายของนักธุรกิจระดับหมื่นล้านอีกผู้หนึ่ง สาเหตุก็คือหนี้สินรุมเร้า

คนแรกเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดเพราะมะเร็งโดยมีธุรกิจหมื่นล้านเป็นเดิมพันสมทบ ส่วนคนที่สองปลิดชีวิตของตนเพราะภาวะล้มละลายกำลังรออยู่เบื้องหน้า

ทั้ง 2 คนต่างต้องพรากจากกิจการที่ผูกพันมาเกือบตลอดชีวิต แต่วิธีการและแรงจูงใจนั้นต่างกันเกือบตรงข้าม

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราแต่ละคนมักจะคล้ายคลึงกัน แต่ผลสุดท้ายมิได้เหมือนกันเสมอไป ทั้งนี้ก็เพราะท่าทีหรือปฏิกิริยาต่อความทุกข์ของแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกัน

น่าคิดว่าเราจะมีมุมมองอย่างไรหากวันดีคืนดีเกิดเป็นโรคร้ายที่นานๆ จะเป็นกันสักคน จะเรียกโรคนี้ว่าโรค Lou Gehrig หรือ amyotrophic lateral sclerosis ก็แล้วแต่ ข้อนั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ เป็นแล้วไม่มียารักษาหาย มีแต่จะทำให้ตายอย่างช้าๆ

โรคนี้ทำลายเซลประสาทในไขสันหลังและสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อประเภทที่บังคับได้ คนที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ นั่นหมายความว่านอกจากจะเดินไม่ได้แล้ว ยังพูดไม่ได้ กลืนกินได้ลำบาก แม้แต่ภาษาใบ้ก็ใช้ไม่ได้ มีแต่ความคิดเท่านั้นที่ยังทำงานได้

ชีวิตที่ถูกโรคร้ายดังกล่าวรุมเร้า จะมีความหมายอะไร? หลายคนอาจเลือกที่จะตายให้รู้แล้วรู้รอดไป

แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง สตีเฟน ฮอคิง โรคดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งงานคิดงานเขียนทางด้านทฤษฎีเอกภพที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคปัจจุบัน จะเป็นรองก็แต่ไอน์สไตน์

ในขณะที่เขาเคลื่อนตัวไม่ได้แม้แต่นิ้วเดียว แต่ความคิดของเขาแล่นไปไกลถึงสุดจักรวาล ทั้ง ๆ ที่จับปากกาหรือกดแป้นพิมพ์ไม่ได้ แต่หนังสือของเขากลับกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ติดอันดับหนังสือขายดีในสหรัฐและอังกฤษติดต่อกันเป็นปี

ในสายตาของคนภายนอก เขาคือคนป่วยที่ชะตาชีวิตถูกกำหนดไว้แล้ว แต่สำหรับตัว สตีเฟน ฮอคิง เอง เขาคือคนปกติที่โรคร้ายทำอะไรแทบไม่ได้ แทนที่จะตายภายใน 2-3 ปี เขากลับมีชีวิตยืนนานกว่าเพื่อนหลายคนที่มีร่างกายปกติเสียอีก

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ความจริงอีกครึ่งหนึ่งก็คือ เป็นเพราะโรคนี้เอง สตีเฟน ฮอคิง จึงกลายเป็นคนของโลก แทนที่จะเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่ชอบเล่นมากกว่าเรียน อันเป็นบุคลิกของเขาก่อนจะเป็นโรค ต่อเมื่อความตายส่งสัญญาณเพรียกหาแล้วนั่นเอง เขาจึงได้คิดว่ามีสิ่งดีงามหลายอย่างที่เขาสามารถทำได้ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำเสียที นั่นคือจุดเปลี่ยนชีวิตของหนุ่มวัย 21 เมื่อ 35 ปีที่แล้ว

สำหรับคนที่คิดว่าความทุกข์ของตนนั้นยิ่งใหญ่นัก บางทีการนึกถึงเคราะห์กรรมของคนอย่าง สตีเฟน ฮอคิง อาจทำให้ตระหนักว่าแท้ที่จริงความทุกข์ของตนยังเล็กน้อยมาก

จะว่าไปแล้ว มุมมองเช่นนี้แหละที่ทำให้ สตีเฟน ฮอคิง ประคองใจผ่านโรคร้ายนี้มาได้ เมื่อเขาเห็นเด็กบนเตียงตรงข้ามตายด้วยโรคลิวคีเมีย

สิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจก็คือ ความรู้สึกว่ายังมีอีกหลายคนที่ลำบากกว่าเขามาก “เมื่อใดก็ตามที่ผมรู้สึกสงสารตัวเอง ผมจะนึกถึงเด็กคนนั้น”


ไปข้างบน