หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช
การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา
เชิญชม การ์ตูนแอนนิเมชั่น  เสี้ยวลิ้มยี่  (The Legend of Shaolin Kung Fu)
เชิญชม VDO น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
เชิญชม ประวัติศาสตร์การเมือง ตอน ปิดตำนานทักษิณ
เจ้าแม่กวนอิม
ชมตัวอย่างภาพยนตร์,หนัง
ฐานิยปูชา ๒๕๕๔
ฐานิยปูชา ๒๕๕๒
ฐานิยปูชา ๒๕๕๑
คลังเก็บรูปภาพ

ตามรอยทำบุญ 9 มหามงคลสถาน ประสาทพรรับปีกระต่ายทอง


ตรุษจีนทำบุญที่ไหนกันดี?

ถ้าคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ต้องนึกถึงเยาวราชเป็นแห่งแรก

และถ้าจะกล่าวถึงสักการะสถานแบบจีน คนส่วนใหญ่มักนึกถึง “วัดมังกรกมลาวาศ” หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่” วัดพุทธนิกายจีนที่เก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอันดับแรก ทั้งที่เยาวราชซึ่งอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์นั้น มีวัด ศาลเจ้าและมงคลสถานมากมาย โดยเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีถึง 22 แห่ง อีกทั้งบริเวณละแวกใกล้เคียงก็มีวัดและศาลเจ้าให้เข้าไปสักการะทำบุญให้อิ่มบุญกันอีกมากมาย ซึ่งแต่ละสถานที่ก็ล้วนมีความเก่าแก่อายุหลายร้อยปี มุมจีนจึงขอนำเสนอวัดและศาลเจ้าอื่นๆ อีก เพื่อประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้อ่านที่กำลังเตรียมหาศาสนสถานพาครอบครัวไปทำบุญและขอพรรับตรุษจีนปีเถาะปีนี้กัน


บน - “พระสุโขทัยไตรมิตร” พระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ล่าง - วัดไตรมิตร

1. วัดไตรมิตรวิทยาราม

วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ตามหลักฐานการขอพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงปี พ.ศ.2499 ระบุว่า สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาราวปี พ.ศ.2374 เดิมชื่อ “วัดสามจีนใต้” เนื่องจากมีชาวจีน ซึ่งเป็นมิตรสหายรักใคร่กัน 3 คน ร่วมแรงกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานที่บำเพ็ญกุศล

ภายในวัดไตรมิตรเป็นที่ประดิษฐานของ “พระสุโขทัยไตรมิตร” พระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หล่อโลหะปิดทอง ที่มีส่วนผสมของทองคำสูงมาก เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40 % พระพักตร์มีเนื้อทอง 80 % ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ 99.99 % ตัวองค์พระสูง 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว (3.98 เมตร) หน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว (3.13 เมตร) มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก ทองคำส่งประกายเหลืองอร่ามทั่วทั้งองค์

ก่อนจะมาเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์เหลืองอร่ามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เดิมทีพระสุโขทัยไตรมิตรถูกโบกด้วยปูนทั่วทั้งองค์ ซึ่งสันนิษฐานว่าการโบกปูนหุ้มองค์พระนี้น่าจะทำกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อป้องกันข้าศึกที่หวังเผาลอกเอาทองไป

พระสุโขทัยไตรมิตรเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกร เขตยานนาวา กรุงเทพฯ มาก่อน

กระทั่งเมื่อครั้งที่วัดพระยาไกรมีสภาพเป็นวัดร้าง และที่ดินของวัดถูกให้เช่าเป็นสถานที่ทำโรงเลื่อยจักร จึงได้มีการอัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรไปประดิษฐานไว้ ณ วัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อปีพ.ศ. 2478 โดยในขณะที่ทำการอัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรขึ้นประดิษฐานในพระวิหารนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อปูนที่หุ้มองค์พระอยู่ได้เกิดกะเทาะล่อนออกมา เผยให้เห็นถึงเนื้อในที่องค์พระพุทธรูปด้านในเป็นทองคำส่องประกายเหลืองทองอร่ามทั่วทั้งองค์ มีลักษณะที่งดงามและสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ซึ่งเป็นนามของพระพุทธรูปทองคำที่ปรากฏอยู่ในจารึกของพญาลิไทสมัยสุโขทัย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปองค์นี้นั่นเอง

จากประวัติอันยืดยาวข้างต้น ปัจจุบันนี้ “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก และเพราะทำเลที่ตั้งของวัดไตรมิตรอยู่ใกล้กับเยาวราช ในช่วงตรุษจีนของทุกปีจึงเต็มไปด้วยชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนแห่แหนกันมาไหว้พระทำบุญที่นี่

“นอกจากนี้ทางวัดยังมีแจกข้าวต้มฟรีให้กับผู้ที่มาไหว้พระ ตลอดจนประชาชนที่ผ่านไปมาบริเวณงานอีกด้วย”

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “เปิดทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่วันที่ 3 - 4 ก.พ.”

สถานที่ตั้ง : ถนนเจริญกรุง เชื่อมกับถนนเยาวราช ตรงข้ามซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ

*ก่อนที่จะไปเยือนสถานที่ลำดับต่อไป ปวงชนชาวไทยเชื้อสายจีนก็ไม่ควรพลาดเข้าร่วมกิจกรรมรับความเป็นมงคลให้กับชีวิตในบริเวณ “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา” ซึ่งมีการจัดงาน “เทศกาลตรุษจีนไชน่าทาวน์เยาวราช 80 พรรษา มหาราชัน” ตั้งแต่วันที่ 3-4 ก.พ.นี้ตลอดถนนเยาวราชจนถึงแยกราชวงศ์


โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ

2. โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ

โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ หรือ ที่ชาวจีนทั่วไปรู้จักกันในนาม “เทียนฮั้วอุยอี้” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2446 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพ่อค้าชาวจีนและประชาชนทั่วไปร่วมสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลเพื่อเยียวยารักษาชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามายังประเทศไทย ด้วยการรักษาแบบแพทย์แผนจีน มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ 2 งาน 49 ตารางวา สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2448 และได้เพิ่มบริการด้านแพทย์แผนปัจจุบัน ห้องเอ็กซเรย์ ห้องแล็ป ห้องรักษาฟันในเวลาต่อมา

ภายหลังมูลนิธิได้อัญเชิญสมเด็จพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (เจ้าแม่กวนอิม) ซึ่งเป็นไม้จันทน์แกะสลักจากประเทศจีน มาประดิษฐานเป็นที่เคารพสักการะทางใจสำหรับผู้ป่วย ตั้งบริเวณด้านหน้าของโรงพยาบาล จวบจนทุกวันนี้ประชาชนผู้เปี่ยมด้วยใจศรัทธายังคงเดินทางมาสักการบูชาและขอพรองค์เจ้าแม่กวนอิมไม่ขาด

“ที่นี่ไม่ใช่ศาลเจ้า หลายคนเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น อย่างที่ประเทศจีนส่วนที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเป็นส่วนหนึ่ง และส่วนที่จะไหว้คือพวกควันธูปทั้งหลายจะอยู่นอกปริมณฑลของท่าน คนจีนเรียกว่า “ไป๊เต๊ง” คือศาลไหว้ และตรงส่วนนี้เรียกว่าที่ประดิษฐาน ซึ่งอยู่ภายในบริเวณโรงพยาบาลเทียนฟ้า ที่เราเห็นชัดก็เพราะว่าตึกเก่าถูกทุบทิ้งไป เพื่อให้รับกับหลายๆ ด้าน เพราะส่วนที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ เป็นส่วนกลางของมังกร”


สักการะองค์เจ้าแม่กวนอิม

สำหรับในช่วงตรุษจีนนี้ โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิก็เป็นสถานที่ยอดนิยมอันดับต้นๆ ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะมาสักการะขอพร ซึ่งในแต่ละปีก็มีประชาชนจำนวนมากที่หลั่งไหลมาทั้งจากบริเวณใกล้เคียงและทีอื่นๆ ทั่วประเทศ

“ในศาลไม่มีจัดงานนะ มีแต่ข้างนอก เพราะแถวนี้คนจีนเยอะอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะออกมาไหว้พระกัน ตรุษจีนคนเยอะนะ แต่เป็นแบบทยอยๆกันมา เพราะแถวนี้ก็มีหลายวัด ส่วนใหญ่ที่มาก็เพื่อมาขอพร จะมีพิเศษก็ตรงที่สมเด็จพระเทพฯท่านเสด็จมา” ผู้ดูแลศาลเจ้ากล่าว

คนส่วนมากที่มาเยือนนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะมีทุกข์เสมอไป บางรายมาด้วยความเคารพเลื่อมใสก็มี ทั้งนี้ส่วนมากคนที่มาก็จะขอพรในเรื่องทั่วๆ ไปไม่เฉพาะเจาะจงนัก

“วัยรุ่นส่วนมากจะมาบนบ้าง ขอให้เอ็นท์ติดบ้าง การขอพรจะเป็นแบบกว้างๆ ถ้าคนมีอายุก็จะขอเรื่องลูกหลาน ครอบครัวและการค้า เพราะคนแถวนี้ส่วนใหญ่ทำการค้า บางคนไม่มีลูกมาขอลูกกับท่านก็มี บางคนมาไหว้แล้วขอน้ำมนต์ เช่นพ่อแม่ไม่สบาย เพราะที่นี่มีน้ำมนต์ ที่ผ่านการปลุกเสกมาครั้งหนึ่ง เมื่อตักแล้วก็นำไปขอพรท่าน แล้วจึงนำกลับบ้าน เพื่อให้มีกำลังใจ”

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “ช่วงตรุษจีนเปิดตลอด 24 ชม. ส่วนใหญ่คนจะมาไหว้มากคือช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 3 เพราะถือเป็นวันไหว้ ไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ แล้วก็จะไหว้ในคืนนั้นให้ครบ 9 แห่ง”

สถานที่ตั้ง : ริมถนนเยาวราช ตรงข้ามซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ


ศาลเจ้ากวนอู

3. ศาลเจ้ากวนอู

ศาลเจ้ากวนอู สร้างโดยพระยาอาชาชาติ (เจ้าพระยาคลัง) หรือ เฉินอี้ซาน ซึ่งเดินทางไปราชการที่เมืองจีน เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้นำวัสดุก่อสร้างกลับมาสร้างศาลแห่งนี้ เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนในสมัยนั้น ภายในมีระฆังทองเหลืองใบใหญ่ตั้งอยู่ด้านขวาของห้องโถง มีอักษรจารึกระบุ สร้างขึ้นในสมัยฮ่องเต้เต๋อจง ราชวงศ์ชิง ปีกวงซี่ว์ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2435 จึงสันนิษฐานว่า ศาลเจ้าคงสร้างขึ้นระหว่างปีดังกล่าว

ต่อมาในปี พ.ศ.2522 ทางการได้ขยายซอยอิสรานุภาพให้กว้างขึ้นอีก และบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้ากวนอูให้ดีขึ้น ปัจจุบันศาลเจ้ากวนอูได้ผ่านการบูรณะมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง

“คนที่มาไหว้ที่นี่มีอยู่ 3 แบบคือ
1.พวกวัยรุ่นจะมาขอเรื่องความรัก นักศึกษาก็จะมาขอเรื่องการเรียน สติปัญญา
2.คนวัยกลางคนก็จะมาในเรื่องค้าขาย และ
3.คนสูงวัยก็จะมาขอเรื่องสุขภาพแข็งแรง” ผู้ดูแลศาลกวนอูกล่าว

นอกจากเจ้าพ่อกวนอูแล้ว ที่ศาลแห่งนี้ยังมี “เจ้าพ่อม้า” ที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก “คนนิยมนำพวกผักหญ้ามาไหว้เจ้าพ่อม้า พร้อมเขย่าติ้ว กล่าวว่าเฮงเฮงบ่วงเชี่ยวเฮง ถ้าไม่ได้เอามาที่นี่ก็มีจัดไว้ให้ชุดละ 20 บาท ส่วนเจ้าพ่อกวนอู จะชอบขนมเปี๊ยะเป็นพิเศษ”

โดยมากคนที่มาไหว้เจ้าพ่อม้า จะขอกำลังใจขอพรในสิ่งที่ปรารถนา โดยเฉพาะพ่อแม่ส่วนใหญ่มาขอให้เทพเจ้าปราบพยศลูกหลานที่ซุกซน ให้ “ว่านอนสอนง่าย” และ “อยู่ในโอวาส”


ขอพรเจ้าพ่อม้า

ม้าเส็กเทาของกวนอู หรือเจ้าพ่อม้า สร้างขึ้นโดย พล.ต.ต.พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ซึ่งถือกำเนิดในตระกูลเบ๊ หรือ หม่า ตามภาษาจีนกลาง ซึ่งมีความหมายว่า “ม้า” นั่นเอง

สำหรับกิจกรรมช่วงตรุษจีนนั้น ก็จัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี ที่สำคัญจะย้ายกระถางธูปเจ้าพ่อกวนอูออกไปนอกศาลเพื่อให้คนมาไหว้บูชา เพราะคนจากทั่วสารทิศจะแห่แหนกันมาเป็นจำนวนมาก ทำให้สถานที่คับแคบไปถนัดตา ส่วนมากจะมาไหว้ขอพรให้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนและครอบครัว

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “ในช่วงตรุษจีนนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 – 4 ก.พ.เปิด 24 ชั่วโมงทั้งวันทั้งคืน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนจีนจะมารับพรจากเทพเจ้า ไม่เฉพาะแต่ที่นี่ เป็นอย่างนี้ทุกศาล”

สถานที่ตั้ง : ภายในตลาดเก่าสำเพ็ง-เยาวราช ฝั่งถนนเยาราช


ศาลเจ้าเล่าปูนเถ่ากง

4. ศาลเจ้าเก่า เล่าปูนเถ่ากง

ปูนเถ่ากงในภาษาแต้จิ๋วนั้นหมายถึง “ชุมชนดั้งเดิม” ดังนั้นเล่าปูนเถ้ากงจึงหมายถึง “เทพเจ้าที่คุ้มครองรักษาชุมชนดั้งเดิม หรือก็คือเจ้าที่ของท้องถิ่นนั้นๆ นั่นเอง" ลักษณะของศาลเจ้าเล่าปูนเถ่ากง เป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างแต้จิ๋ว แบบ ซี่เตี้ยมกิม (สี่ตำแหน่งทอง) หลักฐานตามจารึกบนระฆังชี้ว่า ศาลนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเต้ากวง ปีที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง หรือราว พ.ศ.2367 ตั้งอยู่ด้านหน้าซ้ายมือของศาลปัจจุบัน

ศาลเจ้าเล่าปูนเถ่ากงในปัจจุบันเป็นศาลสร้างใหม่ จากบันทึกเรื่องราวการบูรณะศาลเจ้าระบุว่า ศาลแห่งนี้เป็นศาลที่ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยซึ่งมีความศรัทธาอย่างแรงกล้า สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2460 ด้วยเงินบริจาคจากคณะกรรมการหลายท่านและจากผู้มีจิตศรัทธากว่า 36,000 บาท ใช้เวลา 28 ปีจึงแล้วเสร็จ

เทพประธานของศาลแห่งนี้ คือ เทพปูนเถ่ากง ตามความเชื่อโบราณเชื่อว่า แต่ละท้องที่มีเทพประจำ ชาวแต้จิ๋วเรียกโดยทั่วไปว่า “ตี่เถ่าเล่าเอี๊ย” หรือ “เทพผู้เป็นใหญ่ ณ ที่นั้น” ไม่ว่าชาวจีนจะอพยพไปอยู่ที่ใดก็ยังยึดมั่นความเชื่อนี้อยู่ จึงได้แกะสลักรูปเคารพของเทพตี่เถ่าเล่าเอี๊ยจากไม้ขึ้นมาเพื่อเคารพบูชา ภายหลังเรียกอย่างง่ายๆ ว่า “ปูนเถ่ากง”

สำหรับช่วงตรุษจีนนี้ ทางศาลเจ้าก็เตรียมความพร้อมในการสู้ศึกคนจำนวนมากที่จะมาสักการะเทพปูนเถ่ากงแล้ว ที่สำคัญได้บูรณะศาลเจ้าเพื่อให้ทันเสร็จในตรุษจีนนี้ กิจกรรมโดยหลักก็คือการไหว้พระ ทำบุญ เสี่ยงเซียมซี

“คนที่มาไหว้ ส่วนมากขอในเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจง ส่วนมากจะขอให้ท่านคุ้มครอง สุขภาพดี งานการค้ารุ่งเรือง”

*เทพปูนเถ่ากงไม่ปรากฎในประเทศจีน จะพบเฉพาะในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และปีนังเท่านั้น

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : "เปิดจนสว่างตั้งแต่คืนวันที่ 3 ถึง 4 เย็นๆ ส่วนวันธรรมดาจะเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น”

สถานที่ตั้ง : หน้าโรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์


ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ

5. ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ

ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมจีนตอนใต้สกุลช่างจีนแต้จิ๋วแบบ ซี่เตี้ยมกิม ด้านในศาลเจ้า บริเวณเหนือประตูทั้งสองฝั่ง ประดับพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมศาล

อายุของศาลเจ้านี้ ตามหลักฐานจากป้ายจารึกภาษาจีนของศาลเจ้าระบุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2201 แต่ถ้ายึดตามข้อสันนิษฐานว่า ศาลเจ้ามักก่อตั้งพร้อมชุมชน ซึ่งชุมชนสำเพ็งนั้น เพิ่งเริ่มก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 ป้ายจารึกนี้ อาจย้ายมาจากอยุธยาหรือหัวเมืองฝั่งตะวันออกก็เป็นได้ (พิมพ์ปรไพ พิศาลบุตร, 2544 : 155)

องค์ประธานคือ เล่งบ้วยเอี๊ยะ หรือ เซียนเหอเยี่ยหยุน เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในปลายสมัยราชวงศ์หยวน ชาวบ้านเคารพและเรียกขานว่าเป็น “เทพเจ้าสือหมู่” หรือ “เทพเจ้าหมัด” (หมัดในที่นี้หมายถึง หมัดสุนัข) เซียนเหอเยี่ยหยุนได้ศึกษาหลักธรรมและเผยแพร่หลักธรรมวิถีแห่งเต๋าของเล่าจื้อ ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะที่อำเภอฉีซันเป็นที่เคารพบูชา และมีกระดาษยันต์ใช้สำหรับป้องกันภูตผีปีศาจที่เลื่องชื่อ

ส่วนฝั่งซ้ายมือเป็นแท่นเทพเจ้ากวนอู และฝั่งขวามือเป็นแท่นประทับราชินีแห่งสวรรค์ ส่วนด้านขวาใกล้ประตู เป็นที่ตั้งระฆังโบราณที่สร้างมาแต่รัชสมัยพระเจ้าเต้ากวง ฮ่องเต้สมัยปลายราชวงศ์ชิงของจีน นอกจากนี้ยังมีกระถางธูปพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เก็บไว้ด้วย

ช่วงตรุษจีนในซอยอิศรานุภาพนั้น ถือว่ามีความคึกคักที่สุดซอยหนึ่ง นอกจากจะเป็นเส้นทางในการจับจ่ายซื้อของแล้ว ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะก็ยังเป็นศาลเจ้าที่ได้รับความนิยมในการสักการบูชาของประชาชนในเยาวราชเป็นอย่างมาก สำหรับกิจกรรมภายในศาลเจ้านั้นก็มีการไหว้พระ เสี่ยงเซียมซี ฯลฯ และเพิ่มเวลาปิดเปิดที่ยาวนานขึ้น

“เจ้าประธานก็คือเหล่งบ๊วยเสี้ยวฮ้วง ส่วนใหญ่คนจะมาขอเรื่องทั่วไป ขอให้ร่างกายแข็งแรง ขอหวยก็มี โชคลาภ จะก่อสร้างการค้าอะไรก็มาขอ”

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “6 โมงเช้าถึงค่ำๆ จนกว่าจะไม่มีคน ช่วงตรุษจีนวันที่ 3 เป็นต้นไปเปิดถึงสว่าง”

สถานที่ตั้ง : ซอยอิศรานุภาพ (เจริญกรุง 16) ถนนเยาวราช


วัดบำเพ็ญจีนพรต

6.วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่)

วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) มีพื้นที่กว้าง 7.80 เมตร ยาว 10.20 เมตร ตั้งอยู่ซอยเยาวราช 8 ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เป็นสังฆรามสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในไทย เดิมเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง ชื่อ “ย่งฮกอำ” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2338 โดยชาวจีนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาพระอาจารย์สกเห็งจาริกจากจีนราวปี พ.ศ.2414 มาพำนักที่นี่ และได้ปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “ย่งฮกยี่” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต”


พระพุทธเจ้าแห่งตรีโลกธาตุ เป็นองค์พระประธาน 3 องค์

ภายในประดิษฐานพระพุทธเจ้าแห่งตรีโลกธาตุ เป็นองค์พระประธาน 3 องค์ ด้านหน้าพระประธานคือ พระจัณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (จุนที้ผู้สัก) ปางหนึ่งของโพธิสัตว์กวนอิม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปศิลาขาว ศิลปะพม่าแบบมัณฑเลย์ 18 อรหันต์ เทพเจ้ากวนอู เทพประจำชะตาชีวิต (ไท่ส่วยเอี้ย) เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิงเอี้ย) และหมอเทวดาหั่วท้อ (หั่วท้อเซียนซือ) แกะสลักจากไม้ ให้ประชาชนเข้าไปกราบไว้ด้วย

เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลในช่วงตรุษจีนนี้ ประชาชนสามารถไปร่วมทำบุญที่วัดย่งฮกยี่ได้ พร้อมกับสะเดาะเคราะห์ไปด้วย จากคำบอกเล่าของพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดท่านเล่าว่า ช่วงตรุษจีนจะมีคนเข้ามาไหว้พระขอพรจำนวนมากกว่าวันปกติ ทำให้วัดที่มีพื้นที่ก็ไม่มากนัก ดูแคบไปถนัดตา

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “6 โมงเช้าถึงประมาณ 6 โมงเย็น ทั้งนี้ในช่วงตรุษจีนอาจขยายเวลาปิดเปิดไปอีกตามความเหมาะสม”

สถานที่ตั้ง : ถ.เยาวราช ซอย 8 ก่อนถึงสี่แยกราชวงศ์ เดินเข้าซอยไปประมาณ 20 เมตร


ศาลเจ้ากวางตุ้ง

7. ศาลเจ้ากวางตุ้ง

ศาลเจ้ากวางตุ้ง (ถงจิ้งถัง) สร้างโดยชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง ของประเทศจีนเข้ามาสู่กรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรวมตัวกันครั้งแรกจัดตั้งสมาคมอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2520 เรียกว่า ศาลากว่องสิว (บ้านพักของชาวกวางตุ้ง) เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างชาวจีนที่มาจากมณฑลกวางตุ้ง

หลังจากนั้นได้มีการรวบรวมเงินประมาณ 17,000 บาท ซื้อที่ดินในถนนเจริญกรุงแล้วจัดตั้งเป็นสมาคมการกุศลที่มีคณะกรรมการเป็นชาวจีน ต่อมาในปี พ.ศ.2423 ได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นมา โดยได้ส่งคนไปยังเมืองจีนเพื่อจัดหาวัสดุในการก่อสร้างและศิลปกรรมการตกแต่งศาลเจ้า เพื่อนำมาสร้างประกอบในเมืองไทยตามแบบสถาปัตยกรรมโบราณของจีนทุกประการ ศาลเจ้ากวางตุ้ง ได้จดทะเบียนกับทางราชการเป็นศาสนสถานเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2463


ภายในศาลเจ้าประดิษฐานรูปเทพเจ้าต่างๆ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากเมืองจีน โดยชาวจีนเชื่อกันว่าเทพเจ้าเหล่านี้เป็นผู้บันดาลโชคลาภ ความมั่งคั่ง และความสมบูรณ์พูนสุข เช่น เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าขงจื๊อ เทพเจ้าเหงินฉ่างตี้ชุน (เง็กเซียนฮ่องเต้) พระโพธิสัตว์กวนอิม เทพเจ้าลู่ปาน เป็นต้น ปัจจุบัน ศาลเจ้ากวางตุ้ง อยู่ภายใต้การดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ทุกปีเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน นอกจากประชาชนที่หลั่งไหลกันเข้ามาไหว้พระทำบุญแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งพบปะของชาวจีนที่มีบรรพบุรุษมาจากมณฑลกวางตุ้งอีกด้วย ทั้งนี้กิจกรรมของศาลเจ้านี้มีกำหนดจัดทั้งช่วงวันตรุษจีนและหลังตรุษจีน กิจกรรมหลักของที่นี่ก็คือการเชิดสิงห์โตเพื่อความเป็นสิริมงคล

“จะมีเชิดสิงห์โต 2 วันคือในวันที่ 18 กับวันที่ 24 แต่วันที่ 18 จะไม่มีขึ้นดอกเหมย (แสดงเดินบนเสาหลัก) วันที่ 18 มีแค่ไหว้เจ้าแล้วก็เชิดอยู่ภายในบริเวณนี้”

“สำหรับกำหนดการงานใหญ่จะจัดกันในวันที่ 24 ก.พ. หลังตรุษจีน 1 สัปดาห์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่ายสองโมง ที่ต้องฉลองหลังช่วงตรุษจีน ก็เพราะว่าช่วงตรุษจีนบางคนต้องอยู่บ้าน ลูกหลานมาหาบ้าง วันที่ 24 คือเริ่มของวันที่ 7 ซึ่งเป็นวันกำเนิดของชาวโลก ช่วงนั้นคนจะว่างกันแล้ว”

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “ช่วงตรุษจีนจะเปิดดึกหน่อย อาจจะถึงสองยาม ถ้าปกติเปิด 6โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม”

สถานที่ตั้ง : ริมถนนเจริญกรุง ใกล้สี่แยกแปลงนาม


ศาลเจ้าหลีตี่เบี้ยว

8. ศาลเจ้าหลีตี่เบี้ยว

ศาลเจ้าหลี่ตี้เมี่ยวหรือศาลเจ้าลื้อตี่เบี่ย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2445 ผู้สร้างเป็นชาวจีนแคะที่อพยพเข้ามาไทยในปลายราชวงศ์ชิง เนื่องจากราชวงศ์ชิงไม่สนใจศาสนาเต๋า จึงทำให้ศาสนาเต๋าไม่เป็นที่เผยแพร่ในจีน ดังนั้นกลุ่มคนที่ยังคงนับถือศาสนานี้อยู่ เมื่ออพยพย้ายถิ่นก็ยังคงสืบต่อศรัทธาด้วยการสร้างศาลเจ้าในศาสนาเต๋าขึ้น และทำการเผยแผ่คุณธรรมคำสอนอันเป็นหลักปรัชญาแห่งชีวิตอันลึกซึ้ง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวจีนอันล้ำค่าเพื่อให้คงอยู่ต่อไป


ในปี 2531 ศาลเจ้าหลี่ว์ตี้เมี่ยวถูกไฟไหม้ สมาคมจีนแคะจึงดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2535 ศาลเจ้าที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ไม่เพียงแต่สืบต่อศาสนาเต๋าเท่านั้น หากยังประสานกับพุทธศาสนาได้อย่างลงตัว ซึ่งถือว่าเป็นศาสนาที่ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่นับถือ

ช่วงตรุษจีนก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนจะหลั่งไหลเข้ามา แม้ทางศาลเจ้าจะไม่ได้จัดงานยิ่งใหญ่ จะมีก็เพียงการจุดเทียนถวายเทพ ทั้งนี้ประชาชนก็พร้อมใจกันมากราบไหว้พระขอพรเป็นจำนวนมากทุกปี

“ที่มาขอพรส่วนมากก็เรื่องทั่วๆ ไปทั้งเรื่องคู่ครอง ขอลูก การค้า แต่หวยไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่ว่าขอปุ๊บจะได้เลย”

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “เปิดตลอด คืนวันไหว้คือคืนวันที่ 3 เปิดถึงสว่าง แต่ถ้าวันธรรมดา 5 โมงเย็นเราก็ปิด”

สถานที่ตั้ง : จากแยกแปลงนามเดินเดินไปตามถนนพลับพลาไชย ประมาณ 200 เมตร


ด้านหน้าศาลเจ้าไต้ฮงกง

9.ศาลเจ้าไต้ฮงกง

ศาลเจ้าไต้ฮงกงในไทยสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2452-2461 บริเวณถนนพลับพลาไชย มีพื้นที่ 3 งาน 66 ตารางวา เป็นที่ประดิษฐานรูปจำลองซึ่งอัญเชิญมาจากจีนของหลวงปู่ไต้ฮงมหาเถระ พระผู้มีความเมตตากรุณา และเป็นผู้ริเริ่มบำเพ็ญกุศลในการจัดฌาปนกิจศพไร้ญาติสมัยราชวงศ์ซ้อง เมื่อเกือบพันปีล่วงมาแล้ว ในเวลาต่อมาได้จัดตั้ง “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” เพื่อทำการเก็บและจัดการงานศพอนาถา ต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น “มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง”


หลวงปู่ไต้ฮงมหาเถระ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นพระราชทานเงินให้ “คณะเก็บศพ” ปีละ 2,000 บาท ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลเจ้า แล้วเสร็จในปี 2497 ครั้งนั้น จัดให้มีงานฉลอง 7 วัน 7 คืน มีการทำบุญ ทิ้งกระจาด และต่อไฟศักดิ์สิทธิจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามมายังศาลเจ้าด้วย

“จริงๆท่านเป็นภิกษุชาวจีนที่ช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วย สร้างสะพาน สอนหนังสือ เป็นภิกษุที่สร้างคุณงามความดี คนจีนสมัยก่อนนับถือมาก เมื่อคนจีนมาตั้งรกรากที่เมืองไทย คนที่พอจะมีฐานะหน่อยมารวมตัวกันและต้องการจะเจริญรอยตามท่าน จึงได้สร้างท่านพร้อมกับบูชามาโดยตลอด มูลนิธิปอเต็กตึ๊งก็ถือกำเนิดมาจากปณิธานที่อยากจะดำเนินรอยตามท่าน คือการช่วยเหลือประชาชนและสังคม มูลนิธิปอเต็กตึ๊งมีอายุ 96 ขึ้น 97 ปีแล้ว สิ่งที่เราทำมากกว่าการเก็บศพ” หัวหน้าประชาสัมพันธ์มูลนิธิฯกล่าว

ความพิเศษของศาลเจ้าไต้ฮงกงในช่วงตรุษจีนนั้น ก็คือประชาชนจำนวนมากที่หลั่งไหลกันมาทำบุญขอพร

“ยิ่งทุกข์เท่าไหร่ไหว้พระองค์ใดก็ตามเราจะรู้สึกสบายใจ แต่ท่านไต่ฮงกงเป็นเรื่องของการบำเพ็ญบุญบารมีมามากและให้ทาน คนจีนคนไทยจึงนับถือ ขอได้ทั่วไป ร่างกายแข็งแรง การงานประสบความสำเร็จ ฯลฯ”

ความพิเศษของศาลเจ้าไต้ฮงกงที่นอกจากการมาไหว้พระขอพรแล้ว ที่นี่ยังมีการแจกขนมสาคูอีกด้วย เราจะเห็นคนมาเข้าคิวรอรับขนมสาคูเป็นจำนวนมากทุกปี

“ตรุษจีนมูลนิธิมีต้มสาคูแจก เพื่อความกลมเกลียวและสิริมงคล คนจะมาทำบุญหรือไม่ทำบุญเราไม่ซีเรียสเลย สามารถมาเข้าคิวรับได้ทั้งวัน จะมีจุดบริการสาคู ตั้งแต่วันที่ 18-21 ส่วนวันที่ 25 แจกโต้รุ่ง 4 มี.ค.(เทศกาลง่วนเซียว) แจกอีกครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งที่ประชาชนถามถึงกันมากที่สุด แต่ที่สำคัญที่คนต้องการสาคูจากที่นี่ก็เพราะว่าเขามองว่าเป็นสิริมงคล หลังจากทำบุญแล้ว จะมอบตั๋วแลกขนมเพื่อนำเอาจันอับกลับไปบ้าน แล้วนำไปไหว้ หลังจากนั้นก็นำมากินเพื่อความเป็นสิริมงคลเช่นกัน”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวียนธูปตอนเที่ยงคืนของวันสุดท้ายเทศกาลตรุษจีน (25 ก.พ.) และแจก “ฮู้” หรือ “ยันต์” ของหลวงปู่ไต้ฮงกงบริเวณฝั่งตึก 5 ชั้น โดยไม่ต้องเช่าหรือแล้วแต่ทำบุญอีกด้วย

เวลาปิดเปิดช่วงตรุษจีน : “เปิด 6 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ตรุษจีนอาจจะเปิดถึงสว่างในบางคืน แต่อย่างน้อยก็ 3-4ทุ่ม”

สถานที่ตั้ง : บริเวณสน.พลับพลาไชย1,2 เขตป้อมปราบ

จะเห็นได้ว่าศาลเจ้าทุกแห่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วเข้าไปทำบุญและขอพรตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนกระทั่งดึกคือประมาณ 2-3 ทุ่ม แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือ คืนก่อนวันตรุษจีน (3 ก.พ.) ซึ่งถือเป็นคืนสำคัญของเทศกาลตรุษจีน แต่ละศาลเจ้าจะเปิดให้สาธุชนเข้ามาทำบุญโต้รุ่งกันถึงเช้า ตรุษจีนปีนี้อย่ามัวแต่เที่ยวเพลิน จนลืมการเข้าวัด เข้าศาลเจ้าทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลให้ชีวิตและครอบครัวจะเป็นการดีที่สุด



ไปข้างบน