หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

เที่ยว“วัดหมู”ดูพระประธาน 28 องค์แห่งเดียวในเมืองกรุงฯ


พระประธาน 28 องค์ในพระอุโบสถ

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยใดนั้นยังไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ รู้แต่สาเหตุที่เรียกวัดนี้ว่าวัดหมูนั้นก็เนื่องจากว่า ผู้สร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวจีนชื่ออู๋ มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อมีวัดแล้วหมูเหล่านั้นก็มาเดินเพ่นพ่านเต็มลานวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหมูกันมาตั้งแต่นั้น แม้ภายหลังไม่มีหมูมาเดินแล้วก็ยังเรียกกันว่าวัดหมูต่อมา


พระปรางค์ก่ออิฐถือปูนบริเวณหน้าพระอุโบสถ

ภายหลังจากที่จีนอู๋สร้างวัดนี้ขึ้นแล้ว เวลาล่วงไปวัดก็ทรุดโทรมลงไปตามกาล จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัด

และหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มอีก และในครั้งนั้นก็ได้พระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดอัปสรสวรรค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง และในการบูรณะครั้งนี้ ทำให้วัดอัปสรสวรรค์ กลายมาเป็นวัดที่มีความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทย

ฉันไปถึงวัดอัปสรสวรรค์ในตอนสายๆ ภายในวัดค่อนข้างเงียบผู้คนบางตา ไม่คึกคักเหมือนกับวัดข้างเคียงอย่างวัดปากน้ำภาษีเจริญที่มีคนแวะเวียนไปมากมายทุกวัน


หน้าบันแบบจีน พระราชนิยมของรัชกาลที่ 3

เมื่อฉันไปถึง อย่างแรกที่ทำก็คือเข้าไปกราบพระในพระอุโบสถก่อนเป็นอย่างแรก พระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์นี้ขนาดไม่ใหญ่โตนัก สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมีลายประดับปูนปั้นแบบจีน กล่าวกันว่าสร้างคล้ายกับที่วัดราชโอรสารามฯ วัดประจำรัชกาลที่ 3

สำหรับความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทยของวัดหมูนั้นอยู่ภายในพระอุโบสถ นั่นก็คือ แทนที่พระประธานจะมีเพียงองค์เดียวเหมือนกับโบสถ์วัดอื่นๆทั่วไป แต่ภายในอุโบสถนี้ก็กลับมีพระประธานอยู่มากถึง 28 องค์ด้วยกัน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้ รัชกาลที่ 3 เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

เหตุที่สร้างพระพุทธรูปมากถึง 28 พระองค์ ก็เพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภาพต่างๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ ได้แก่ พระพุทธตัณหังกร พระพุทธเมธังกร พระพุทธสรณังกร พระพุทธทีปังกร พระพุทธโกณฑัญญะ พระพุทธสุมังคละ พระพุทธสุมนะ พระพุทธเรวตะ พระพุทธโสภิตะ พระพุทธอโนมทัสสี พระพุทธปทุมะ พระพุทธนารทะ พระพุทธปทุมุตตระ พระพุทธสุเมธะ พระพุทธสุชาตะ พระพุทธปิยทัสสี พระพุทธอัตถทัสสี พระพุทธธรรมทัสสี พระพุทธสิทธัตถะ พระพุทธติสสะ พระพุทธปุสสะ พระพุทธวิปัสสี พระพุทธสิขี พระพุทธเวสสภู พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ และพระพุทธโคตมะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวของพระองค์


ไตรเก่าแก่ ต้นแบบหอเขียนของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด

พระพุทธรูปทั้ง 28 พระองค์นี้ เป็นปางมารวิชัย หล่อขึ้นให้มีขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงตั้งลดหลั่นกันลงมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมงดงามแปลกตาไม่มีวัดไหนในประเทศไทยและวัดไหนในโลกจะมีเหมือน และถ้าอยากจะรู้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหนก็ดูได้จากตัวอักษรจารึกพระนามอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์ แต่จะไปชะเง้อชะแง้หรือปีนป่ายดูก็ใช่ที่ เอาเป็นว่าฉันจะบอกให้ว่าองค์ที่อยู่ด้านบนสุดนั้นคือพระพุทธเจ้าองค์แรก หรือพระพุทธตัณหังกร ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าสุดของแถวล่างก็คือ พระพุทธโคตมะ หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั่นเอง

และด้วยความที่วัดแห่งนี้เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีพระประธาน 28 พระองค์ ที่วัดนี้จึงมีบทสวดมนต์พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ซึ่งเป็นบทสวดมนต์เฉพาะของวัดอัปสรสวรรค์ ซึ่งจะใช้สวดทุกครั้งที่ทำวัตรเช้าเย็น และจะเพิ่มบทสวดนี้เป็นกรณีพิเศษด้วยในการสวดมนต์ในพิธีการต่างๆ

ด้วยความพิเศษที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเช่นนี้ พระพุทธรูปประธาน 28 องค์ ในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์จึงถูกยกย่องให้เป็น “อันซีน บางกอก” ไปด้วยประการฉะนี้

ส่วนที่ตั้งอยู่ข้างๆ พระอุโบสถนั้นก็คือพระวิหาร เป็นศิลปะแบบจีนเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธรูปอยู่สององค์ เป็นพระปางมารวิชัยทั้งสององค์ และในภายหลังได้มีผู้มาสร้างรูปหล่อนางสุชาดา กำลังถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้าด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพระวิหารวัดอัปสรสวรรค์ก็คือภาพทวารบาลที่ประตูวิหาร ซึ่งเขียนลงรักปิดทองเป็นรูปนางฟ้ากำลังเพลิดเพลินอยู่ในสระบัว ดูอ่อนช้อยงดงามสมกับชื่อวัดอัปสรสวรรค์ ต่างจากวัดอื่นๆ ที่มักทำเป็นรูปเทวดาหรือทหารที่ดูขึงขังมากกว่า


พระมณฑป ภายในมีพระพุทธรูปปางฉันสมอ

และระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารนั้น เป็นที่ตั้งของพระมณฑปสีขาวองค์ไม่ใหญ่นัก แต่ภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางฉันสมอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่าได้มาจากเวียงจันท์ ซึ่งอัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับพระบรมธาตุ พระบาง และพระแซกคำ

พระพุทธรูปปางฉันสมอนี้ปางคนอาจจะยังไม่คุ้นหูนัก ฉันจึงอยากขออธิบายถึงที่มาหน่อยหนึ่งว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข หรือตรัสรู้ได้ 7 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารเลย ท้าวสักกอมรินทราธิราชจึงได้นำผลสมอ หรือลูกสมอซึ่งเป็นทิพย์โอสถไปถวาย พระพุทธจริยาที่เสวยผลสมอนั้นจึงถูกนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางฉันสมอนั่นเอง


ทวารบาลนางฟ้าอ่อนช้อยงดงาม

แต่พระพุทธรูปปางฉันสมอในพระมณฑปนี้ เจ้าอาวาสได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้บนกุฏิ และได้นำองค์จำลองมาประดิษฐานไว้แทนเพื่อความปลอดภัย

จากนั้นฉันเดินข้ามถนนสายเล็กๆ ภายในวัดมาหยุดยืนอยู่ที่หน้าหอไตรเก่าแก่กลางน้ำของวัด หอไตรแห่งนี้สร้างอยู่กลางสระน้ำเพื่อป้องกันมอดปลวกจะมากัดแทะหนังสือเสียหาย พูดถึงลวดลายของหอไตรแห่งนี้แล้วก็สวยงามมากทีเดียว ฝาผนังประดับกระจก ส่วนบานประตูและหน้าต่างก็เขียนด้วยลายรดน้ำ แม้จะดูเก่าแก่ไปมากแต่ก็ยังคงความสวยงามให้เห็น โดยหอไตรนี้ยังเป็นต้นแบบของ “หอเขียน” ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดอีกด้วย

นอกจากนั้น บริเวณด้านหน้าของพระอุโบสถและพระวิหาร ก็ยังมีพระปรางค์องค์สูงใหญ่ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่ สร้างขึ้นคู่กับวัด พระปรางค์องค์นี้มีความสูงประมาณ 15 วา และใกล้ๆ กันนั้น ก็เป็นศาลาท่าน้ำริมคลองด่าน ที่สามารถซื้อขนมปังให้อาหารปลาตรงนี้ก็ได้ หรือใครอยากจะยืนชมวิว ชมเรือหางยาวที่แล่นพานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศชมคลองก็ได้เช่นกัน

* * * * * * * * * * * *

วัดอัปสรสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ 174 ถ.เทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160 พระอุโบสถและพระวิหารเปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2467-5392, 0-2458-0917

การเดินทาง สามารถนั่งรถประจำทางสาย 4, 9, 10, 175 มาจนสุดสาย จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร มีป้ายบอกทางไปจนถึงวัด


ไปข้างบน