หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

นรก-สวรรค์-อาถรรพ์ และคำสาปแห่ง“ตะรุเตา”


เกาะไข่กับซุ้มประตูหินอันเป็นเอกลักษณ์

“โน่นทะเลแสนงาม ฟ้าสีครามสดใส มองเห็นเรือใบ แล่นอยู่ในทะเล...”

แม้จะไม่เห็นเรือใบแล่นอยู่ในทะเลเหมือนดังบทเพลง “ทะเลแสนงาม” ที่ผมเริ่มร้องมาตั้งแต่เด็กน้อยจนถึงยุคความเป็นเด็กเหลือน้อยในปัจจุบัน แต่ว่าทะเลแห่งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาต้นฤดูกาลท่องเที่ยวสด ๆ ร้อน ๆ นั้นช่างแสนงามไม่ต่างไปจากบทเพลง

ทะเลแห่งตะรุเตางดงามจนหลายๆคนยกให้เป็นหนึ่งในเกาะสวรรค์แห่งอันดามัน


ณ ชายหาดแห่งเกาะราวี

ทว่าก็เป็นเกาะสวรรค์ที่แตกต่างจากทั่วไป เพราะครั้งหนึ่งเกาะสวรรค์แห่งนี้เคยเป็นเกาะนรกมาก่อน!!!

หากย้อนอดีตไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ทะเลบริเวณเกาะตะรุเตา-ลังกาวี ถือเป็นเส้นทางเดินเรือข้ามมหาสมุทรอันสำคัญที่ชาวอินดูพวกแรกใช้เป็นอพยพจากอินเดียผ่านมาทางพม่าและไทยไปอินโดนีเซีย ถือเป็นเกาะอาถรรพ์ที่หากใครหาญกล้าเข้าไปในป่าที่เขียวชอุ่มที่มีอยู่แน่นหนาบนเกาะ จะไม่ได้กลับออกมาอีก ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ตามอ่าวๆต่างของเกาะนี้ จะตกเป็นเหยื่อของความหนาวเย็น การจับไข้ อาการเพ้อ หรือแม้กระทั่งความตาย!?!

กระทั่งปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลในยุคนั้นได้เลือกเกาะตะรุเราให้เป็นนิคมฝึกอาชีพและกักขังนักโทษคดีอุจฉกรรจ์ในลักษณะทัณฑสถานธรรมชาติ หรือเรียกง่ายว่า “คุกเปิด”นั่นเอง เพราะเกาะตะรุเตามีชัยภูมิโอบล้อมไปด้วยผืนน้ำกลางทะเลลึกอันเวิ้งว้างที่เป็นดังปราการธรรมชาติไม่ให้นักโทษหลบหนี นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยไข้ป่าและความโหดร้ายของสภาพอากาศ

ใครที่จะคิดหนีนะหรือ บอกคำเดียวว่า ยากส์...เพราะหากรอดพ้นจากวิถีกระสุนของผู้คุมไปได้ ก็ต้องไปเผชิญกับฝูงปลาฉลามและจระเข้อันดุร้ายที่จะรอขย้ำเหยื่ออยู่ทุกเวลา

พ.ศ. 2481 นักโทษคดีร้ายแรงชุดแรก 500 คน ถูกส่งมายังตะรุเตา ก่อนจะทยอยส่งเพิ่มมาเรื่อยๆจนถึง 3,000 คน หลังจากนั้น พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบมากักบริเวณไว้ที่ อ่าวตะโละอุดัง อีก 70 คน

พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยา และเครื่องใช้ต่างๆ ทำให้คนบนเกาะอดอยากและเจ็บป่วยล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษส่วนหนึ่งจึงเปลี่ยนมาเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าทั้งของชาวไทยและต่างชาติในน่านน้ำช่องแคบมะละกาที่แล่นผ่านไป-มา


ยามโพล้เพล้ที่เกาะหลีเป๊ะ

เกาะตะรุเตาในช่วงนี้ดูประหนึ่งนรกในอันดามันที่น่าครั่นคร้ามเป็นอย่างยิ่ง!?!

แต่หลังจากนั้นในพ.ศ. 2489 วันที่ 15 มีนาคม เรือรบอังกฤษกับทหารจำนวน 300 คน บุกเกาะตะรุเตาและเข้าจับกุมกวาดล้างเหล่าโจรสลัด พร้อมๆกับยกเลิกนิคมฝึกอาชีพนักโทษ

ตำนานนรกบนตะรุเตาปิดฉากลงโดยปริยาย แต่ตำนานแห่งตะรุเตายังไม่จบสิ้น เพราะหลังจากที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางทะเลยาวนานถึง 26 ปี จนกระทั่งวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้ในยุคนั้นประกาศจัดตั้งหมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตา นับเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของเมืองไทย


การเรียงหินกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมทำกันบนเกาะหินงาม

ตำนานบทใหม่ของตะรุเตาถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง

เป็นตำนานแห่งเกาะสวรรค์กลางอันดามันอันสวยงามพิสุทธิ์จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2525 ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน ที่นักเดินทางและนักนิยมทะเลส่วนหนึ่งเฝ้าถวิลหา แม้วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คลื่นยักษ์สึนามิพัดจะถั่งโถมโหมกระหน่ำท้องทะเลอันดามัน ส่งผลเกาะตะรุเตาได้รับผลกระทบบ้างบางส่วน แต่กระนั้นตะรุเตาก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายมากมายนัก จะมีก็เพียงกระชังเลี้ยงปลาของชาวประมงแถบท่าเรือปากบาราที่ถูกคลื่นยักษ์ซัดหายไปจนหมดเกลี้ยง

มาวันนี้ตะรุเตากลับมางดงามพิสุทธิ์เช่นเดิมไม่สร่างซา โดยเฉพาะต้นฤดูกาลท่องเที่ยว(ต้นเดือน พ.ย.)ของปี 49 ในวันที่สภาพการณ์เป็นใจ ทั้ง น้ำใส ฟ้าสวย แดดจ้า คลื่นจาง มีลมบางๆโชยพัดปะทะหน้าตลอดเวลาก็ทำให้ในทริปนั้นผมปลื้มไม่น้อยทีเดียว


สวนชายหาด ณ ที่ทำการอุทยานฯ ตะรุเตา

สำหรับทริปนี้ผมมีจุดค้างแรมอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ เกาะที่งดงามอีกแห่งหนึ่งจนได้รับการขนานนามว่า "มัลดีฟส์เมืองไทย" ในขณะที่เส้นทางท่องตะรุเตาของการกลับมาในทริปล่าสุดนี้ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดิม แต่ก็เป็นเส้นทางเดิมที่ยังคงความงามไว้ไม่สร่างซา

โดยหลังออกจากท่าเรือปากบารา เรือนำเที่ยวได้มุ่งหน้าสู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯตะรุเตา ที่มีอ่าวพันเตมะละกาทอดยาวขาวสะอาดอยู่หน้าเกาะ หาดแห่งนี้ถือเป็นจุดชมอาทิตย์อัสดงที่งามนัก แต่ว่ามีบางจุดที่ทางอุทยานฯติดป้ายประกาศไว้ว่า ห้ามเล่นน้ำโดยเด็ดขาด เพราะแม้จะมองจากเบื้องบนเห็นเป็นน้ำตื้น แต่ว่าจริงๆแล้วเป็นร่องน้ำวนที่เกิดจากแม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกัน ใครที่ไปเล่นตรงจุดต้องห้ามนั้นจะโดนน้ำวนดูดทันที พลังดูดของน้ำนั้นแรงขนาดทำเอาเรือล่มมาหลายลำแล้ว


ไม้ใกล้ฝั่งที่เกาะราวี

นอกจากอ่าวพันเตมะละกาบนเกาะตะรุเตายังมีอ่าวตะโละวาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมฝึกอาชีพและคุมขังนักโทษเมื่อครั้งอดีต ส่วนใครที่อยากรู้เรื่องราวความเป็นมาของตำนานนรกแห่งตะรุเตาอย่างละเอียดก็ไปชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ใกล้ๆกับที่ทำการ และเพื่อความเป็นสิริมงคลควรไปสักการะอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และเจ้าพ่อตะรุเตา(ใช้ธูป 9 ดอก) ที่อยู่บริเวณสวนหน้าอ่าวพันเตมะละกา

หลังกราบไหว้เจ้าพ่อเพื่อความเป็นสิริมงคลผมกับเพื่อนๆได้ตระเวนล่องทะเลเที่ยวไปตามจุดๆต่างในอุทยานตะรุเตา โดยจุดที่ไม่พลาดด้วยประการทั้งปวงก็คือ เกาะไข่ เกาะที่มีซุ้มประตูหินธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นตะรุเตา ที่พวกกูรูท่องเที่ยวมองปุ๊บรู้ปั๊บว่านี่คือตะรุเตา

ว่ากันว่าใครที่ควงคู่มาเดินลอดซุ้มประตูแห่งนี้ความรักจะสมหวังยั่งยืน ซึ่งผมยังไม่เคยทดลองทำ เพราะไม่มีสาวใดยอมควงคู่กับผมไปเดินลอดซุ้มประตูหินแห่งนี้ ส่วนพวกผมหลายคนที่อยู่ในอารมณ์ตัวคนเดียวเหมือนกับผม เวลาไปที่เกาะไข่ ก็มักจะไปยืนกุมเป้าถ่ายรูปคู่กับซุ้มประตูเพื่อให้ได้บรรยากาศของชื่อเกาะไข่ ทั้งๆที่เกาะแห่งนี้จริงๆแล้วตั้งชื่อตามวิถีของเต่าทะเลที่จะมาวางไข่บนเกาะแห่งนี้


ชิงช้าไร้คนแกว่งไกวที่เกาะราวี

จากนั้นก็ไปต่อยัง เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะคู่หู ที่น่าสนใจทั้งหาดทรายที่ขาวเนียนเดินนุ่มเท้า และน้ำทะเลใสแจ๋ว ส่วนโลกใต้ทะเลก็งดงามน่ายล โดยเฉพาะที่เกาะราวีในวันที่ผมไปมีประติมากรมือสมัครเล่นเป็นฝรั่งลงทุนไปปั้นทรายเป็นรูปนู้ดให้คนที่ผ่านไปมายลอีกด้วย

ที่เกาะหินขาว ผมไปดำดูปะการังน้ำตื้น ส่วนเกาะจาบัง ที่โด่งดังมากเรื่องปะการังอ่อน 7 สี ดอกไม้ทะเล แต่วันนั้นพอลงน้ำผมเจอสภาพเดียวกับรัฐบาลคมช.คือ คลื่นใต้น้ำแรงมาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องรีบจรลีขึ้นมานั่งให้อาหารปลาสวยๆงามๆแทน


ดำน้ำดูปะการัง อีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิตของนักท่องเที่ยว

ส่วนอีกเกาะหนึ่งที่ไม่พลาดเช่นกัน เพราะถือเป็นดาวเด่นของตะรุเตาก็คือ เกาะหินงาม เกาะที่ไม่มีชายหาดขาวเนียนให้เดินเล่น แต่เกาะนี้กลับเต็มไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่กลม มน รี แบน ส่วนใหญ่เป็นสีดำ สีเข้ม จำนวนมากมายมหาศาล ยามถูกคลื่นซัดสาด ก้อนหินเหล่านี้จะต้องแสงอาทิตย์เป็นมันวาว

พูดถึงเกาะหินงามที่มากไปด้วยก้อนหินสารพัดสารเพนั้น มีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า หากใครสามารถเรียงก้อนหินได้ 12 ชั้น แล้วอธิฐานก็จะได้สมดังปรารถนา เรื่องนี้หนึ่งจริงเท็จอย่างไรผมมิอาจทราบได้ แต่เท่าที่สัมผัสมาก็คือที่เกาะหินงามมีก้อนหินกองเรียงอยู่ทั่วไปในหลายจุด 12 ชั้นบ้าง ไม่ถึง 12 ชั้นบ้าง


นักท่องเที่ยวช่วยกันวักน้ำใส่หาดหินงามแห่งเกาะหินงามเพื่อให้หินมันวาว

ส่วนอีกเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้เช่นกันก็คือ ว่ากันว่า หินทุกก้อนที่เกาะหินงามต้องคำสาปของจำพ่อตะรุเตา(รูปเคารพเจ้าพ่อประดิษฐานอยู่ที่ทำการอุทยานฯเกาะตะรุเตา) หากใครนำหินออกไปจากเกาะจะต้องมีอันเป็นไป ดังคำสาปที่ว่า “...ผู้ใดบังอาจเก็บหินจากเกาะนี้ไป ผู้นั้นจะพบแต่ความหายนะ นานาประการจะกลับไม่ถึงบ้าน จะประสบอุบัติเหตุ จะหลุดพ้นจากหน้าที่การงาน จะพบภัยพิบัติไม่มีที่สิ้นสุด...”


เส้นสายลายน้ำที่เกาะหินงาม

สำหรับเรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ผมเห็นว่าอย่าลองของและไม่ควรลบหลู่เป็นดีที่สุด เพราะที่ฟังๆมามีนักท่องเที่ยวหลายๆคนเดินทางกลับไปตะรุเตาอีกครั้ง แต่ว่าไม่ได้ไปท่องเที่ยว หากแต่เป็นการนำก้อนหินกลับมาคืนสู่เกาะหินงาม เพราะพวกเขาหยิบฉวยก้อนหินสวยๆงามๆกลับไปเป็นที่ระลึก หลังจากนั้นก็ประสบกับเรื่องร้ายๆตลอดทำให้สุดท้ายต้องนำก้อนหินกลับมาคืนให้อยู่คู่กับเกาะหินงามอีกครั้ง


วันฟ้าแจ่มที่เกาะหลีเป๊ะ

เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรผมไม่รู้แต่ที่รู้ๆก็คือ ถ้าเจ้าพ่อตะรุเตาไม่สาปเอาไว้ เกาะหินงามอาจถูกนักท่องเที่ยวหยิบก้อนหินติดมือกลับบ้านไปคนละก้อนสองก้อน กลายเป็นเกาะหินหาย(งาม)ไปก็เป็นได้...


ยามเย็นที่เกาะหลีเป๊ะ


ตะวันลับฟ้าที่เกาะหลีเป๊ะ


ซุ้มประตูหิน เกาะไข่


ไปข้างบน