หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

เรียนรู้วิถีพอเพียงที่พระราม 9


พระอุโบสถสีขาวสะอาดตาของวัดพระราม 9 และโรงเรียนพระราม 9 ก็ตั้งอยู่ด้านหลังของพระอุโบสถ

หากพูดถึงพระราม 9 หลายคนคงนึกถึงคาเฟ่ และแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน น้อยคนนักที่จะรู้ว่าที่ย่านพระราม 9 จะมีชุมชนพอเพียงแทรกตัวอยู่ในย่านแห่งสีสันยามราตรีแห่งนี้ด้วย ฉันเองก็เช่นกันเมื่อได้รู้มาว่าที่พระราม 9 มีชุมชนแบบ "บวร" ซึ่งคำนี้มาจาก บ้าน-วัด-โรงเรียน มารวมกันหรือเรียกว่า 3 ประสานที่อยู่กันอย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริ และเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือวันพ่อแห่งชาติ ฉันถือว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ไปเยี่ยมเยือนและศึกษาถึงแนวพระราชดำริของพ่อหลวงอีกด้วย

สำหรับชุมชนแบบ "บวร" ที่มาจากแนวพระราชดำรินั้น เริ่มมาจากที่แต่ก่อนนี้ชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม 9 นี้ ต้องประสบกับปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งน้ำในคลองนั้นเป็นน้ำที่ไหลมาจากคลองรังสิต ผ่านสะพานใหม่ดอนเมือง บางซื่อ สามเสน และมารวมที่คลองลาดพร้าวก่อนที่จะไหลลงคลองแสนแสบต่อไป


บรรยากาศความคึกคักของเด็กๆในโรงเรียนพระราม 9 กาญจนาภิเษก

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ทำการทดสอบการบำบัดน้ำเน่าเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวส่วนหนึ่งให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยวิธีการเติมอากาศลงไปในน้ำ แล้วปล่อยให้น้ำตกตะกอน และปรับสภาพน้ำก่อนระบายลงสู่คลองตามเดิม จากแนวพระราชดำรินี้เองทำให้ชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม 9 มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หลังจากการพัฒนา "บ้าน" ต่อมาพระองค์ท่านได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายโครงการในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริเวณข้างเคียง โดยให้ทำการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 และดำเนินการจัดตั้ง "วัด" เพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ นั่นก็คือ "วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก"


เด็กๆกำลังเดินแถวไปเรียนกับพระอาจารย์ภายในวัด

ชื่อวัดแห่งนี้เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ วัดนี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัดอื่นหลายประการ ที่ฉันสังเกตเห็นได้ชัดก็คือวัดนี้มีขนาดเล็กมาก เพราะถูกออกแบบมาให้เป็นวัดขนาดเล็กในชุมชนเมืองที่ใช้งบประมาณที่ประหยัด แต่คำนึงถึงความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ภายในวัดมีเพียงพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระจำนวน 5 หลัง โรงครัว สระน้ำ กังหันน้ำชัยพัฒนา บ่อบำบัด และห้องสมุดเท่านั้น และที่เป็นเอกลักษณ์คืออาคารทุกหลังจะใช้สีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม


"พระพุทธกาญจนธรรมสถิต" พระประธานในพระอุโบสถวัดพระราม 9

ขณะที่ฉันจะเดินไปยังพระอุโบสถ ก็ได้เห็นสระน้ำซึ่งเป็นน้ำเสียที่ถูกดูดขึ้นมาจากคลองลาดพร้าว และได้รับการบำบัดด้วย "กังหันชัยพัฒนา" เครื่องบำบัดน้ำเสียที่เรียบง่ายและประหยัด สร้างขึ้นจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อการอนุรักษ์น้ำ โดยดูดน้ำขึ้นมาพักไว้ที่แนวต้นพุทธรักษาที่มีอยู่โดยรอบสระ เพื่อให้รากไม้ที่เป็นรากฝอยกรองน้ำให้ตกตะกอนก่อนที่จะนำไปพักไว้ในบ่อบำบัดแล้วไปปล่อยลงสระเก็บน้ำ เติมอากาศโดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนานั้นเอง นี่ก็เป็นหนึ่งในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อชุมชนตามแนวพระราชดำริของในหลวง

ฉันเดินผ่านสระน้ำมายังพระอุโบสถเพื่อไปไหว้พระ พระประธานด้านในเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบ และได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งได้พระราชทานนามว่า "พระพุทธกาญจนธรรมสถิต"

ภายในพระอุโบสถ ฉันได้พบกับพระศรีญาณโสภณ พระสงฆ์ในวัดพระราม 9 ซึ่งเล่าถึงความเป็นมาของวัดให้ฉันฟังว่า การสร้างวัดที่มีขนาดเล็กเช่นนี้เพื่อเป็นแบบอย่างของการสร้างพุทธาวาสขนาดเล็กที่ยึดถือความสงบ สมถะ เรียบง่ายในชุมชนเมือง เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชนเมืองให้มีความผูกพันกับพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรได้เข้ามาประกอบกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน พร้อมทั้งเป็นการสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนา และยังเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย


ชุมชนที่ยึดแนว 3 ประสานในย่านพระราม 9

ท่านยังบอกอีกว่า ทั้งในอดีตและปัจจุบันเกือบทุกหมู่บ้าน หรือ "บ้าน" ในประเทศไทย ต้องมีที่ทำบุญประกอบกิจกรรมทางศาสนาจึงได้เกิด "วัด" และเด็กๆในหมู่บ้านต้องมีความรู้มีการศึกษาจึงได้เกิด "โรงเรียน" ในหลวงทรงเห็นว่าถ้ากรุงเทพฯขาด 3 ประสานนี้ไป วัดก็จะถูกโดดเดี่ยว พ่อแม่ก็จะถูกโดดเดี่ยว โรงเรียนก็จะถูกโดดเดี่ยวเช่นกัน เพราะต่างคนต่างอยู่ไม่มาเกี่ยวข้องกัน วัดพระราม 9 จึงใช้วัดที่สร้างขึ้นมาโดยใช้รูปแบบใหม่ๆ แต่หากเป็นการดึงเอารูปแบบการใช้ชีวิตจากอดีตมาใช้ โดยอาศัยหลักพึ่งพากันระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน หรือที่เรียกว่า "บวร"

ดังนั้นสถานที่ต่อไปที่จะต้องไปเยี่ยมเยือนก็ต้องเป็น "โรงเรียนพระราม 9 กาญจนาภิเษก" ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระราม 9 โดยมีรั้วกำแพงเชื่อมต่อกัน เด็กนักเรียนที่มาเรียนส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานจากชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 ระหว่างที่ฉันนั่งดูเด็กๆ เล่นกีฬากันอยู่ภายในสนามหญ้านั้น ก็เห็นพระอาจารย์เดินผ่านประตูเข้ามาในโรงเรียน พระอาจารย์บอกว่ากำลังจะไปสอนเด็กในวิชาจริยะ ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์อันหนึ่งระหว่างวัดและโรงเรียน ไม่นานฉันก็เห็นเด็กนักเรียนตัวเล็กน่ารักทั้งชายและหญิงเดินเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบตามพระอาจารย์มุ่งหน้าไปทางวัด ฉันจึงเข้าไปถามน้องๆ ว่าเรียนกับพระอาจารย์ไม่เบื่อหรือ เด็กๆ ส่ายหน้าแล้วบอกว่าชอบ สนุกดี ทำให้ฉันอดอมยิ้มไม่ได้ที่ได้มาเห็นภาพอันน่ารักเช่นนี้


บรรยากาศร่มรื่นในวัดพระราม 9

ฉันมองน้องๆ ที่เดินกันเป็นแถวจากไป พร้อมกับนึกถึงคำพูดของพระศรีญาณโสภณที่บอกถึงบทบาทหน้าที่ 3 ประสานนี้ว่า นอกจากวัดจะเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังเป็นเหมือนศูนย์รวมทางจิตใจของชุมชน โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกับทางโรงเรียนและชุมชนมาโดยตลอด เช่น ตอนเช้าพระจะออกบิณฑบาต เมื่อได้อาหารบิณฑบาตมาเยอะๆ ก็จะแบ่งส่วนไว้เป็นส่วนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนในโรงเรียนพระราม 9 ซึ่งก็เป็นเด็กลูกหลานของชาวชุมชนในละแวกใกล้เคียงกับวัดและโรงเรียน เป็นกิจกรรม "โครงการข้าวก้นบาตร" ที่ทางวัดและทางโรงเรียนร่วมมือกันเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยที่มีมาแต่อดีต และยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาอีกประการด้วย

และทั้งหมดนี้ก็ทำให้ฉันนึกถึงบ้านเกิดที่บ้านนอก ที่ทั้งหมู่บ้าน วัด และโรงเรียน ได้ประสานความร่วมมือร่วมใจกัน พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันมาโดยตลอด เพียงแต่ที่นี่คือกรุงเทพฯ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีชุมชนเล็กๆ แต่มีความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่อาจจะไม่ได้เห็นบ่อยนักในสมัยนี้

* * * * * * * * * * * * *

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ที่ 999 ซ.พระราม 9 กาญจนาภิเษก 19 ถ.พระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร.0-2318-5925-7 กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา มีทั้งการการเผยแพร่คำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา การวิปัสสนาธุระ จิตตภาวนา การประกอบพิธีบูชาในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ กิจกรรมพุทธบูชาและเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมพุทธและประเพณีไทย กิจกรรมปลูกรากแก้วของแผ่นดิน ปลูกมโนธรรมสำนึกแทนคุณ


ไปข้างบน