หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

50 ปีทรงพระผนวช

คนชาติอื่นเมื่อได้พึ่งพระบารมีในสยามประเทศนี้ มักใช้คำเรียกขานว่า “พึ่งพระบรมโพธิสมภาร” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา

คำว่า สมภาร มาจากคำว่า สํ ร่วมกับคำว่า ภาร แปลว่า สิ่งที่หนัก สิ่งที่ต้องแบกรับไว้ร่วมกัน พระบรมโพธิสมภาร จึงแปลว่า “พระผู้มีภาระหน้าที่อย่างใหญ่หลวง สม่ำเสมอเพื่อตรัสรู้”

นับแต่โบราณกาล ถือว่าพระมหากษัตริย์คือพระโพธิสัตว์มาเกิดเพื่อบำเพ็ญพระบารมี “พระบรมโพธิสมภาร” จึงเป็นบุญบารมีหรือบุญญาธิการที่พระมหากษัตริย์จะทรงสร้างสมไว้

คติในทางพุทธ เป้าหมายของทุกชีวิตคือการหลุดพ้น พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำ จึงเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ “ภาระหน้าที่อย่างใหญ่หลวง สม่ำเสมอเพื่อตรัสรู้” และหลุดพ้นของทั้งพระองค์และผู้มาขอพึ่งพระบารมี




ถวายบังคมรอยบาทพระศาสดา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 4 ที่เสด็จออกผนวชขณะทรงครองราชย์อยู่ โดยทรงมีพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมากว่าโบราณกาล จึงเป็นการสมควรที่พระองค์จะได้เสด็จออกผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามราชประเพณี ทั้งเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกส่วนหนึ่ง

กอปรกับเมื่อปี พ.ศ.2499 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่ทรงนับถือ และทรงถือว่ามีพระคุณูปการต่อพระองค์มากนั้นได้ทรงประชวร พระอาการเป็นที่น่าวิตกนัก จนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีความหวัง แต่เดชะบุญ สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงหายประชวรอย่างน่าประหลาด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระราชดำริว่า หากได้ทรงผนวช โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระอุปัชาย์แล้วก็จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ในอันที่จะได้ทรงแสดงพระราชคารวะและพระราชศรัทธาในองค์สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ให้เป็นที่ปรากฏ จึงได้ทรงตกลงพระราชหฤทัยที่จะเสด็จออกผนวชเพื่อถวายเป็นพระกุศลสนองพระเดชพระคุณแด่องค์สมเด็จพระสังฆราชให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงต่อไป

ภาระใหญ่ที่สุดของการเตรียมการได้แก่ปัญหาสถานที่ในวัดบวรนิเวศวิหาร ปรากฏตามหนังสือพระราชพิธีและพระราชกรณียกิจในการทรงพระผนวช โดยคณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า วัดบวรฯ ขณะนั้นต้องมีการตกแต่งซ่อมแซมเป็นอันมาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซ่อมแซมบริเวณซึ่งจะเป็นที่ประทับ คือตำหนักทรงพรต หอสหจร และตำหนักซ้าย สมเด็จพระราชชนนีมีพระราชศรัทธาซ่อมพระตำหนักเพ็ชรและพระตำหนักจันทร์ หน้าที่ฝ่ายรัฐบาลคือซ่อมพระปั้นหยา ตลอดจนพระอุโบสถและบริเวณของพระอุโบสถทั้งการไฟฟ้าและสุขาภิบาลทั่วพระอาราม มหามกุฏราชวิทยาลัย และวัดบวรนิเวศวิหารก็ได้ซ่อมบริเวณสังฆาวาสและอีกมาก ทั้งนี้ได้เร่งทำเป็นการด่วนที่สุดเพื่อให้เสร็จลงทันเวลาพระราชพิธีทรงผนวช

ลุถึงวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2499 พระราชพิธีทรงพระผนวชของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าอันจัดเป็นพระราชพิธีมหามงคลอันยิ่งใหญ่ก็มาถึง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินสู่ที่เปลื้องเครื่องหลังพระอุโบสถเสร็จแล้ว ในเวลา 14.00 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจรดพระกรรบิดถวายเจริญพระเกศา (ใช้กรรไกรขริบเส้นผมเป็นปฐมฤกษ์) แล้วพระราชพิธีทรงผนวชที่จดจารในประวัติศาสตร์และจดจำอยู่ในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยทุกคนก็ได้เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนั้น


9 สิ่งมงคลวัดบวรฯ

วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดนิทรรศการ 50 ปี ทรงพระผนวชขึ้นระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงการเสด็จออกผนวชเมื่อ 50 ปีก่อน โดยในวาระอันเป็นมงคลได้จัดแสดงกิจกรรมทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมหลายรายการ ขณะเดียวกัน ก็ชวนเชิญพุทธศาสนิกชนได้มาสักการะสิ่งมงคล 9 อย่างของวัดดังนี้

1.พระพุทธชินสีห์ พระคู่บ้านคู่เมืองที่หล่อขึ้นคราวเดียวกับพระพุทธชินราชและพระศาสดา ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าพระสุวรรณเขต ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยผสมเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่อัญเชิญลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ

2.พระศาสดา พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินสีห์และพระพุทธชินราช เชื่อกันว่า การได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีอำนาจบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาจากสิ่งชั่วร้ายให้กับผู้ประพฤติธรรม


3.พระไสยา หรือพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระศิลาลงรักปิดทองศิลปะสุโขทัย สร้างขึ้นราว พ.ศ.1800-1893 เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพายหลวง เชื่อกันว่า การกราบไหว้พระไสยา จะทำให้เป็นผู้ใจสงบ มีสมาธิ คนรักใคร่

4.พระไพรีพินาศ พระพุทธรูปคู่บารมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะจากศิลาทราย พระเศียรมีกระพุ่มอยู่ตรงกลางและเปลวรัศมีไม่เหมือนพระทั่วไป ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เก๋งบนชั้น 2 ของพระเจดีย์ทอง ที่มาของชื่อว่ากันว่า มีชาวนาคนหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ ไถคราดเจอขณะทำนา จึงได้นำมามอบให้ผู้ใหญ่บ้าน และมอบต่อๆ กันขึ้นมาเป็นลำดับ จนในที่สุดได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรฯ อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้คิดร้ายต่อพระองค์ และเมื่อพระองค์ทรงบูชาพระพุทธรูปศิลานี้ ปรากฏว่าบรรดาอริราชศัตรูของพระองค์ต่างก็พ่ายแพ้แก่ภัยตนเองไปสิ้น ทรงถือเป็นนิมิตและถวายพระนามว่า พระไพรีพินาศ เชื่อกันว่าพระไพรีพินาศเลื่องชื่อในพุทธคุณ อวยชัยให้ขจัดอุปสรรคศัตรูร้ายภัยพาลทั้งปวง

5.พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธรูปโลหะที่ได้ชื่อตามพระบรมฉายานามรัชกาลที่ 4 และฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระยืนทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารเก๋ง เชื่อว่าผู้สักการะจะมีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมดั่งเพชรสมดังพระนาม

6.พระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร สูงตลอดพระรัศมีประมาณ 6 ศอก ประดิษฐานภายในห้องมุขด้านตะวันตก


7.พระพุทธบาทจำลอง เป็นรอยพระพุทธบาทคู่กลางแผ่นศิลาขนาดใหญ่ เป็นของเก่าแก่โบราณที่อายุราว 1 พันปี ประดิษฐานอยู่ในห้องกระจกด้านข้างพระอุโบสถ นับว่าต่างจากรอยพระบาททั่วไปที่จะมีเพียงรอยพระบาทเดี่ยว สักการะแล้วจะพ้นจากภัยพาลเคราะห์ร้าย

8.พระกริ่งปวเรศ หล่อขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในปี 2487 ใครได้กราบไหว้จะแคล้วคลาดอุบัติภัยทั้งปวง

9.พระโพธิฆระ (ลานโพธิ์) หน่อเนื้อเชื้อพันธุ์เดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่ตรัสรู้แห่งสมเด็จพระบรมศาสดา สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นอธิบดีสงฆ์เชิญหน่อพระศรีมหาโพธิมาปลูก เชื่อว่าร่มโพธิ์ของพระศรีมหาโพธิเป็นดั่งพระพุทธคุณ แผ่ปกคุ้มเกศให้ร่มเย็นเป็นสุข

นิทรรศการยิ่งใหญ่ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับการเปิดพิพิธภัณฑ์ของเก่า ซึ่งมีของเก่าหาชมได้ยาก อาทิ ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชและอดีตเจ้าอาวาส ครบรอบ 50 ปีทรงผนวชอย่าลืมไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 ในวาระแห่งปีมหามงคลนี้ จะเป็นมงคลยิ่ง


ไปข้างบน