หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ตอนที่ 2 ค้นหาแผ่นดินเกิดพระพุทธเจ้า

หน้าที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

หลายคนอาจสงสัยว่า สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าอยู่บริเวณส่วนไหนของโลก

ลุมพินีวันกับริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ห่างกันแค่ไหน

พระพุทธเจ้าเสด็จไปเผยแผ่ธรรมะของพระองค์อย่างไร

และสถานที่ปรินิพพานอยู่ตรงส่วนไหนของอินเดีย



ย้อนหลังไป 2,500 ปี บริเวณที่เรียกว่าชมพูทวีป ประกอบด้วยแว่นแคว้นอิสระต่างๆ เรียกกันว่า มหาชนบท จำนวน 16 แคว้น ในจำนวนนี้มีแคว้นที่สำคัญและเรืองอำนาจอยู่ 5 แคว้น นั่นคือ มคธ โกศล วังสะ วัชชี และอวันตี

ประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธเริ่มต้นขึ้นบนดินแดนแห่งหนึ่ง ณ บริเวณที่ราบเชิงเขาหิมาลัย ที่อยู่ในประเทศเนปาลปัจจุบัน ในครั้งกระนั้นที่นั่นคืออาณาจักรเล็ก ๆ นามว่ากบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ

ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองกบิลพัสดุ์ ประมาณ 35 กิโลเมตร เจ้าชายสิทธัตถะถือพระประสูติกาลขึ้นกลางสวนป่าลุมพินีวัน ขณะที่พระนางสิริมหามายา พระมารดาของพระองค์กำลังเสด็จกลับไปยังบ้านเกิด คือเมืองเทวทหะที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก

หลังจากใช้ชีวิตในฐานะองค์รัชทายาทได้ 29 ปี เจ้าชายสิทธัตถะได้ไปเห็นความจริงของชีวิตอันเป็นทุกข์ในหมู่ประชาชน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชีวิตอันหรูหราเปี่ยมสุขในพระราชวัง ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินพระทัยละทิ้งชีวิตอันแสนสุขทางโลก เสด็จออกจากพระราชวังในค่ำคืนหนึ่ง เพื่อเข้าสู่โลกของนักบวช

เจ้าชายสิทธัตถะออกศึกษาแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้นจากชีวิตอันเป็นทุกข์เรื่อยมากว่า 6 ปี จนบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในแคว้นมคธ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์กว่า 200 กิโลเมตร เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา

หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ คือการค้นพบกฎความจริงของธรรมชาติ พระองค์ทรงประกาศหลักธรรมครั้งแรกให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

พระพุทธเจ้าเสด็จออกเผยแผ่สิ่งที่ทรงค้นพบให้กับประชาชนในแว่นแคว้นต่าง ๆ บริเวณนั้น เป็นเวลานานถึง 45 ปี โดยจำพรรษาอยู่ที่แคว้นโกศลมากที่สุดถึง 19 ปี จนกระทั่งมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พระองค์เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา การเผยแผ่คำสอนและประกาศหลักธรรมที่ดำเนินมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ได้ทำให้พระพุทธศาสนาฝังรากลึกลงในแผ่นดินชมพูทวีปอย่างแน่นหนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภายหลังการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ศาสนาพุทธเริ่มลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง กษัตริย์แคว้นต่างๆ หลายพระองค์ทรงหันมานับถือศาสนาพุทธ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทั่วอาณาจักรของตน

แผนที่แคว้นมคธในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ

กาลต่อมาแคว้นมคธเริ่มเรืองอำนาจมากขึ้น รวบรวมแคว้นเล็กแคว้นน้อยเข้ามาอยู่ใต้อำนาจ จนกลายเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้น แผ่ขยายอาณาเขตออกไปใหญ่โตกว้างขวาง จนกล่าวกันว่า แคว้นมคธในยุคนั้นมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าประเทศอินเดียยุคปัจจุบันเสียอีก กษัตริย์หลายราชวงศ์ที่ปกครองแคว้นมคธมีส่วนสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ

พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์อย่างยิ่งใหญ่ ทรงสร้างวัดวาอารามและพุทธสถานจำนวนมากมายไปทั่วแว่นแคว้นหลายหมื่นแห่ง พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้ที่ทำให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด แผ่ขยายออกไปนอกแผ่นดินชมพูทวีปจนทั่วแผ่นดินทวีปเอเชีย

ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองสลับกับการเสื่อมถอย เป็นยุค ๆ ต่อเนื่องกันยาวนานถึง 1,700 ปีก่อนจะสูญสลายไปจากดินแดนที่เป็นจุดกำเนิดอย่างสิ้นเชิง ในขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในประเทศต่าง ๆ นอกชมพูทวีปอย่างมั่นคงเสียแล้ว

สิทธัตถนคร เมืองชายแดนระหว่างเนปาล - อินเดีย

ฉันข้ามพรมแดนอินเดีย-เนปาลมาที่เมืองชายแดนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสิทธัตถนครเมื่อไม่นานมานี้เอง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงบ้านเกิดของพระพุทธเจ้าที่อยู่ห่างจากที่นี่ออกไปไม่ไกลนัก โดยมีราญจิต ชาวเนปาลเป็นคนนำทาง เขาจะพาฉันไปค้นหาโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติตลอดสองสามวันนี้ และจุดหมายแรกของฉันก็คือ ลุมพินีวัน

ตามพุทธประวัตินั้น ลุมพินีวันเป็นสวนหลวงที่สร้างขึ้นสำหรับชาวกบิลพัสดุ์และชาวเทวทหะเพื่อเป็นที่แวะพักผ่อนกลางทาง เพราะระยะทางระหว่างสองเมืองนั้นไกลเกินกว่าที่จะเดินทางถึงกันภายในวันเดียวได้

ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าในวันนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวพุทธนานาชาติ ให้เป็นจุดศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ที่นี่ฉันได้พบหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดยพสันตา พิทารี นักโบราณคดีชาวเนปาล เขาได้ค้นคว้าเรื่องราวของศาสนาพุทธที่ลุมพินีวันในแง่มุมทางโบราณคดีไว้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว และก็เป็นโชคดีของฉันที่ได้มาพบเขาที่นี่โดยไม่คาดฝัน จากการแนะนำของราญจิต

คุณพสันตาพาฉันไปที่วิหารมายาเทวีที่อยู่กลางสวนลุมพินีวัน เพื่อไปดูบริเวณที่พระพุทธเจ้าประสูติ นอกจากภาพแกะสลักหินทรายรูปพระประสูติกาลที่โด่งดัง ฉันเองก็เพิ่งได้เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่เพิ่งขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2535 นี้เอง เป็นแผ่นศิลาประทับเครื่องหมายคล้ายรอยพระบาท

สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า



แผ่นศิลาประทับเครื่องหมายคล้ายรอยพระบาท (Stone mark)

พลันตา พิทารี ให้ความเห็นว่า “นี่ไม่ใช่รอยพระบาทของ พระพุทธเจ้า จริง ๆ นะครับ มีการพิสูจน์ทางโบราณคดี พบว่าน่าจะเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างไว้เมื่อ 200 ปีหลัง พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน”

หน้าที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"


ไปข้างบน